ชีวิตบนถนนของคนพิการขาที่ผันตัวมาเป็นคนขับรถรับส่งผู้โดยสาร

ชีวิตบนถนนของคนพิการขาที่ผันตัวมาเป็นคนขับรถรับส่งผู้โดยสาร

ท่ามกลางอุปสรรคในการเดินทาง ศักดิ์จุติ ปลั่งพงษ์พันธ์ คนพิการทางการเคลื่อนไหว ผู้ตั้งฉายาให้ตัวเองว่า "สองล้อเดินทาง" เนื่องจากต้องเดินทางด้วยวีลแชร์ ตัดสินใจซื้อรถยนต์ส่วนตัว เพื่อท่องเที่ยวทั่วประเทศ เพราะ "สะดวกกว่าขนส่งสาธารณะ" และใช้ในการหารายได้เสริมจากการรับส่งผู้โดยสารทางแอปพลิเคชัน

บีบีซีไทยโดยสารรถยนต์ของศักดิ์จุติ เขาจับพวงมาลัยด้วยมือข้างเดียวอย่างสบาย ๆ หมุนบังคับทิศทางของรถมุ่งตรงไปยังบ้านริมแม่น้ำแห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐม ส่วนมือซ้ายประคองอุปกรณ์เสริมลักษณะคล้ายแฮนด์จักรยานที่มีขาสองข้างยึดกับคันเร่งและเบรกไว้

เขาเคยเห็นคนพิการในต่างประเทศใช้อุปกรณ์ชิ้นนี้ จึงได้นำมาปรับและสั่งช่างทำให้เหมาะกับตัวเอง เมื่อเขาดึงแฮนด์ขึ้น แท่งเหล็กที่ยึดกับคันเร่งก็จะกดลง เหมือนใช้เท้าเหยียบคันเร่ง แต่หากเขากดแฮนด์ลง เหล็กอีกแท่งก็จะกดลงเหมือนการเหยียบเบรก

รถยนต์สีขาวคู่ใจของเขาเคลื่อนที่ไปบนถนนไม่เร็วหรือช้าเกินไปนัก การเลี้ยวรถและเบรกก็เป็นไปอย่างนุ่มนวล จนไม่สามารถบอกได้เลยว่าเขาเป็นคนพิการที่สูญเสียความรู้สึกตั้งแต่ช่วงใต้หน้าอกลงไปยังขาทั้งสองข้างจากอุบัติเหตุ

ศักดิ์จุติเล่าว่าผู้โดยสารหลายคนที่ใช้บริการมักจะแสดงความประหลาดใจ ตามด้วยคำชื่นชม บางคนก็ถามข้อสงสัยเกี่ยวกับคนพิการ บางคนก็ขอถ่ายรูปอุปกรณ์ที่เขาสั่งทำขึ้นมาเองด้วยความสนใจ

"เมื่อเขารู้ว่าเราเป็น handicapped (คนพิการ)...เขายิ่งรู้สึกภูมิใจ เหมือนเราสู้ชีวิตดี...มันเหมือนเป็นแรงบันดาลใจให้เขาได้สู้ด้วย เหมือนเราทำในสิ่งที่เป็นตัวของตัวเอง และเขาก็เห็นในสิ่งที่เราเป็น เขาก็รู้สึกเหมือนมีกำลังใจให้เขาด้วย" ศักดิ์จุติกล่าวกับบีบีซีไทย

ชีวิตบนถนนของคนพิการขาที่ผันตัวมาเป็นคนขับรถรับส่งผู้โดยสาร

บทสนทนาระหว่างทางสร้างทัศนคติใหม่

ปัจจุบันอาชีพหลักของศักดิ์จุติคือการขายสินค้าออนไลน์ ส่วนการขับรถรับส่งนี้เขาบอกว่าเป็นเพียง "อาชีพเสริม" เท่านั้น โดยหนึ่งในวัตถุประสงค์หลักที่เขาตัดสินใจมาขับรถรับส่งคือการได้พบเจอผู้คน

"รู้สึกว่ามันก็ยังดีกว่าที่เราไม่ได้เจอใครเลย หรือบางทีถ้าเกิดผมไม่ได้มาขับรถ การพูดคุยนี้มันก็อาจจะเป็นเรื่องยากนิดหนึ่ง เราเป็น handicapped (คนพิการ) บางทีเราก็ไม่ค่อยมีใครเข้ามาคุย แต่พอขับรถ มันก็มีการได้พูดได้สนทนากัน เราก็รู้สึกว่า มันไปได้ทุกเรื่อง มันไม่มีขอบเขต" ชายวัย 33 ปีผู้ชื่นชอบการขับรถกล่าว

ศักดิ์จุติมองว่าการมาขับรถรับจ้างส่วนบุคคลเป็นโอกาสที่จะทำให้คนทั่วไปเข้าใจคนพิการได้มากขึ้น เขาเล่าว่าผู้โดยสารบางคนไม่รู้ว่าจะปฏิบัติตัวกับคนพิการอย่างไร และไม่เคยคิดมาก่อนว่าคนพิการสามารถทำอาชีพอื่น ๆ ได้อย่างที่เขากำลังทำ

"พยายามจะเปลี่ยนทัศนคติให้คนมองคนพิการใหม่ ไม่ใช่แค่จะจำกัดว่าคนพิการต้องป่วยแล้วต้องอยู่แต่บ้านนะ คุณทำอะไรไม่ได้นะ คุณบกพร่องทางร่างกาย" เขาอธิบาย

ชีวิตบนถนนของคนพิการขาที่ผันตัวมาเป็นคนขับรถรับส่งผู้โดยสาร

"สังคมไม่ปรับ คนพิการมากกว่าที่ปรับเข้าสังคม"

ศักดิ์จุติไม่ได้ซื้อรถยนต์มาเพื่อประกอบอาชีพเสริมในการขับรถรับส่งเพียงอย่างเดียว แต่วัตถุประสงค์หลักของการซื้อรถคือความสะดวกในการเดินทางสำหรับคนพิการทางการเคลื่อนไหว

เขาเล่าถึงประสบการณ์ก่อนมีรถยนต์ส่วนตัว เขามักจะเรียกใช้บริการแท็กซี่ แต่มักจะโดนปฏิเสธอยู่บ่อยครั้ง

"ส่วนใหญ่แล้วแท็กซี่จะปฏิเสธเพราะมีวีลแชร์ เขากลัววีลแชร์จะทำเบาะเขาขาด จนบางทีผมต้องคิดวิธีให้คนที่ผ่านไปผ่านมา รบกวนเขาช่วยเรียกแท็กซี่ให้หน่อย เขาถึงจะยอมรับเรา" ศักดิ์จุติเล่าถึงปัญหาที่เขาเคยเผชิญ

นอกจากนั้นเขากล่าวถึงปัญหาของการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะว่า ในบางครั้งเขาต้องเข็นวีลแชร์ข้ามถนนเพื่อไปขึ้นลิฟต์ไปยังสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส เนื่องจากมีลิฟต์อยู่ฝั่งเดียว

"ผมต้องเข็นตามข้างถนน ที่เบียด ๆ กับรถมอเตอร์ไซค์ บางทีเราก็กลัวเหมือนกันไม่ใช่ไม่กลัว แต่บางทีเราก็ต้องไปถึงจุดหมายให้ได้ นี่คืออุปสรรคอย่างหนึ่งเลย...พูดถึงอุปสรรคหลาย ๆ อย่างในการเดินทาง ก็ต้องวางแผนเลย ต้องคิดตั้งแต่ว่าเราจะไปไหน เป้าหมายตรงนี้ ต้องหาข้อมูลไว้เลยว่าเราจะไปลงตรงนี้ ลิฟต์มีไหม" เขาเล่าถึงความยากลำบากยามเดินทางของคนพิการในประเทศไทย

หลังจากที่เขาซื้อรถยนต์ส่วนตัวมาขับ ศักดิ์จุติรู้สึกว่าการเดินทางสะดวกสบายขึ้นกว่าเดิมมาก เขาสามารถไปยังที่ที่อยากไปได้ และมีที่จอดรถสำหรับคนพิการด้วย

"สังคมไม่ปรับ แต่ตัวคนพิการมากกว่าที่ปรับเข้าสังคม...คือเราต้องปรับชีวิตหลาย ๆ อย่าง ไม่ใช่แค่เรื่องทางเท้าหรือเรื่องบนท้องถนน อย่างบางทีเราไปดูหนัง มีบันได ไม่มีที่นั่งให้คนพิการ เราต้องยอมจ่ายเพิ่มขึ้นเป็นที่นั่งโซฟา ยอมจ่ายแพงขึ้นเพื่อเข้าไปดูหนัง นี่แหละครับถึงบอกว่าเราต้องปรับเข้าสังคม"

ชีวิตบนถนนของคนพิการขาที่ผันตัวมาเป็นคนขับรถรับส่งผู้โดยสาร

ร่างกายเปลี่ยนไปแต่นิสัยไม่เปลี่ยนแปลง

ศักดิ์จุติมีดีกรีเป็นนักกีฬาบาสเกตบอลของอำเภอ ชื่นชอบการปั่นจักรยานเสือภูเขา และรักการเดินทางท่องเที่ยวแบบบุกป่าฝ่าดง แต่เหตุการณ์ไม่คาดฝันได้พลิกชีวิตเขาไป

ศักดิ์จุติเล่าย้อนเหตุการณ์ให้บีบีซีไทยฟังว่า เมื่อราว 14 ปีก่อนตอนที่เขาอายุ 19 ปีและเป็นนักศึกษาวิทยาลัยช่างศิลป์ เขาขี่มอเตอร์ไซค์ออกไปหาเพื่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ เขาจำเหตุการณ์ได้ไม่ละเอียดนัก แต่ภาพที่เขาจำได้ไม่ลืมคือเมื่อลืมตาขึ้นมาที่โรงพยาบาล

"พอลืมตามาอีกที ก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอะไร เห็นสายระโยงระยางเต็มตัว" เขากล่าวและเล่าต่อว่าหลังจากนั้นแพทย์ก็แจ้งว่าร่างกายของเขาตั้งแต่ช่วงใต้ราวนมลงไปจนถึงขาทั้งสองข้างไม่สามารถใช้งานได้อีก แม้เขาจะบอกว่าเขาเป็นคนไม่เคยคิดยอมแพ้ แต่ก็ยอมรับว่า "เรายังรับสภาพตัวเองไม่ได้ในปีสองปีแรก"

ศักดิ์จุติมองว่าความเปลี่ยนแปลงไปของร่างกายทำให้มีอุปสรรคเพิ่มขึ้น แต่ไม่ใช่ปัญหาส่วนใหญ่ของการใช้ชีวิต เขาค่อย ๆ ปรับมุมมองความคิดใหม่ และพยายามหาทางทำสิ่งที่ชอบให้ได้ใกล้เคียงกับที่เคยทำมา

"หลังจากพิการ ผมก็ยังยึดในเรื่องคอนเซ็ปต์เดิม ยังชอบเที่ยว ยังชอบใช้ชีวิตอยู่อย่างสโลว์ไลฟ์ ได้อยู่กับตัวเอง แล้วก็ได้คิดอะไรหลาย ๆ อย่าง นั่นแหละครับคือสิ่งที่มันเริ่มชอบ แล้วก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลงในความคิดนี้เลย"

"สองล้อเดินทาง"

เมื่อร่างกายของเขาค่อย ๆ ดีขึ้น ศักดิ์จุติเลือกที่จะไม่กลับไปเรียนต่อทางด้านศิลปะ แต่ย้ายไปอยู่ จ.นครปฐม เพื่อช่วยงาน อ.พิชัย นิรันต์ ศิลปินแห่งชาติ ซึ่งเขาเรียกว่า "คุณลุง"

อ.พิชัยเป็นเจ้าของบ้านริมน้ำที่เขาขับพาบีบีซีไทยไปเยี่ยมชม ศักดิ์จุติบอกว่าที่นี่เป็นจุดเปลี่ยนชีวิต เพราะเขาตัดสินใจมาอยู่ด้วยตัวเองเพียงลำพังและฝึกใช้ชีวิตอย่างปกติ

เขาเริ่มผันตัวเป็นอาสาสมัคร โดยนำความรู้ทางด้านศิลปะของเขามาถ่ายทอดให้เด็ก ๆ รู้จักวาดเขียน เขายังได้เข้าร่วมทำงานกับศูนย์ดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ เพื่อสร้างให้คนพิการเข้มแข็ง และเรียนรู้การใช้ชีวิตโดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น

การขับรถยนต์ทำให้ศักดิ์จุติสามารถกลับมาใช้ชีวิตตามความชื่นชอบได้อีกครั้ง เขาเริ่มเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัด และทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่คนทั่วไปมองว่า "ไม่น่าทำได้" แต่ในบางครั้งการมีวีลแชร์ก็ทำให้เขาต้องเสียเงินเพิ่ม

"เราอยากไปลงเรือ อยากไปดำน้ำ แต่บางทีเขาจะบอกว่าโอ้ มีรถวีลแชร์มันดูยากนะ เราก็บอกว่า ยาก แต่ถ้าผมอยากจะลองมันได้ไหมครับ ทุกทีผมต้องยอมจ่ายค่าคนแบกหาม ต้องยอมจ่ายเพื่อที่จะได้ใช้ชีวิตอย่างที่เราเคยเป็น"

ชายผู้ตั้งฉายาให้ตัวเองว่า "สองล้อเดินทาง" กล่าวทิ้งท้ายว่า "อะไรที่คิดว่าคนพิการทำไม่ได้ ผมอยากจะลองทำให้คนดูว่าผมทำได้หมด...อยากให้เห็นว่าสังคมไทยก็มีคนพิการที่ยังเข้มแข็ง ยังมีคนที่ยังประกอบอาชีพ ยังใช้ชีวิตอยู่ทุก ๆ วัน..."

ขอบคุณ... https://www.bbc.com/thai/thailand-50628330 (ขนาดไฟล์: 326407)

ที่มา: bbc.com/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 3 ธ.ค.62
วันที่โพสต์: 3/12/2562 เวลา 10:39:12 ดูภาพสไลด์โชว์ ชีวิตบนถนนของคนพิการขาที่ผันตัวมาเป็นคนขับรถรับส่งผู้โดยสาร