ชู ธนาคารเวลา ดึงจิตอาสาดูแลคนพิการสะสมชั่วโมง ปีหน้าเล็งทำระบบออนไลน์
สสส.ชู ธนาคารเวลา อ.สารภี เชียงใหม่ ดึงคนทำงานจิตอาสามาดูแลคนพิการ สะสมชั่วโมง หากถึงเวลาเจ็บป่วยเอง ถอนเวลาหาคนมาดูแลได้ สนองวาระแห่งชาติ จ่อทำในแพลตฟอร์มออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันในปี 63
ธนาคารเวลา / เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศึกษาการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ศูนย์บริการคนพิการตำบลชมภู อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ว่า สสส.มีการสนับสนุนการดูแลคุณภาพชีวิตคนพิการ หลักๆ จะเป็นเรื่องสร้างความมีส่วนร่วมของชุมชน ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
ทั้งเรื่องการดูแลที่บ้าน การดูแลสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เรียกว่า Community Base Intervention เน้นพัฒนาศักยภาพแกนนพชุมชนที่มาช่วยกันทำความเข้าใจเรื่องความพิการ ทำอย่างไรให้คนพิการสามารถดูแลตัวเองให้ดีที่สุด พึ่งพิงตนเองได้ ทำอย่างไรให้คนรอบข้างเข้าใจตรงนี้ และไม่ว่าจะปรับสภาพแวดล้อม ทำให้คนพิการฟื้นฟูตัวเองให้ได้มากที่สุด
บางคนที่เคยเป็นอัมพาต แต่ขาดการฟื้นฟู ขาดคนเข้าไปช่วยขยับให้กำลังใจ จัดเครื่องมือในการฝึกการเดินการเคลื่อนไหว จากคนที่เคยนอนบนเตียงก็กลับขึ้นมาผ่าฟืนที่บ้านได้แล้ว เริ่มจากการมีข้อมูลชัดเจนว่าคนพิการมีเท่าไร พิการอะไรบ้าง ต้องการอะไรบ้างที่ทำให้เขาลุกขึ้นมาได้ พึ่งตัวเองได้มากที่สุด และชุมชนสนับสนุนได้อย่างไรบ้าง
ทพ.ศิริเกียรติ กล่าวว่า อย่างการดำเนินงานของ ต.ชมภู ก็มีการนำเรื่องของธนาคารเวลาเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งเป็นหลักการที่ชวนให้คนปกติเข้ามาทำงานจิตอาสา ช่วยดูแลคนพิการ ดูแลไปกี่ชั่วโมง เช่น ฝากไว้ 2 ชั่วโมง ไปดูแลผู้พิการบ้านนี้ ทางชุมชนก็จะจดเวลาไว้ พอถึงวันหนึ่งหากเกิดป่วยหรือเกิดอัมพาตขึ้นมา เพราะเรื่องเช่นนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน คนในชุมชนคนอื่นที่เป็นจิตอาสาเหมือนกันก็จะเข้ามาช่วยดูแลเขา ด้วยเวลาที่เขาเคยฝากไว้ตรงนี้ ถือเป็นธนาคารเวลาระดับชุมชน และในระยะยาว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ก็จัดูแลในเรื่องของภาพใหญ่ตรงนี้ด้วย
ทพ.ศิริเกียรติ กล่าวว่า สำหรับเรื่องพัฒนาอาชีพคนพิการ ตามกฎหมายกำหนดให้สถานประกอบการ บริษัทต่างๆ ต้องทำเรื่องการจ้างงานคนพิการ สสส.ก็ประสานกับมูลนิธินวัตกรรมเอาประโยชน์ของกฎหมายมาสนับสนุนให้คนพิการสามารถเป้นลูกจ้างได้ เช่น จ้างให้ทำงานในชุมชน ก็มีรายได้เพิ่มขึ้นมา
ส่วนที่ชุมชนทำเองก็มี เช่น คนพิการที่มีความสามารถทำสิ่งประดิษฐ์ ทำอาหารได้ ทำให้เกิดตลาดขายในชุมชนได้ เป็นตัวช่วยสร้างอาชีพ คนพิการจำนวนมากมักพิการทางการเคลื่อนไหวการออกไปทำงานนอกชุมชนจึงค่อนข้างลำบาก สสส.ก็สนับสนุนให้องค์กรเอกชนที่ทำสาธารณประโยชน์ เข้ามาฟื้นฟูสนับสนุนอุปกรณ์ พื้นที่ และเอาภูมิปัญญาหรือคนมีความรู้เรื่องสูตรอาหาร สิ่งประดิษฐ์ตามความถันดของคนพิการสามารถทำงานที่บ้านได้และเอามาขายในตลาด ทำให้มีอาชีพมีรายได้
ด้าน นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า จุดเด่นของพื้นที่สารภี คือ ธนาคารเวลา ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าเป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติเรื่องผู้สูงอายุตั้งแต่ ปี 2560 ซึ่งในภาพใหญ่ พม.เป็นเจ้าภาพ ในการดูแล แต่สสส.รับนโยบายมาปฏิบัติด้วย
ซึ่งสสส.มีพื้นที่นำร่อง 50 แห่ง โดยอ.สารภี เป็นพื้นที่เด่นแห่งหนึ่ง ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนเวลากันเอง เดิมเขาก็มีจิตอาสาในพื้นที่อยู่แล้ว คนที่ทำเรื่องธนาคารความดี วันหนึ่งอาจจะอยากถอนเวลามาใช้ กลไกเรื่องธนาคารเวลาจึงช่วยสร้างความเกือ้กูลในสังคมชุมชนที่นี่มากขึ้น การเข้าไปดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง จนวันหนึ่งเราเจ็บป่วยสูงอายุมากขึ้น ก็ถอนเวลาออกมาเพื่อใช้ประโยชน์ของเราเอง ก็ถือว่าเป็นจุดเด่นของที่นี่
นอกจากนี้ จะมีการขับเคลื่อนเพื่อให้คนเข้ามาเป็นสมาชิกจิตอาสาทำงานธนาคารเวลามากขึ้น เพื่อแลกตัวกิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดภายในชุมชน และถ้าพื้นที่อื่นสนใจในโมเดลนี้ก็หยิบจับไปใช้กับพื้นที่ตัวเอง โดยอาทำเป้นกิจกรรมอื่นๆ ที่เหมาะสมกับพื้นที่ได้ ซึ่งในต่างประเทศเป็นที่นิยมมากใน 15 ประเทศ ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือการทำในชุมชนที่เป้นสมาชิกผ่านแอปพลิเคชันหรืออื่นๆ สสส.พยายามจับมือกับ สวทช. เพื่อออกมาเป้นแอปพลิเคชันอีกตัวหนึ่งในปีหน้า
ขอบคุณ... https://www.khaosod.co.th/monitor-news/news_3059414