กมธ.แก้รธน.เดินสายถกกลุ่มตัวแทนปชช.7-24 มี.ค.
กมธ.แก้รธน. “คิกออฟ”สนทนากลุ่มตัวแทนประชาชนทุกภาคส่วน วันที่ 7-24 มี.ค. นี้ เปิดกว้างรับฟังความเห็น มั่นใจได้แนวทางแก้ปัญหาตรงจุด
เมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตพรรคอนาคตใหม่น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส. กทม. ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ โฆษกคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2560 สภาผู้แทนราษฎร และ นายชัยธวัช ตุลาธน ผู้ช่วยเลขานุการกมธ.ร่วมกันแถลงถึงแนวทางในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ในวันที่ 7 มี.ค.นี้ กมธ.จะเข้าไปร่วมรับฟังความคิดเห็นประชาชนที่มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม จ.พิษณุโลก จากนั้นจะมีการจัดเวทีสัมมนากลุ่มตามลำดับ ประกอบด้วย 1.กลุ่มพิการ วันที่ 9 มี.ค. 2.กลุ่มประชาสังคม วันที่ 10 มี.ค. 3.กลุ่มสตรี วันที่ 10 มี.ค. 4.กลุ่มแรงงาน วันที่ 11 มี.ค. 5.กลุ่มผู้สูงอายุ วันที่ 18 มี.ค. 6.กลุ่มพรรคการเมือง 19 มี.ค. และ7.กลุ่มชาติพันธุ์ วันที่ 24 มี.ค.
นายรังสิมันต์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 13 มี.ค.ทางคณะกรรมการรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) มาแสดงความคิดเห็นต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญฯเพราะรัฐธรรมนูญเป็นวาระสำคัญของประชาชน และในวันเดียวกันจะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มนักศึกษาที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองด้วย ซึ่งขอให้ความมั่นใจว่ารัฐสภาในฐานะที่เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมทั้งหมดจะมีมาตรการคัดกรองเพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่มาร่วมกิจกรรม
ด้านนายชัยธวัช กล่าวว่า เมื่อมีกลุ่มนักศึกษาออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองกมธ.จึงมีความเห็นว่าควรประสานงานเชิญนักศึกษามาให้ความคิดเห็นต่อ กมธ.ชุดใหญ่ ทั้งนี้ จะเร่งประสานงานผ่านองค์กรนักศึกษา และจะประสานงานไปยังกลุ่มอื่นๆที่ทำกิจกรรมทางการเมืองหรือแฟลชม็อบด้วย เบื้องต้นจะเชิญมาไม่เกิน 100 คน เป็นทั้งนักศึกษาในกทม.และต่างจังหวัด
"คงประสานได้ไม่ครบทุกสถาบันแต่จะประสานงานให้ครอบคลุมมากที่สุด แต่หากประสานงานมายังคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อให้ไปรับฟังความคิดเห็น ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญก็มีความยินดีที่จะไปร่วมรับฟังความคิดเห็นจากสถาบันการศึกษา" นายชัยธวัช กล่าว
น.ส.ธณิกานต์ กล่าวว่า การสนทนากลุ่มนี้ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญ ในการเปิดกว้างให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากประชาชน ซึ่งถือเป็นช่องทางการนำเสนอความเห็นผ่านกลไกของรัฐสภา เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มั่นใจว่าจะได้รับความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ การแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง