สปสช. ร่วมพัฒนาศักยภาพสร้าง “นักสร้างเสริมสุขภาพคนพิการรุ่นใหม่” หวังขับเคลื่อนดูแลคนพิการบัตรทอง

สปสช. ร่วมพัฒนาศักยภาพสร้าง “นักสร้างเสริมสุขภาพคนพิการรุ่นใหม่” หวังขับเคลื่อนดูแลคนพิการบัตรทอง

สปสช. ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “กลไกและเครือข่ายการมีส่วนร่วมในระบบบัตรทอง” และ “สายด่วน 1330 Contact Center” ร่วมพัฒนาศักยภาพสร้าง “นักสร้างเสริมสุขภาพคนพิการรุ่นใหม่” หวังร่วมขับเคลื่อนเติมเต็มดูแลคนพิการในระบบบัตรทอง

เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2568 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วยรศ.ภญ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมให้การต้อนรับคณะศึกษาดูงาน “โครงการสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายและพัฒนาศักยภาพนักสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ” จำนวน 30 คน จัดโดยมูลนิธิการดำรงชีวิตอิสระคนพิการ นำโดย นายวันเสาร์ ไชยกุล กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ในฐานะเครือข่ายคนพิการรักสุขภาพ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการพัฒนาระบบศูนย์บริการคนพิการทั่วไปเพื่อการเข้าถึงสุขภาวะ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการประเทศไทย

สปสช. ร่วมพัฒนาศักยภาพสร้าง “นักสร้างเสริมสุขภาพคนพิการรุ่นใหม่” หวังขับเคลื่อนดูแลคนพิการบัตรทอง

ในวันนี้ผู้เข้ารับการอบรมได้การเรียนรู้เรื่องกลไกและเครือข่ายการมีส่วนร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อาทิ ศูนย์ประสานงาน ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง และการเชื่อมเครือข่ายระดับเขต เป็นต้น การดำเนินงานของ สายด่วน 1330 Contact Center รวมถึงการแลกเปลี่ยนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนระบบสุขภาพของเครือข่ายภาคประชาชน

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ภายใต้พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยรวมถึงคนพิการที่เป็นหนึ่งในกลุ่มเปราะบางให้เข้ามาร่วมขับเคลื่อน ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยสะท้อนความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์และร่วมดำเนินการ เพื่อดูแลให้คนพิการได้เข้าถึงสิทธิประโยชน์และบริการที่จำเป็นได้ ที่ผ่านมาด้วยความร่วมมือนี้ได้นำมาสู่การพัฒนาสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในระบบให้กับคนพิการ โดยล่าสุดเมื่อปีที่ผ่านมา บอร์ด สปสช. ก็ได้อนุมัติสิทธิประโยชน์บริการพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพในการรับบริการสาธารณสุข นำร่องในพื้นที่กรุงเทพฯ ในปีงบประมาณ 2568 นี้

ทั้งนี้ บริการพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพในการรับบริการสาธารณสุขเป็นตัวอย่างของการจัดบริการที่เกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีบริการนี้มาก่อนในระบบ ทั้งที่เป็นหนึ่งในอุปสรรคการเข้าถึงบริการของผู้ทุพพลภาพ ดังนั้นหากคนพิการที่เป็นผู้ที่ประสบภาวะต่างๆ ด้วยตนเองเข้ามาร่วมขับเคลื่อน ก็จะมีความเข้าใจ รู้ปัญหาและเคลื่อนไหวเพื่อให้ระบบสามารถตอบสนองต่อการดูแลคนพิการได้

“สปสช. มีความยินดีกับผู้ที่เข้ารับการอบรมโครงการฯ ทุกท่าน วันนี้ถือเป็นจุดตั้งต้นของการพัฒนาเพื่อสร้างความมเข้มแข็งเครือข่ายและพัฒนาศักยภาพนักสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ โดยสร้างแกนนำในการขับเคลื่อน ซึ่งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยังมีหลายบริการที่ต้องการความร่วมมือจากเครือข่ายคนพิการมาร่วมขยายบริการให้ครอบคลุมการดูแลคนพิการมากยิ่งขึ้น อาทิ หน่วยบริการฯ เพื่อให้บริการทักษะการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ (Independent Living: IL) และหน่วยบริการ O&M สำหรับคนตาบอด เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ฝากไว้ อย่างไรก็ดีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้เข้ารับการอบรมเพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนต่อไป” นพ.จเด็จ กล่าว

ด้าน นายวันเสาร์ กล่าวว่า จุดเริ่มของโครงการอบรมนี้ สืบเนื่องจาก สปสช. ได้มีการดำเนินการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ซึ่งสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย เครือข่ายคนพิการรักสุขภาพ และเครือข่ายองค์กรด้านคนพิการ ได้ร่วมกันจัดทำแผนยุทธศาสตร์พัฒนาระบบบริการสุขภาพคนพิการ ปี 2565–2569 โดย 1 ใน 5 ยุทธศาสตร์คือการพัฒนาศักยภาพคนพิการ ผู้ปกครอง และผู้ดูแลคนพิการให้ครบทุกมิติ ประกอบกับข้อสรุปที่ได้จากการจัดรับฟังความคิดเห็น 4 ภาค ต่อแผนยุทธศาสตร์ฯ ได้เห็นตรงกันว่า ยังขาดคนทำงานด้านสุขภาพคนพิการ จึงนำมาสู่การจัดอบรมในโครงการฯ นี้ เพื่อสร้าง “คนทำงานรุ่นใหม่” ในการเป็น “นักสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ” (นสค.) เพื่อสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระดับตนเอง และเป็นต้นแบบคนพิการที่มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ ที่นำไปสู่การเตรียมความพร้อมให้เกิดนักสร้างเสริมสุขภาพให้สามารถส่งเสริมและสร้างเสริมสุขภาพคนพิการได้

สำหรับโครงการฯ นี้มีระยะเวลาการอบรม 16 เดือน โดยวันนี้เป็นการศึกษาดูงานที่ สปสช. ที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการอบรมฯ ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมประกอบด้วยคนพิการที่เป็นเจ้าหน้าที่ หรือคนทำงานของศูนย์บริการคนพิการทั่วไป องค์กรคนพิการหรือหน่วยงานอื่น ๆ หรือคนพิการที่สนใจงานด้านสุขภาพ

“ผลที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการฯ คือนักสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ 30 คน ที่จะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพของผู้พิการ รวมถึงระบบหลักประกันสุขภาพในอนาคต” แกนนำเครือข่ายคนพิการรักสุขภาพ กล่าว

ขอบคุณ... https://hfocus.org/content/2025/01/32810

ที่มา: hfocus.org/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 16 ม.ค. 68
วันที่โพสต์: 16/01/2568 เวลา 13:48:07 ดูภาพสไลด์โชว์ สปสช. ร่วมพัฒนาศักยภาพสร้าง “นักสร้างเสริมสุขภาพคนพิการรุ่นใหม่” หวังขับเคลื่อนดูแลคนพิการบัตรทอง