“ทหารผ่านศึก” เกียรติยศแห่งชายชาติทหารไทย
แต่ไหนแต่ไรมา สิ่งที่เราได้ยินได้ฟังอยู่เสมอเกี่ยวกับ “ทหาร” คือภาพลักษณ์ “รั้วของชาติ” ที่เป็นผู้เสียสละ ทำหน้าที่ปกป้องเอกราชของแผ่นดินไทย จนอาจเรียกได้ว่า “อาชีพทหาร” คืออาชีพที่ไม่ได้ขายความคิด ไม่ได้ขายการบริการ หรือขายความบันเทิง แต่อาชีพทหาร “ขายชีวิต” เพื่อความสงบสุขของประเทศ
แต่เมื่อต้องต่อสู้และบาดเจ็บในศึกสงคราม “รั้วของชาติ” ที่ปลดประจำการแล้วจะมีใครเข้ามาดูแล ความสูญเสียของเหล่าทหารและครอบครัวจะมีสิ่งใดมาทดแทน ด้วยเหตุนี้ “องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก” จึงถูกก่อตั้งขึ้น เพื่อดูแล “ทหารผ่านศึก” ที่ผ่านสมรภูมิรบและสละชีพปกป้องบ้านเมืองอย่างกล้าหาญ และเนื่องในโอกาส “วันทหารผ่านศึก” ซึ่งตรงกับวันที่ 3 กุมภาพันธ์ Sanook จึงขอเชิดชูเกียรติทหารไทยด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจและแง่มุมต่าง ๆ ของทหารผ่านศึกที่หลายคนอาจจะไม่เคยได้รู้
เกิดเป็นชาย ไว้ลายชาติทหาร
“สมัยเด็กจะมีหนังกลางแปลง หนังขายยามาฉาย เป็นหนังเกี่ยวกับทหาร ความที่เราเป็นเด็ก เราก็ไปดูหนัง พระเอกก็สมบัติบ้าง สรพงศ์บ้าง มันก็ฝังใจ มีความคิดอยากเป็นทหารจะได้ป้องกันประเทศชาติ มันดูเท่ด้วยแหละ เป็นความชอบส่วนตัว” อส.ทพ. สำเริง นวลพุดซา นายกสมาคมทหารผ่านศึกพิการแห่งประเทศไทย เล่าย้อนไปถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้เขามาสมัครเป็นทหาร
คุณสำเริงก็เหมือนกับเด็กหนุ่มวัยรุ่นทั่วไปที่อยากเป็นทหารเพราะความเท่ ทั้งยังได้ถือปืนปกป้องประเทศเหมือนในภาพยนตร์ที่เคยได้ดู ไม่ต่างจาก อส.ทพ.สมเกียรติ กัลปพฤกษ์ ทหารผ่านศึกที่เคยร่วมรบใน “สมรภูมิบ้านร่มเกล้า” ที่เล่าให้เราฟังว่า ตนเองมาเป็นทหารเพราะใจรัก บวกกับการเห็นรุ่นพี่ผู้ชายแต่งชุดทหารก็ยิ่งทำให้อยากเป็น เมื่อเรียนจบ ม.3 จึงตัดสินใจไม่เรียนต่อ และไปสมัครทหารเมื่อปี 2525
“พอเรียนจบ ม.6 เปิดสอบนายสิบอะไรต่าง ๆ ทหารเรือบ้าง อะไรบ้าง ก็ไปสอบหมดแต่สอบไม่ติด แล้วความอยากเป็นทหารยังมีอยู่ พอดีค่ายปักธงชัยเปิดรับสมัครทหารพราน ก็ไปสมัคร ไหน ๆ ก็เป็นทหารไปรบเหมือนกัน ผลปรากฏว่าไปทดสอบร่างกายอะไรต่าง ๆ ก็ได้ ฝึกอยู่ 45 วันแล้วก็ออกไปปฏิบัติหน้าที่เลย” คุณสำเริงบอกหลังจากได้ฟังเรื่องราวของคุณสมเกียรติ
ทั้งคุณสำเริงและคุณสมเกียรติเข้าสมัครเป็นทหารพราน ณ ค่ายปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งถือเป็นค่ายทหารพรานที่ใหญ่ที่สุดค่ายหนึ่งของประเทศในขณะนั้น และได้สร้าง “นักรบดำ” มากมายเพื่อร่วมปฏิบัติหน้าที่กับกองกำลังอื่น ๆ อย่างกล้าหาญ คุณสำเริงพูดติดตลกว่า ถ้าเรียกทหารว่า “แนวหน้า” ทหารพรานก็เป็น “หน้าแนว” อีกทีหนึ่ง
“ค่ายปักธงชัยสมัยก่อนนะ ที่ไหนหนัก ทุกตารางนิ้วของประเทศไทย สามารถขอได้เลย ค่ายปักธงชัยก็จะส่งไป หลังจากนั้นเราก็ทำงานตามแนวชายแดนอยู่ตลอด แล้วก็ไปรบที่ร่มเกล้าเป็นยุทธการสุดท้าย” คุณสมเกียรติกล่าว
ยุทธการบ้านร่มเกล้า
ยุทธการบ้านร่มเกล้าเป็นการรบระหว่างประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ในช่วงปี 2530 – 2531 ณ เนิน 1428 บริเวณบ้านร่มเกล้า อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก เนื่องจากกรณีพิพาทในการกำหนดเส้นแบ่งดินแดนของไทยกับลาว ซึ่งคุณสำเริงและคุณสมเกียรติก็ได้เล่าประสบการณ์ในสนามรบบ้านร่มเกล้าให้เราฟังอย่างออกรส
“หลังจากถูกส่งไปปฏิบัติหน้าที่ 2 ครั้ง ก็กลับมาที่ค่าย กลับมาฝึกทบทวนแล้วก็ถูกส่งขึ้นไปบ้านร่มเกล้า สังกัดกองทัพภาคที่ 3 นั่งรถบัสกันไป เขาเหมารถไปส่งที่กรมทหารพรานที่ 21 ค่ายศรีสองรัก จังหวัดเลย ไปสว่างอยู่ตรงนั้น เช้าก็มีรถทหารมารับขึ้นไปบนพื้นที่บ้านร่มเกล้า ไปพักอยู่ลานหลังหมู่บ้าน ตอนเช้าก็ขึ้นไปบนฐานเพื่อเปลี่ยนกับทหารม้า” คุณสำเริงรำลึกถึงวันที่ตัวเองต้องเดินทางไปยังสมรภูมิรบ
คุณสำเริงใช้เวลาลาดตระเวนในพื้นที่กว่า 3 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ฝ่ายตรงข้ามสามารถยึดเนิน 1428 ไว้ได้ ซึ่งทำให้ตัวเขาและเพื่อนทหารต้องปฏิบัติการ “ตีเนิน 1428” ซึ่งเป็นหน้าผาสูง นักรบดำจากค่ายปักธงชัยใช้วิธีปีนหน้าผาขึ้นไป แต่คุณสำเริงก็ยอมรับว่าไม่สำเร็จ เพราะฝั่งไทยไม่สามารถยิงขึ้นไปให้โดนฝั่งตรงข้ามได้ ทั้งยังโดนโยนระเบิดใส่อยู่เนือง ๆ
“ที่ท่านนายก (คุณสำเริง) พูดคือจุดศูนย์ข่มของเขา เขาได้เปรียบเรา พื้นที่มันเป็นจะงอย เขาสามารถตรวจการณ์ได้ พอเราไปถึง ทุกหน่วย ทุกคนต้องได้หลับนกกันหมด แล้วไม้ใหญ่สองคนโอบเนี่ย เราจะไปขุดนอนใต้ตรงนั้น บางคนมีช้อนตราม้าลายก็ไปขุด แล้วเราก็ขึ้นไปตอนใกล้ปีใหม่ เป็นช่วงหน้าหนาว เอาจริง ๆ ภูมิประเทศของเขาได้เปรียบเรา พวกเราเจ็บกันเยอะเพราะกลางคืนเขาตรวจการณ์เห็น เขาอยู่เนินสูง ขว้างก้อนหินมาปุ๊บ สัญชาตญาณของคนหลบหลังกอไม้ไผ่ ถ้า แกร๊ก! เราจะสะดุ้ง แล้วไม้ก็จะไหว จากนั้นจะมีเสียง แปะ ตู้ม! ถ้าใครร้องก็นั่นแหละ โดนบอมบ์เลย” คุณสมเกียรติเล่าต่อ
หากนึกถึงสงคราม คนทั่วไปที่ไม่เคยอยู่ในสมรภูมิก็คงจะนึกถึงการสาดกระสุน โยนระเบิดใส่กันไม่มีหยุด แต่คุณสมเกียรติกลับเล่าว่า จริง ๆ แล้วการอยู่ในสนามรบ ก็ไม่ต่างไปจากเด็กเล่นขายของ ต่างฝ่ายต่างรู้ว่าอีกฝ่ายอยู่ตรงไหน เมื่อถึงเวลาก็ยิงใส่กัน เมื่อถึงเวลากินข้าว ก็หยุดยิงไปกินข้าว
“ก็เหมือนขึ้นรถไปทำงานตอนเช้านั่นแหละนะ ตอนเช้าก็หอบข้าวเหนียววิ่งกันมา แบกปืน แบกกระสุนเข้าไป ไปขุดร่องไว้รอ ก่อนไปถึงก็ให้ปืนใหญ่เคลียร์ก่อน ปืนใหญ่หยุดเราก็เข้าไป ยิงก็ยิง หูอื้อไปหมด พอเที่ยงก็หยุดกินข้าว บ่ายโมงก็ยิงต่อ ฝั่งโน้นก็เหมือนกัน” คุณสำเริงเสริม
แม้จะเล่าติดตลก แต่สงครามก็โหดร้ายเสมอสำหรับผู้ต้องผจญกับลูกกระสุนและดงกับระเบิด ทว่า อดีตนักรบดำทั้งสองท่านก็บอกเราอย่างกล้าหาญว่าจะทำตาขาวไม่ได้ พอไปอยู่ตรงนั้นก็ต้องสู้ สถานการณ์จะสอนให้ตัวเองรู้ว่าต้องหลบอย่างไร เอาตัวรอดอย่างไร
“มันก็เหมือนหนังที่เคยดูนั่นแหละ แต่ไม่ได้บู๊เหมือนในหนังหรอก บางทีมันก็บู๊กว่า ในหนังบางทีก็โม้ ของจริงมันคนละเรื่อง บางทีเหยียบปุ๊บ มันก็ตู้มเลย ไม่มีรอ” คุณสำเริงเล่าสร้างเสียงหัวเราะให้คนทั้งห้อง
“ทหารผ่านศึก” นักรบที่ต้องเชิดชู
แม้การเป็นทหารจะเป็นความฝัน แต่คงไม่มีทหารนายไหนใฝ่ฝันว่าตัวเองต้องสูญเสียอวัยวะจากการสู้รบ และกลายเป็นผู้พิการทุพพลภาพ เช่นเดียวกับคุณสำเริง ที่การเข้าสู่สนามรบบ้านร่มเกล้า ทำให้เขาต้องสูญเสียขาข้างซ้ายไปตลอดกาล ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2530 เพราะเหยียบกับระเบิด
“ด้วยความที่เราเป็นทหาร มีคำสั่งไป เราก็ต้องไว้ลาย เราไม่คิดหรอกว่าจะพิการ อย่างดีถ้าตายก็เอาศพมาบ้าน มีธงชาติห่มหน้า ไม่คิดว่าเราจะพิการ” คุณสำเริงพูด
ถึงแม้คุณสมเกียรติจะไม่ได้รับบาดเจ็บจากการรบในครั้งนี้ แต่เขาก็ยอมรับว่าได้สูญเสียเพื่อนร่วมรบไปหลายคน ทั้งตัวเองยังต้องทำหน้าที่แบกลากเพื่อนที่ได้รับบาดเจ็บลงมา ซึ่งเขาย้ำว่า จังหวะนั้นกระสุนสาดใส่ไม่หยุด และไม่มีใครรู้ว่าใครจะโดนบ้าง แต่ก็โชคดีที่ตัวเองไม่โดน เมื่อถามทั้งสองว่ารู้สึกกลัวบ้างไหม คำตอบของชายชาติทหารที่เราคงรู้อยู่แล้ว ก็คือ “ไม่กลัว”
“ตอนนั้นมันเป็นวัยรุ่น อย่างผมก็ไปด้วยใจรัก อยู่บ้านเราสบาย ๆ ทำไมเราต้องไปเผชิญกับคนข้างหน้า ภาษาก็ไม่ค่อยรู้ แล้วเราไปก็ต้องไปนอนในป่าในดง แต่เราไปกันด้วยใจรักจริง ๆ ” คุณสมเกียรติบอก
นี่คือส่วนหนึ่งของเรื่องเล่าที่ยังมีอีกมากมายของทหารผ่านศึกที่เผชิญหน้ากับความโหดร้ายและน่ากลัวของสนามรบอย่างกล้าหาญ คนเหล่านี้เริ่มต้นจากเด็กหนุ่มที่มีความรักในอาชีพผู้ปกป้อง ยอมทิ้งชีวิตวัยหนุ่มเพื่อไปใช้ชีวิตนอนกลางดินกินกลางทราย มือถือปืน ปากคาบกระสุน เพื่อปกป้องผืนแผ่นดินที่เรียกว่า “บ้าน” ดังนั้นพวกเขาจึงควรได้รับการยกย่อง
แต่ในขณะที่ปากท้องยังหิว ความภาคภูมิใจที่ได้รบเพื่อชาติเพียงอย่างเดียวก็คงไม่เพียงพอ
องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก
องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกก่อตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่สงเคราะห์ดูแลทหารกล้าที่เคยออกรบหรือปฏิบัติหน้าที่อย่างกล้าหาญในการรักษาและปกป้องผืนแผ่นดินประเทศไทย ซึ่งคุณธีระยุทธ ศิริคำ ผู้อำนวยการฝ่ายสวัสดิการสงเคราะห์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก อธิบายว่า
“ทหารผ่านศึกก็คือประชาชนคนหนึ่งที่พึงจะได้รับสวัสดิการต่าง ๆ จากรัฐเฉกเช่นประชาชนทั่วไป แต่สิทธิสวัสดิการที่ได้รับเสริมจากองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกนั้น เกิดจากการที่พวกเขายอมเสียสละเลือด เนื้อ หรือว่าชีวิตเพื่อเข้าปกป้องอธิปไตยและคงความเป็นเอกราชของชาติไทยมาจวบจนทุกวันนี้ ดังนั้น การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกจึงเป็นการตอบแทนคุณงามความดีของทหารผ่านศึก เพราะฉะนั้น องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกจึงมีหน้าที่หลักในการให้การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ครอบครัวทหารผ่านศึก ทหารนอกประจำการ และทหารที่กำลังกระทำหน้าที่ในการป้องกันหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคง หรือความปลอดภัยของราชอาณาจักร โดยการสงเคราะห์ก็จะให้ตามความดีความชอบที่ไปปฏิบัติหน้าที่มา โดยพิจารณาแยกเป็นกลุ่มชั้นบัตรของทหารผ่านศึก”
แม้จะได้ชื่อว่า “ทหารผ่านศึก” แต่ก็ไม่ได้หมายถึงทหารเพียงกลุ่มเดียว แต่ยังรวมถึงตำรวจ ข้าราชการพลเรือน และพลเรือนที่ได้ทำหน้าที่ป้องกันประเทศ แม้ว่าในปัจจุบัน สงครามจะหมดไปแล้วแต่ทหารผ่านศึกก็ยังมีจำนวนเพิ่มขึ้น เพราะคำนิยามของทหารผ่านศึก คือ ทหารหรือบุคคลซึ่งกระทำหน้าที่ในสงคราม หรือการรบ หรือทำการป้องกันหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคง หรือความปลอดภัยแห่งราชอาณาจักรไม่ว่าภายใน หรือภายนอกราชอาณาจักร ตามที่กระทรวงกลาโหมหรือสำนักนายกรัฐมนตรีกำหนด
ในการสงเคราะห์ทหารผ่านศึกนั้นจะเป็นทั้งรูปของตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน ซึ่งจะลดหลั่นกันไปตามสิทธิของชั้นบัตรของแต่ละคน อย่างไรก็ตาม องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกยังมีการสงเคราะห์ด้านอื่น ๆ เพื่อช่วยให้ทหารผ่านศึกสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติในสังคม โดยแบ่งออกเป็น 6 ด้าน ได้แก่ ด้านการเกษตร, ด้านการอาชีพ, ด้านการสวัสดิการและการศึกษา, ด้านสินเชื่อ, ด้านการส่งเสริมสิทธิและเกียรติ, และด้านการรักษาพยาบาล
“องค์การก็ให้เยอะ อย่างผมก็จบปริญญาตรีจากสิทธิ์ทหารผ่านศึก ใช้เวลาเรียนเสาร์อาทิตย์ ตอนนั้นบำนาญยังไม่ได้ ก็เบิกค่าหน่วยกิตจากองค์การ หน่วยงานอื่นไม่สามารถทำได้ แต่องค์การทหารผ่านศึกทำได้ ให้ค่าอาหารกลางวันด้วย” คุณสำเริงเล่า
ซึ่งคุณธีระยุทธยังได้เสริมอีกว่า องค์การให้การสงเคราห์การศึกษาทหารผ่านศึกทุกชั้นบัตรจนจบปริญญาตรี คนละไม่เกิน 12,000 บาท แบ่งจ่ายเป็นรายปี ปีละ 3,000 บาท ขณะเดียวกัน สำหรับทหารผ่านศึกบัตรชั้นที่ 1 ยังได้รับสิทธิ์เบิกค่าเล่าเรียนบุตรในระดับปริญญาโทได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
“บุตรทหารผ่านศึกบัตรชั้นที่ 1 ส่งการสงเคราะห์การศึกษาจนจบปริญญาโท แต่คงไม่มีใครอยากจะบาดเจ็บหรือพิการ แล้วมารับสิทธิสวัสดิการตรงนี้ แต่ที่เขาทำไปก็ทำไปเพราะใจรักชาติ อย่างที่เขาบอกไป คือทำเพื่อชาติ ทำเพื่อปกป้องประเทศ” คุณธีระยุทธกล่าว
นอกจากนี้ ทางองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกยังมีภาคส่วนอื่น ๆ ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชนเข้ามาช่วยดูแลทหารผ่านศึกด้วย เช่น การให้สิทธิพิเศษลดหย่อนค่าไฟ ค่าน้ำประปา การลดหย่อนค่ารถประจำทาง รถไฟและเครื่องบินโดยปรับลดค่าตั๋วเครื่องบินของสายการบินไทยและบางกอกแอร์เวย์ ที่ปรับลด 25% ให้กับทหารผ่านศึกบัตรชั้นที่ 1 และ 15% ให้กับทหารผ่านศึกบัตรชั้นที่ 2,3, และ 4 เป็นต้น
ช่วยเหลือเพื่อดำรงชีวิตอยู่ได้
เมื่อถามทหารผ่านศึกทั้งสองคนว่ามีอะไรที่อยากได้เพิ่ม คุณสำเริงรีบตอบว่าอยากให้เพื่อนที่เป็นทหารผ่านศึกเหมือนกัน ได้รับสิทธิและสวัสดิการเหมือนกับตัวเขาเอง แม้จะไม่ได้พิการก็ตาม
ด้านคุณสมเกียรติมองว่า สิ่งที่ทุกคนอยากได้ก็คงไม่พ้นเรื่องเงินทองที่จะใช้จุนเจือชีวิต พร้อมกับเรื่องการรักษาพยาบาลที่มีข้อกำหนดที่เพิ่มเข้ามาและตัดสิทธิ์ทหารผ่านศึกบางกลุ่มไป อย่างไรก็ตาม คุณธีระยุทธก็ยอมรับว่าการปรับเปลี่ยนสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือทหารผ่านศึกกว่า 6 แสน 5 หมื่นนายที่องค์การดูแลอยู่นั้น มีข้อจำกัดด้านงบประมาณ แต่ก็มีแผนที่จะปรับเพิ่มสิทธิสวัสดิการขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้ทหารผ่านศึกมีความเป็นอยู่ที่ดีและดำรงชีพอยู่ในสังคมได้อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี
“ในเรื่องของงบประมาณ เราค่อนข้างมีจำกัดจากรัฐบาลที่ให้ความช่วยเหลือ ปีหนึ่งเราต้องใช้งบประมาณในการดูแลทหารผ่านศึกประมาณ 2,800 ล้านบาท แต่เราได้รับการช่วยเหลืองบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลมาประมาณ 2,300 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอ ซึ่งเราเองก็จะต้องดำเนินการหารายได้เพิ่มเติมจากหน่วยงานกิจการพิเศษที่เราตั้งขึ้นมา ซึ่งกลุ่มนี้จะหารายได้เพิ่มเติมเพื่อมาใช้ชดเชย หากเราได้รับงบประมาณเพิ่มเติมจากรัฐบาลมากขึ้น เราก็สามารถนำมาให้การสงเคราะห์กับทหารผ่านศึกมากขึ้น สำหรับการให้ความช่วยเหลือทหารผ่านศึกตอนนี้ เราให้การช่วยเหลือในเรื่องให้เขาสามารถดำรงชีพอยู่ได้ แล้วค่อย ๆ ปรับเพิ่มวงเงินการสงเคราะห์ให้เพิ่มขึ้น” คุณธีระยุทธชี้
ถึงแม้วีรกรรมของทหารไทยที่ไปออกรบจะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงไม่บ่อยนัก หรือบางเหตุการณ์อาจจะเลือนหายไปจากความทรงจำของคนในประเทศ แต่ครั้งหนึ่ง กลุ่มคนเหล่านี้ก็ยอมสละชีพเพื่อทำหน้าที่ของ “ทหารไทย” อย่างสมศักดิ์ศรี ดังนั้น สิทธิและสวัสดิการที่องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกมอบให้กับทหารผ่านศึก ก็เปรียบได้กับของขวัญเชิดชูเกียรติทหารผู้ไปออกรบในสมรภูมิต่าง ๆ และทำหน้าที่ปกป้องประเทศ
“แม้ว่าประเทศไทยจะปลอดจากภาวะสงครามมานานแล้วก็ตาม แต่คงไม่มีใครรู้ได้ว่าสักวันหนึ่งข้างหน้า เหตุการณ์บ้านเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร จะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต หากเกิดศึกสงครามในวันนั้น คนแรกที่จะออกไปต่อสู้เพื่อปกป้องผืนแผ่นดินไทย ก็คือทหารผ่านศึก ดังนั้น ทุกวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันทหารผ่านศึก หรือวันไหน ๆ ก็ตาม จึงอยากให้ทุกคนพึงระลึกถึงวีรกรรมของทหารกล้าจากทุกสมรภูมิรบ และร่วมกันเชิดชูเกียรติทหารผ่านศึกให้อยู่ในหัวใจของพี่น้องประชาชนไทยตลอดไป” คุณธีระยุทธกล่าวทิ้งท้าย
ขอบคุณ... https://www.sanook.com/news/8024242/ (ขนาดไฟล์: 319927)