ทัวริซึม...ฟอร์ ออล เพื่อผู้พิการแต่ไร้ไกด์

ทัวริซึม...ฟอร์ ออล เพื่อผู้พิการแต่ไร้ไกด์

9 พ.ย.62 หรือวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนพฤศจิกายน ทุกปี สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ประกาศให้เป็น “วันคนพิการแห่งชาติ”

โดยใช้ดอกแก้วกับดอกแก้วเจ้าจอม รวมเป็น “ดอกแก้วกัลยา” มอบให้เป็นสัญลักษณ์แก่ผู้พิการทุกคน

พอถึงวันที่ 3 ธันวาคมทุกปีเช่นกัน องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้ทั่วโลกรู้ว่าคือ “วันคนพิการสากล” ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี 2535 เจตนาของทั้ง 2 องค์กรก็เพื่อหยิบยื่นเกียรติยศ ศักดิ์ศรี และความเท่าเทียมแด่มวลมนุษยชาติ โดยไม่มีช่องว่างใดๆเป็นเงื่อนไขขวางกั้น

ขณะที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เองก็ได้เกิดแนวคิดสร้างสรรค์โครงการ “ท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล” หรือ Tourism For All ชวนผู้พิการไทยและโลกมาทำเก๋ เท่ เที่ยวเมืองไทย

สอดรับกับการลดความเหลื่อมล้ำฐานันดรมนุษย์...ช่างดูดีและน่ารักอะไรปานนั้น?

จุดประสงค์องค์รวมโครงการที่ว่านี้ก็เพื่อให้คุณค่าความสำคัญแก่ผู้พิการทั้งโลกที่มีอยู่ร่วม 650 คน พากันปลุกชีวิตให้มีสีสันแทนความซึมเศร้า ไม่ว่าคนนั้นจะพิการโดยกำเนิด หรือจากโรคภัยภายหลัง

รวมถึงถูกพิษภัยจากสงคราม การก่อการร้าย เหตุจลาจลเพราะขัดแย้งทางความคิด เช่น ที่ปารีส คุกบราซิล มหากาพย์ฮ่องกง-จีน

จนทำให้ผู้พิการโลกเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งพิการอวัยวะแขนขา สมอง สติปัญญา ออทิสติก การมองเห็นและได้ยิน

ประเด็นสำคัญที่ควรรู้...หลายประเทศต้องใช้เงินพัฒนาคุณภาพชีวิตคนกลุ่มนี้มหาศาล ประเทศไทยมีผู้พิการ 1.9 ล้านคน ได้รับเงินค่ายังชีพคนละ 800 บาทต่อเดือน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ถือเป็นตัวเลขที่ไม่น้อย

โซนเอเชีย...ญี่ปุ่นล้ำหน้าสุดที่ใส่ใจดูแลพวกเขา ขณะไทยรณรงค์สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกรูปอารยสถาปัตย์ แบบ Friendly Design เติมความเข้มข้นด้านมิตรภาพขึ้นทั่วประเทศ

จึงติดอันดับสองรองญี่ปุ่นอย่างไม่เป็นทางการ นัยว่าแซงหน้าจีนกับเกาหลีขึ้นไปแล้ว

เหลียวมองกลับมาที่ภาคท่องเที่ยว...ผู้พิการโลกกำลังสนใจอยากมาเที่ยวไทย ด้วยเชื่อว่ามีปัจจัยพร้อมรับให้ช่วยเหลือตนเองได้ โดยไม่ต้องตกเป็นภาระสังคม ททท.จึงเปิดยุทธศาสตร์เหมือนยินดีต้อนรับ เริ่มจากแถลงข่าวเพื่อบอกว่า...เคยพิมพ์คู่มือเส้นทางท่องเที่ยวผู้พิการแล้ว 5 เส้นทาง

ต่อมาพิมพ์เพิ่มอีก 9 เส้นทาง...แต่เมื่อลงลึกในรายละเอียดปัญหามีว่าภารกิจนี้...จบแค่การเผยแพร่โดยไร้กิจกรรมต่อเนื่อง...เลยไม่รู้ว่า นี่คือการส่งเสริมท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลโหมดไหน

ขณะภาพ Friendly Design จากเพื่อนสู่เพื่อน ก็ฉายไม่ตรงเป้าต่อการพัฒนาอย่างที่ควรจะเป็น เช่น การเตรียมสร้างบุคลากรบริการ คือ “ไกด์” ที่ไร้ซึ่งผู้มีทักษะความรู้และประสบการณ์รองรับตลาดผู้พิการบนเวทีโลก

ฉายภาพชัดๆไปตรงที่...สำนักทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ฯ เผยสถิติมัคคุเทศก์ขณะนี้มีอยู่ 7.63 หมื่นคน สำหรับรับต่างชาติปีนี้ 40 ล้านคน ที่รวมผู้พิการและสูงวัยหลักล้านคนต่อปีไว้ด้วย

แต่...วันนี้เรามีบริษัททัวร์และไกด์ตัวหลักเพื่อผู้พิการ แค่หลักสิบไม่เกินหลักร้อยเท่านั้น

แถมไม่มีทีท่าว่าจะเพิ่ม เพราะไม่เห็นมีองค์กรใดเสนอตัวเป็นเจ้าภาพผลิตบุคลากรด้านนี้

มีรายงานการศึกษาเรื่อง “การจัดนำเที่ยวผู้พิการในมุมมองผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยว” ของสถาบันแห่งหนึ่ง สรุปย้ำปัญหาไว้ว่า ท่องเที่ยวไทยขาดไกด์มีประสบการณ์นำเที่ยวแก่ผู้พิการ ที่มีความรู้ เข้าใจ และอดทนสูง ทั้งที่มีค่าตอบแทนสูงกว่าไกด์รับคนปกติทั่วไป

นิธิ สืบพงษ์แสง หรือพี่น้องเพื่อนฝูงในวงการเรียกว่า “นัตตี้” ผู้บริหารธุรกิจนำเที่ยวคนตาบอดต่างชาติอยู่กรุงเก่าอยุธยา บอกว่า พวกเขารับได้กับกรณีที่ถูกเรียก “คนตาบอด” เพราะยังไงๆอวัยวะส่วนอื่นก็สามารถใช้งานได้ดี

“เราไม่ปฏิเสธความยากและความละเอียดอ่อนกับคนกลุ่มนี้ เพราะอาศัยได้เรียนรู้ศิลปะการบริการจากองค์กรการกุศลสหราชอาณาจักรเพื่อคนตาบอดชื่อ SEABLE ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2555”

“SEABLE” แนะนำให้ไกด์วางตัวเสมือนเพื่อนกับลูกทัวร์ เช่น ต้องถามก่อนว่า จะให้ช่วยเหลือด้านใดบ้าง เนื่องจากพวกเขาส่วนใหญ่มีความต้องการความเป็นส่วนตัวมากกว่าอย่างอื่น

“ถ้าต้องการให้ช่วยนำทาง ก็ควรถามจะเลือกเกาะไหล่หรือแขน แต่ห้ามจูงมือเด็ดขาด”

ขณะเดินก็ให้เหยียดแขนตรง เพื่อการเดินจับตามหลังห่างครึ่งก้าว ถ้าผ่านคนหมู่มากให้เปลี่ยนท่าเดินเป็นเรียงหนึ่ง แล้วเหยียดแขนไปข้างหลังให้เกาะ และอย่าลืมแจ้งเตือนทุกครั้ง

“กรณีมีสุนัขนำทาง...ขอจงจำ ห้ามรบกวนมันระหว่างดูแลเจ้านายเด็ดขาด แต่หากได้รับอนุญาตก็พึงเข้าหาด้านหน้าเท่านั้น อย่าเข้าด้านหลังเพราะจะทำให้สุนัขตื่น”

ส่วนการนำเข้าโต๊ะอาหารให้เลี่ยงการจับตัวลงนั่ง แต่ควรใช้วิธีขยับเก้าอี้จนเหมาะก่อนเชิญนั่ง แล้วอธิบายชนิดอาหารกับตำแหน่งที่ตั้ง เพื่อความสะดวกในการกินอาหารมื้อนั้น

สัมฤทธิ์ ชาภิรมย์ ผจก.มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาผู้พิการ เมืองพัทยา สถาบันฝึกอาชีพผู้พิการไทย-อาเซียน 200 ชีวิต เสริมว่า เคยจัดอบรมมาก่อนและหลักสูตรก็ไม่ต่างจาก SEABLE

“แต่ขอให้สงวนคำพูดจุดบกพร่องของเขา ที่อาจเหยียดหยามความเป็นมนุษย์ ไม่ตะโกนเสียงดังเพราะประสาทรับฟังเขาดีอยู่แล้ว ไม่เข็นวีลแชร์โดยไม่แจ้งให้รู้ตัวจนนึกว่ารถลื่นไหล”

“การสื่อสารใดๆที่ควรรู้...ถ้าเป็นผู้ตาบอดภายหลังจะรับรู้อะไรได้ง่าย ด้วยเคยเห็นมาก่อน แต่ถ้าบอดโดยกำเนิดอาจลำบากในการสร้างจินตภาพและความเข้าใจ ไกด์จึงต้องใช้ความพยายามสูง...นี่คือคุณสมบัติสำคัญของไกด์บริการนำเที่ยวคนตาบอด”

สัมฤทธิ์ บอกด้วยว่า มูลนิธิฯกำลังร่างหลักสูตรจัดอบรมบุคลากรด้านนี้อีกครั้ง โดยรอกระทรวงศึกษาธิการรับรอง เพื่อให้โอกาส

ผู้ผ่านการอบรมนำไปประกอบอาชีพ ที่สำคัญกว่านั้น...คือรอว่า มีหน่วยงานรัฐรายใดประสงค์จะจัดงบประมาณสนับสนุนผู้เข้าอบรมเพื่อคนพิการ

โครงการสำคัญนี้...พวกเราคาดหวังกันว่าจะเหมือนกับการเปิดตัว “ชิม ช้อป ใช้” อย่างเอิกเกริกให้แก่คนร่างกายปกติ 13 ล้านคนทั่วประเทศ.

ขอบคุณ... https://www.thairath.co.th/news/local/1699648

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 9 พ.ย.62
วันที่โพสต์: 11/11/2562 เวลา 11:56:23 ดูภาพสไลด์โชว์ ทัวริซึม...ฟอร์ ออล เพื่อผู้พิการแต่ไร้ไกด์