เปิดวิจัย "เด็กไทยหูหนวกเข้าไม่ถึงสิทธิรักษา"
การได้ยินเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เกิดการพัฒนาทางภาษาพูดและการสื่อสาร ดร.พญ.ปฤษฐพร กิ่งแก้ว นักวิจัยจากโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ระบุ ความพิการทางการได้ยินพบเป็นลำดับสอง รองความพิการทางการเคลื่อนไหว
การได้ยินเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาทางภาษาพูดและการสื่อสาร แต่จากข้อมูลที่ ดร.พญ.ปฤษฐพร กิ่งแก้ว นักวิจัยจากโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ได้ทำการศึกษา และระบุว่า ความพิการทางการได้ยินพบเป็นลำดับสอง รองจากความ พิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย ซึ่งมีประมาณ 372,189 คน ในประเทศไทย ขณะที่องค์การอนามัยโลกระบุว่าทั่วโลกมีผู้สูญเสียการได้ยิน กว่า 360 ล้าน โดยเกือบ 32 ล้านคนเป็นเด็ก ซึ่งอย่างน้อย 31 ล้านคนอยู่ในประเทศรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ
“1 ใน 5 เป็นมาตั้งแต่กำเนิด เช่น เกิดความผิดปกติของหูชั้นใน ความพิการในภายหลัง เช่น เกิดความเสื่อมถอยของอวัยวะ เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย ได้รับอุบัติเหตุ ดังนั้นการตรวจคัดกรองการได้ยินตั้งแต่เนิ่น ๆ จึงมีความสำคัญ เพื่อนำไปจัดหาเครื่องช่วยฟังและการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการได้ยินและฝึกการใช้ภาษา”
ทั้งนี้ การศึกษาวิจัยพบว่า ปัจจุบันไทยยังไม่มีนโยบายการคัดกรองภาวะความพิการทางการได้ยินที่ครอบคลุมในทารกแรกเกิดทุกคน ยกเว้นกลุ่มเสี่ยง ไม่มีระบบส่งต่อการวินิจฉัยภาวะความพิการทางการได้ยินที่เป็นระบบ การผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมยังไม่ครอบคลุม มีเพียงสวัสดิการข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจเท่านั้นที่สามารถเบิกค่าผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมได้คนละ 1 ชุด ราคาไม่เกิน 850,000 บาท ตามข้อบ่งชี้