รพ.สมเด็จพระยุพราชฯเลย ภารกิจสร้างชีวิตใหม่ให้ผู้พิการ
มองคนพิการเป็นคนปกติ มอบโอกาสให้พวกเขาแล้วผู้พิการจะหมดไปถ้าสิ่งแวดล้อมไม่พิการ น่าชื่นชมโครงการฯดีๆ รพ.สมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย เมืองเลย นำร่องเปิดศูนย์บริการคนพิการ โอนสัมปทานเอกชนลงพื้นที่ตามมาตรา 33
การให้โอกาสคนถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะผู้พิการ ทั้งนี้พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 ให้คนพิการมีสิทธิเข้าถึง และใช้ประโยชน์จากสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะตลอดจนสวัสดิการ และความช่วยเหลืออื่น ๆ รวมถึงการฟื้นฟูพัฒนาศักยภาพทางด้านอาชีพ ตลอดจนการส่งเสริมประกอบอาชีพอิสระ และบริการสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงสิทธิ-สวัสดิการ ได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
จาก พ.ร.บ.ดังกล่าวเราจะเห็นผู้พิการได้มีโอกาสเข้าไปทำงานตามสถานที่ต่าง ๆ ไม่ว่าเอกชนหรือหน่วยงานของรัฐก็ตาม เช่นเดียวกับที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย จ.เลย ที่มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาท้องถิ่นเป็นสำคัญ ไม่จำเป็นที่ผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลต้องมาพบหมออย่างเดียว แต่สามารถให้พยาบาลเป็นผู้ตรวจคนไข้เองได้ทันที เป็นการสลายขั้นตอนการเข้าถึงการรักษา ที่ผ่านมาได้ให้ความสำคัญกับบุคคลากรในองค์เป็นสำคัญ ด้วยการเชิญบุตรหลานของพนักงานโรงพยาบาลเข้ามาเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น ทำกิจกรรมเล่นสนุก รวมทั้งออกแบบสถานที่โรงพยาบาลใหม่ให้มีห้องพักของพนักงานทุกแผนก เพราะถ้าหากบุคคลากรได้มีโอกาสพักผ่อนจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่าคนเหล่านี้คือผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในภาพรวม
ที่สำคัญได้จัดตั้งศูนย์บริการคนพิการทั่วไปในโรงพยาบาล เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ในระดับอำเภอ สนับสนุนการจ้างงานคนพิการตามมาตรา 33,34 และ 35 เป็น 1 ใน 32 โรงพยาบาลนำร่องของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงสาธารณสุข บริการผู้พิการ แบบ STOP SERVICE ทั้งลงทะเบียน ออกบัตร และรักษาพยาบาล
นายแพทย์ภักดี สืบนุการณ์ ผอ.รพ.สมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย บอกว่า ตามมาตรา 33 บริษัทเอกชนมีเจ้าหน้าที่ประมาณ 100 คน ต้องมีคนพิการทำงาน 1 คน ซึ่งพบว่าบริษัทห้างร้านต่าง ๆ ซึ่งเป็นบริษัทใหญ่อาจจะไม่สะดวกทำตามกฎหมายลักษณะเช่นนี้ได้ เขาก็จะมีโอนเงินตามมาตรา 34 ให้กองทุน แล้วให้กระทรวงพัฒนาสังคมไปจดจ้างกันเอง ซึ่งโครงการจ้างงานคนพิการของ รพ.ฯมีทางเลือกใหม่ของการจ้างงานคนพิการที่ทางห้างร้าน-บริษัทไม่ต้องส่งเงินเข้ากองทุน เป้าหมายสูงสุดต้องการเห็นศักยภาพคนพิการ ซึ่งถูกมองว่าเมื่อพิการแล้วจะเป็นภาระของสังคม
อรอุมา อุมารังสี นักกายภาพบำบัด หัวหน้าฝ่ายเวชกรรมฟื้นฟู ผู้ประสานโครงการจ้างงานคนพิการ รพ.สมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย บอกถึงโครงการฯว่า การจ้างงานคนพิการของระบบการจ้างงานคนพิการ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้คือพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการพุทธศักราช 2550 มาตรา 33 ให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ รวมถึงหน่วยงานของรัฐ รับคนพิการเข้าทำงานตามลักษณะของงานในอัตราส่วนพนักงาน 100 คนต่อคนพิการ 1 คน มาตราที่ 35 ในกรณีที่ไม่สามารถจ้างงาน นายจ้างหรือผู้ประกอบการสามารถให้สัมปทาน ในการจัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการงาน หรือให้การช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการแทนได้
“ทางรพ.จึงคิดโครงการนำร่องในการจ้างงานคนพิการมาทำงานในโรงพยาบาล โดยการร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ในการหาข้อตกลง โดยมีแนวร่วม 32 โรงพยาบาลต้นแบบติดต่อกันผ่านไลน์กลุ่ม มีผอ.และผู้ดูแลของแต่ละรพ. หนึ่งในรพ.ต้นแบบคือรพ.สมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย ได้มีการจัดตั้งศูนย์บริการคนพิการทั่วไป โดยจะรับข้อมูลคนพิการมาจากเทศบาลด่านซ้าย และเทศบาลศรีสองรัก ซึ่งทำหน้าที่ในการจดทะเบียน และดูแลคนพิการในพื้นที่ ศูนย์ฯมีหน้าที่ในการคัดกรองผู้พิการที่มีศักยภาพในการทำงาน แล้วนำข้อมูลคนพิการส่งให้กับมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม จากนั้นทางมูลนิธิฯจะติดต่อกับบริษัทเอกชน กำหนดข้อตกลง เช่น เวลาทำงาน หรือวันหยุด แล้วแต่บริษัทจะพิจารณา ต้องให้คนพิการทำสัญญายินยอมร่วมกันทำสัญญาให้เรียบร้อยแล้ว บริษัทเอกชนจะโอนเงินเดือนให้กับบัญชีผู้พิการโดยตรง โดยไม่ผ่านศูนย์บริการ”
นักกายภาพบำบัดฯ บอกอีกว่า ศูนย์บริการคนพิการ โดยทั่วไปจะมีการจัดหางานให้เหมาะสมกับคนพิการแต่ละราย เช่นส่งไปทำงานร่วมกับฝ่ายซักฟอก โรงครัว งานสวน แต่ละฝ่ายจะมีหัวหน้างานที่มีหน้าที่ดูแล และประเมินงานเป็นเอกสารการปฏิบัติงานต่าง ๆ ส่งให้กับผู้ประสานงานประจำโรงพยาบาล ผู้ประสานงานฯจะรวบรวมข้อมูลส่งให้กับมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ต้องทำเอกสารหลักฐานการปฏิบัติงานส่งทุกวันที่ 5 ของเดือน ตรวจสอบว่ามีการจ้างงานคนพิการจริงหรือไม่ นายจ้างดูแลดีหรือไม่ โรงพยาบาลต้องทำตามที่ได้กำหนดไว้ สรุปงานทุก 6 เดือน เพื่อดูว่างานมีความเหมาะสมกับคนพิการมากน้อยเพียงใด-ควรจ้างต่อหรือไม่ และส่งรายงานการประเมินทุกเดือนถึงมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ดูการทำงานจริงของคนพิการ เพื่อให้คนพิการได้รับความเป็นธรรม ลดโอกาสการแปลงข้อมูลที่อาจเกิดขึ้นได้ สำนักงานจัดหางานจังหวัดเป็นหน่วยงานภาครัฐมาร่วมตรวจสอบด้วย
จุดเด่นของโครงการฯ พัฒนาสุขภาพคนพิการ มีหลายมิติ สุขภาพจิตให้มีกำลังใจที่จะลุกขึ้นมาใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า สุขภาพทางปัญญาให้คนพิการได้สร้างทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับคุณค่าของตน สุขภาพทางสังคมที่คนพิการออกมาทำงานทำให้คนพิการได้มีโอกาสพบกับผู้อื่นมากขึ้น ช่วยงานโรงพยาบาล คุณค่าของคนพิการการ ร่วมมือกันจากหลายภาคส่วนพัฒนาสุขภาพคนพิการเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อผู้อื่น นอกจากช่วยเหลือคนพิการแล้ว ยังช่วยเหลือครอบครัวของคนพิการ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทำให้ลดภาระของครอบครัวที่ต้องมาดูแลคนพิการ
“สำหรับผู้พิการที่ทำงานให้กับรพ.คือ โสภณ ทองคำ หรือไผ่ เป็นเจ้าหน้าที่ห้องสมุดของโรงพยาบาล ดูแลห้องทะเบียนศูนย์บริการคนพิการ โดย ผอ.รพ.เป็นผู้ออกเงินส่วนตัวจ้างงานเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ก่อนมีกฎหมายแรงงาน,ขจรจิต คำแก้ว อายุ 36 ปี คนสวนดูแลต้นไม้ ได้รับเงินเดือนจากบริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน),สุภาวดี ตรีชามุก อายุ 58 ปี เป็นโรครูมาตอยด์ที่ตะโพก ข้อเท้า ข้อมือต้องนั่งรถเข็นเดินไม่ได้ รักษาจนหายแต่มือแขนลีบ สามารถพับผ้าได้ ได้รับเงินเดือนจาก บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และนพ พันทุมสาร อายุ 62 ปี พิการแขนลีบ รับเข้าทำงานแผนกล้างจาน บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือพิซซ่าฮัท บัวลัน วังคีรี อายุ 58 ปี พิการแขนลีบ บริษัท ไทยอลูมิเนียม จำกัด รวม 4 คน ยกเว้นโสภณที่เป็นการจ้างของรพ.เอง ทั้งนี้กำลังติดต่อขอเพิ่มจากบริษัทต่าง ๆ ที่ไม่สามารถจ้างหรือมีข้อจำกัดเกี่ยวกับลักษณะงาน เป้าหมายคือต้องการช่วยเหลือผู้พิการให้มีงานทำ”
ผอ.รพ.บอกต่อท้ายด้วยว่า "ทางโครงการฯไม่ได้ทำแค่เฉพาะโรงพยาบาลเท่านั้นยังผลักดันให้คนพิการได้ทำงานที่ธนาคารออมสิน สาขาด่านซ้าย เสนอให้เทศบาลตำบลด่านซ้ายจ้างครอบครัวคนพิการเข้าทำงาน โดยไม่ได้ใช้มาตรา 34 และ 35 เราจ้างคนพิการเข้ามาทำงานในโรงพยาบาลเอง เช่น ไผ่เพื่อแบ่งเบาภาระค่าครองชีพ อีกอย่างหนึ่งห้ามมองคนพิการว่าเป็นคนพิการอันนี้สำคัญที่สุด ทุกวันนี้เรามองคนพิการว่าพิการ เราจึงให้เขาตลอด เราให้เขาทุกอย่าง สุดท้ายเขาก็ทำอะไรไม่ได้ต้องรอรับอย่างเดียว เราต้องมองว่าเขาปกติ สิ่งที่เราควรให้คือให้โอกาส คนพิการจะหมดไปถ้าสิ่งแวดล้อมไม่พิการ"
มองว่าโครงการฯของรพ.เป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ เป็นการช่วยเหลือ และเปิดกว้างให้กับคนพิการอย่างแท้จริง ให้งานที่พวกเขาพอจะทำได้เหมือนให้ชีวิตใหม่กับพวกเขา...สุดท้ายขอให้ดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง และประสบผลสำเร็จตลอดไป...ชอบมากกับการสอนไม่ให้งอมืองอเท้าคอยเป็นผู้รับหรือความช่วยเหลือจากผู้อื่นอย่างเดียว นี่แหละมนุษย์ขอบคุณ... https://www.dailynews.co.th/article/745190