ใช้ AI สัมภาษณ์งาน ปราศจากอคติจริงหรือ
มีการคาดการณ์ต่าง ๆ นานา ว่า AI จะมาแย่งงานมนุษย์ แต่ที่ยังไม่ค่อยมีคนพูดถึงกัน คือ เจ้าปัญญาประดิษฐ์นี้อาจทำให้เราตกกระป๋องตั้งแต่ยังไม่ทันได้งานทำก็เป็นได้
เดี๋ยวนี้มีสตาร์ตอัพหลายเจ้าเสนอระบบ AI ที่ช่วยคัดเลือกผู้สมัคร เช่น HireVue ที่เริ่มใช้ AI กับระบบสัมภาษณ์งานผ่านวิดีโอแบบ on demand ในปี 2014 ปัจจุบันสัมภาษณ์ไปแล้ว 10 ล้านครั้ง เฉลี่ย 1 ล้านครั้งต่อ 90 วัน
โดยมี AI ทำหน้าที่แทนเจ้าหน้าที่ HR ในการถามคำถามและประเมินคุณสมบัติต่าง ๆ ทั้งยังประเมินสีหน้า แววตา โทนเสียง สำเนียง ภาษา คำศัพท์ และไวยากรณ์ที่ใช้ว่า “เหมาะสม” กับตำแหน่งหรือไม่ด้วย และมีให้เล่นเกม เช็กทักษะทาง “ปัญญา” ด้วย
ปัจจุบัน HireVue มีลูกค้าเป็นบริษัทระดับโลกกว่า 700 แห่ง 1 ใน 3 เป็นบริษัทระดับท็อปที่ติดโผ Fortune’s Most Admired Companies โดย HireVue อ้างว่าระบบของตนช่วยเพิ่มการเติบโตให้องค์กรได้ 50% ลดอัตราการลาออกได้ 29% และเพิ่มพนักงานระดับ top performers ได้ 13%
HireVue ก็ไม่ธรรมดาระดมทุนได้เกือบ 100 ล้านเหรียญ แถมติดอันดับ Top 10 Most Promising Companies ในอเมริกาของ Forbes ทั้งระบบที่พัฒนาขึ้นก็ได้รับการยกย่องเป็น Top HR Product of the Year 5 ปีซ้อน
มองในแง่ดี ระบบ AI ช่วยประหยัดทรัพยากรและเวลาได้มาก อีกทั้งยังอาจลดอคติจากเจ้าหน้าที่ HR ที่มีต่อผู้สมัครบางกลุ่มบางพวก ปัญหาคือ ช่วงหลังเริ่มมีคนตั้งคำถามว่า AI “แฟร์” และปราศจาก “อคติ” จริงหรือ
ล่าสุด EPIC ศูนย์วิจัยในวอชิงตัน ดี.ซี. ยื่นเรื่องให้คณะกรรมการการค้าแห่งสหรัฐ สอบ HireVue ว่าเข้าข่ายมี bias ต่อผู้พิการ ผู้มีความบกพร่องทางกายภาพ ผู้สูงอายุ รวมไปถึงชนกลุ่มน้อยหรือคนเชื้อชาติอื่นหรือไม่
EPIC มองว่า การประเมินผู้สมัครจากโทนเสียง การใช้ไวยากรณ์ เป็นการกีดกันผู้สมัครที่ไม่ใช่เจ้าของภาษา ส่วนการใช้เกมในการประเมินทักษะทางปัญญาก็ไม่แฟร์กับผู้สูงอายุที่ไม่ถนัดเล่นเกมเท่าคนที่มีอายุน้อยกว่า
ทั้งยังสงสัยว่า AI จะสำรวจสีหน้า แววตา และการแสดงออกทางอารมณ์ของผู้สมัครที่มีปัญหาบุคลิกภาพอย่างไรจึงจะสร้างการแข่งขันที่ “เท่าเทียมและเป็นธรรม” ได้ เช่น คนอ้วน คนลิ้นคับปากพูดไม่ชัด เป็นต้น
สรุปคือ EPIC คิดว่า HireVue อาจละเมิด Federal Trade Communications Act เพราะไม่เปิดเผยคะแนน และยังละเมิด AI Principles ที่ประเทศ OCED รวมทั้งอเมริการ่วมกันกำหนด ว่าก่อนจะนำ AI มาใช้ต้องทดสอบความเสี่ยงด้านต่าง ๆ และ AI ต้องไม่สะท้อนอคติ
เควิน พาร์กเกอร์ ซีอีโอของ HireVue บอกว่า คนตัดสินว่าจะเปิดคะแนนให้ผู้สมัครรู้หรือไม่ คือ บริษัทนายจ้าง ไม่ใช่ตน และยืนยันว่าให้คะแนนเรื่องการแสดงออกทางสีหน้า “น้อยมาก” เมื่อเทียบกับเกณฑ์อื่น
แต่ความระแวงต่อระบบ AI ของ HireVue (รวมทั้งสตาร์ตอัพอื่น ๆ) ยังคงอยู่ต่อไป แถมอาจารย์แนะแนวยังต้องสอนทักษะการชนะใจ AI เพิ่ม
เช่น เมเรดิท แมคคุ๊ก จาก Duek University’s Career Center บอกลูกศิษย์ว่าเวลาสัมภาษณ์ผ่านวิดีโอให้ยกคอมพิวเตอร์ให้กล้องอยู่ระดับสายตาจะได้ “ดูเหมือนว่า” เรามี “eye contact” กับ “อีกฝ่าย” ตลอดเวลา
ส่วน แมทธิว เฟรนช์ จาก UNC Charlotte บอกว่าปีนี้ต้องขอความร่วมมือบริษัทต่าง ๆ ให้เปิดเผยล่วงหน้าว่ามีการใช้ AI ในการสัมภาษณ์หรือไม่เพื่อเด็กจะได้เตรียมตัวก่อน
หนึ่งในตัวช่วยที่พอจะพึ่งได้ คือ ระบบของ big interview ที่จำลองการสัมภาษณ์ทางวิดีโอมาให้นักศึกษาซ้อมใช้ก่อนสัมภาษณ์จริง โดยระบบจำลองนี้ใช้ AI ในการประเมินและให้คะแนนผู้สัมภาษณ์เช่นกัน
เรียกว่าระหว่างรอให้มีหน่วยงานวัดผลการทำงานของ AI อย่างจริงจัง ใครมีเทคนิคอะไรก็คงต้องงัดมาใช้ไปก่อน เพราะลำพังแค่สัมภาษณ์งานปกติก็ลำบากจะแย่ ยังต้องทำตัวให้ถูกใจ “AI” อีก แค่คิดก็เหนื่อยแทน