อานุภาพ เงินกระแชง
...สงครามอัฟกานิสถานกับอดีตสหภาพ โซเวียตเมื่อช่วงปี 2522 คาดว่ามี “กับระเบิด” --Landmines ถูกฝังดินหรือทิ้งขว้างหลงเหลืออยู่ในอัฟกานิสถานมากราว 10 ล้านลูก
ผลพวงจาก “กับระเบิด” ถูกทิ้งขว้างเกลื่อนเมืองจนถึงยุคปัจจุบัน ก่อผลกระทบยุ่งยากมากมายหลายเรื่อง ตั้งแต่การแผ้วถางพื้นที่ทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ การสร้างเครือข่ายระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน การชลประทานและการคมนาคมขนส่ง นอกเหนือจากการบาดเจ็บล้มตายหรือพิกลพิการของผู้คนจากภัยกับระเบิด
ตลอดช่วง 40 ปีที่ผ่านมาหลังสิ้นสุดสงครามอัฟกานิสถานกับสหภาพโซเวียต อัตราเฉลี่ยชาวอัฟกานิสถานถูกกับระเบิดบาดเจ็บล้มตายหรือพิการเฉลี่ยเดือนละราว 150 ราย ผู้ได้รับผลกระทบบาดเจ็บล้มตายหรือพิการส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กๆมากถึงราว 8 ใน 10 คน
ตั้งแต่ปี 2531 ภายหลังจากหน่วยงาน กาชาดสากล (ICRC) เข้าไปตั้งศูนย์ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยจากกับระเบิดในอัฟกานิสถาน ชาวบ้านมาลงทะเบียนขอรับการช่วยเหลือแล้วมากกว่า 177,000 ราย รวมถึงผู้พิการ 46,194 ราย ผู้ขอรับการช่วยเหลือ 77 เปอร์เซ็นต์ได้รับผลกระทบโดยตรงจากกับระเบิด และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์เป็นพลเรือน
คาดกันว่า “กับระเบิด” มีหลงเหลือถูกทิ้งขว้างทั่วโลกในกว่า 64 ประเทศ มาก ราว 100 ล้านลูก กับระเบิดส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มชาติกำลังพัฒนา นอกเหนือจากอัฟกานิสถานแล้วยังมีมากในแองโกลา กัมพูชา บอสเนีย อิรัก และ สปป.ลาว
ชาติผู้ผลิตจำหน่ายกับระเบิดมากที่สุดของโลกคือ จีน รัสเซียและสหรัฐฯ ราคาขายกับระเบิดเฉลี่ยถูกมากแค่ชิ้นละ 3 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือร้อยกว่าบาท
แต่การกำจัดเก็บกวาดทุ่นระเบิดต้องใช้เงินมากกว่าซื้อราว 100 เท่า ค่าเฉลี่ยกำจัดเก็บกวาดทุ่นระเบิดตกลูกละราว 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 3 หมื่นบาท การใช้งานกับระเบิดก็ง่ายๆแค่ฝังลงใต้ผิวดินลึกราว 15 ซม. หรือไม่ก็วางไว้บนพื้นดิน รูปทรงกับระเบิดมีลักษณะแตกต่างกันไป รวมถึงวัสดุที่ใช้ผลิตกับระเบิดมีทั้งทำจากโลหะไม้หรือพลาสติก
และด้วย “สีสันสวยสด” กับ “รูปทรงแปลกตาน่าสนใจ” อาทิ รูปทรงผีเสื้อ จึงทำให้ “กับระเบิด” มักดึงดูดกลุ่มเด็กๆ ที่พบเห็นแทบไม่รีรอเข้าไปจับสัมผัสจนกลายเป็นเหยื่อระเบิด บาดเจ็บ เสียชีวิตหรือพิการ...