พลังเซ็นเพื่อสังคม มอบอาชีพ ‘คนพิการ’ มีรายได้ยั่งยืน
ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 กำหนดให้สถานประกอบการต้องจ้างงานคนพิการตามมาตรา 33 ในอัตราส่วน 100 : 1 แต่ทั้งนั้น หากสถานประกอบการใดไม่สามารถจ้างคนพิการทำงานได้ครบตามจำนวน บริษัทนั้น ๆ จะต้องทำการส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการตามมาตรา 34
ดังนั้นเมื่อดูข้อมูลจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2558 ปรากฏว่ามีการจ้างงานคนพิการตามมาตรา 33 เพียง 28,358 คน ขณะเดียวกันก็มีการสนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมให้คนพิการประกอบอาชีพตามมาตรา 35 จำนวน 6,025 คน และยังไม่สามารถจ้างงานอีกประมาณ 21,000 คน
ฉะนั้นจึงมีคนพิการอีกจำนวนมากที่มีศักยภาพทำงานได้แต่ไม่พร้อม หรือไม่ประสงค์ที่จะย้ายถิ่นฐานเข้าหาโอกาสงานในสถานประกอบการที่ตั้งอยู่ห่างไกลภูมิลำเนาออกไป ดังนั้นหากบริษัทใด ๆ สามารถสร้างโอกาสงานให้เกิดขึ้นในท้องถิ่นที่อยู่ของคนพิการที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ก็จะเอื้อให้คนพิการเหล่านี้มีงานทำ และกลายมาเป็นพลังสำคัญของสังคมอีกทางหนึ่ง
ผลเช่นนี้จึงทำให้บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ “เซ็น กรุ๊ป” หนึ่งในผู้นำด้านธุรกิจร้านอาหาร โดยมีแบรนด์ภายใต้การบริหารทั้งหมด 15 แบรนด์ ล้วนต่างให้ความสำคัญต่อการสร้างอาชีพให้กับกลุ่มคนพิการ ตามโครงการ “พลังเซ็นเพื่อสังคม” (ZEN Spirit) ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2560 โดยให้การสนับสนุนกลุ่มคนพิการประกอบอาชีพเกษตรกร สร้างงาน สร้างรายได้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเองและครอบครัวให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
ด้วยการสนับสนุนโครงการวิสาหกิจชุมชน “Empowerment Plus” ในการพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพเกษตรกรสมัยใหม่ ด้วยการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้อย่างเหมาะสม สำหรับการปลูกเมล่อนสายพันธุ์ซูบาริคิงจากประเทศญี่ปุ่น ในระบบฟาร์มปิดเป็นแห่งแรกที่ ต.หันคา อ.หันคา จ.ชัยนาท ก่อนที่จะพัฒนาต่อไปยัง ต.ไพรนกยูง อ.หันคา จ.ชัยนาท และ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ตามลำดับ
ภายใต้ผลผลิตที่ชื่อแบรนด์ว่า “ใจดีฟาร์ม”
เบื้องต้น “บุญยง ตันสกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ “เซ็น กรุ๊ป” กล่าวว่า ในพันธกิจของบริษัทให้ความสำคัญอยู่ 4 เรื่อง คือ ผู้บริโภค, พนักงาน, สังคมและสิ่งแวดล้อม และผู้ถือหุ้น โดยเฉพาะในเรื่องของสังคมและสิ่งแวดล้อม เรากำหนดเป็นพันธกิจชัดเจนเลยว่าจะยึดมั่นปฏิบัติตามนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี และมุ่งมั่นต่อการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
“ดังนั้นเมื่อมาดู CSR in Process ของบริษัทก็จะให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้ไว้ 3 เรื่องด้วยกันคือเพื่อสังคม, เพื่อการศึกษา และเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยทุก ๆ เรื่องที่ทำจะคู่ขนานไปกับการดำเนินธุรกิจ แต่สำหรับเหตุผลที่เรามาให้ความสำคัญต่อการสร้างอาชีพให้กับคนพิการมีงานทำ เพราะมีความรู้สึกว่าแต่ละปีที่บริษัทส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการตามมาตรา 34 เราไม่รู้จริง ๆ ว่าเงินที่ส่งไป อยู่ตรงไหน และสร้างประโยชน์อะไรให้กับคนพิการในเชิงรูปธรรมบ้าง”
“ผมและทีมงานจึงมานั่งคิดว่าเมื่อมีช่องว่างให้เราสามารถสร้างอาชีพให้กับคนพิการตาม พ.ร.บ. อีกทั้งยังช่วยทำให้ผู้พิการประกอบอาชีพการเกษตรสมัยใหม่ได้ในละแวกบ้านใกล้เรือนเคียงของตัวเอง โดยไม่ต้องย้ายถิ่นฐานจึงเป็นสิ่งที่น่าทำ จนที่สุดจึงเกิดโครงการพลังเซ็นเพื่อสังคม (ZEN Spirit) ขึ้นเมื่อปี 2560 ด้วยการเข้าไปสนับสนุนโครงการวิสาหกิจชุมชน เพื่อพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพเกษตรกรสมัยใหม่ ด้วยการปลูกเมล่อนสายพันธุ์ซูบาริคิงจากประเทศญี่ปุ่นในระบบฟาร์มปิด”
“โดยมอบหมายให้ น.อ.ภราดร คุ้มทรัพย์ ประธานมูลนิธิพัฒนาศักยภาพคนพิการเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ส่วนทางเซ็น กรุ๊ปจะมอบเงินจำนวน 2,628,600 บาท ให้กับผู้พิการจำนวน 24 สิทธิ ดำเนินการก่อสร้างอาคารปฏิบัติงาน, ระบบน้ำประปา,ระบบไฟฟ้า และสร้างโรงเรือนสำหรับปลูกเมล่อนปลอดสาร สายพันธุ์ซูบาริคิงจำนวน 3 โรงเรือน ที่ ต.หันคา อ.หันคา จ.ชัยนาท เป็นพื้นที่แรก”
ต่อจากนั้นในปี 2561 เซ็น กรุ๊ปจึงสนับสนุนโครงการดังกล่าวเป็นปีที่ 2 โดยมอบเงินอีกจำนวน 3,066,000 บาท ให้กับผู้พิการจำนวน 28 สิทธิ เพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูกเมล่อนปลอดสารสายพันธุ์ซูบาริคิงไปยัง ต.ไพรนกยูง อ.หันคา จ.ชัยนาท อีก 7 โรงเรือน พร้อมกับปรับภูมิทัศน์เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับกลุ่มผู้พิการเครือข่ายนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป
ในปีเดียวกัน เซ็น กรุ๊ปยังสร้างแบรนด์ “ใจดีฟาร์ม” เพื่อช่วยทำการตลาดและประชาสัมพันธ์ผลผลิตในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับร้านอาหาร และสื่อประชาสัมพันธ์ออนไลน์เพื่อเพิ่มยอดจำหน่ายเมล่อนให้กับใจดีฟาร์มอีกด้วย
สำหรับในปี 2562 เซ็น กรุ๊ปสนับสนุนโครงการดังกล่าวเป็นปีที่ 3 โดยมอบเงินจำนวน 3,254,020 บาท ให้กับผู้พิการจำนวน 28 สิทธิ เพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูกเมล่อนปลอดสารที่ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ จำนวน 6 โรงเรือน แปลงปลูกผักออร์แกนิกจำนวน 4 โรงเรือน พร้อมกับสร้างศูนย์การเรียนรู้ให้กับนักเรียนในพื้นที่ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์
ส่วนปี 2563 เซ็น กรุ๊ปยังคงให้การสนับสนุนโครงการวิสาหกิจชุมชน “Empowerment Plus” (ใจดีฟาร์ม) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยมอบเงินจำนวน 2,698,080 บาท ให้กับผู้พิการจำนวน 24 สิทธิ เพื่อสนับสนุนการปลูกเมล่อนและผักออร์แกนิกที่จังหวัดชัยนาทและนครสวรรค์ ทั้งยังสนับสนุนเงินจำนวน 1,011,780 บาท ให้กับผู้พิการจำนวน 9 สิทธิ ให้แก่กลุ่มขอบฟ้ากว้าง จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นกลุ่มอาชีพของผู้ปกครองเด็กพิการที่บกพร่องทางสติปัญญา ออทิสติก และสมาธิสั้นที่มารวมกลุ่มกันในการผลิตตัดเย็บผ้าในรูปแบบต่าง ๆ เช่น กระเป๋าผ้า, ผ้ากันเปื้อน และอื่น ๆ
“บุญยง” กล่าวเพิ่มเติมว่า จริง ๆ โครงการพลังเซ็นเพื่อสังคมค่อย ๆ เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และผู้พิการแต่ละสิทธิ แต่ละกลุ่มค่อย ๆ พัฒนาตัวเองในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมสมัยใหม่ จนมีผลผลิตที่น่าพอใจ ที่สำคัญเราคิดต่อยอดไปถึงการทำ ecotourism หรือการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่มาชมสวนนกชัยนาทมีโอกาสมาเที่ยวที่ศูนย์การเรียนรู้ในการเพาะปลูกเมล่อนของเราด้วย ซึ่งไม่เพียงนักท่องเที่ยวจะได้ชมโรงเรือนสำหรับปลูกเมล่อน และรับประทานเมล่อนสด ๆ ยังจะได้ชมโรงเรือนสำหรับผักออร์แกนิก พร้อมกับเลือกซื้อผลผลิตจากใจดีฟาร์มอีกด้วย
“ที่สำคัญ ตอนนี้เรากำลังทดลองปลูกเมล่อนพันธุ์เขียวจากประเทศญี่ปุ่นเพิ่ม ซึ่งผลผลิตของเมล่อนชนิดนี้ราคาค่อนข้างแพง ตกลูกละประมาณ 2,000 กว่าบาท และตอนนี้เราสามารถทำได้แล้ว และคาดว่าผลผลิตลอตแรกจะออกมาราวเดือนมิถุนายน โดยผลผลิตส่วนหนึ่งจะนำไปเสิร์ฟในร้านอาหารญี่ปุ่นของเรา ยิ่งเฉพาะลูกค้าท่านใดที่สั่ง set lunch ก็จะได้ทานเมล่อนสายพันธุ์ซูบาริคิงไปพร้อม ๆ กันด้วย ส่วนนอกเหนือจากนั้นเราจะขายเมล่อนผ่านออนไลน์ ยิ่งถ้าผลผลิตดี ๆ จะมีลูกค้าจองล่วงหน้า จนทำให้เกษตรกรของเรามีหลักประกันว่าตลาดมี และเขาจะมีเงินทุนหมุนเวียนในการบริหารจัดการต่อไป”
“เพราะทางเซ็น กรุ๊ปจะไม่เข้าไปยุ่งในเรื่องของการบริหารจัดการ แต่เราปล่อยให้เขาบริหารจัดการกันเอง เราเพียงทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง และหาผู้มีความรู้ในเรื่องของการเกษตรไปช่วยพวกเขา ขณะเดียวกันเขาจะตั้งหน่วยงานคนพิการขึ้นมา ด้วยการจ้างงานตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ซึ่งพวกเขาจะนั่งวีลแชร์มาผสมเกสรเมล่อน, ตัด, เก็บผลผลิต และอื่น ๆ จนเมื่อพวกเขาขายผลผลิตได้ เงินทั้งหมดจะกลับมาเป็นทุนหมุนเวียน และมาจ้างคนพิการทำงานต่อไป”
“เนื่องจากคนพิการส่วนใหญ่จะอยู่แถบละแวกนั้น และตอนนี้ทราบข่าวว่าเขาคิดจะทำหอพักเพื่อให้ลูกจ้างคนพิการตื่นขึ้นมาแล้วสามารถทำงานได้ทันที นอกจากนั้นเขายังออกแบบพื้นที่ใช้สอยเพิ่มเติม ด้วยการทำห้องประชุม ห้องน้ำคนพิการ และอื่น ๆ เนื่องจากตอนนี้ผลผลิตทั้งหมดไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า ทั้ง ๆ ที่เรามี 300 กว่าสาขา แต่เราจะส่งผลผลิตเพียงบางสาขาเท่านั้น โดยเฉพาะสาขาที่เป็นร้านอาหารญี่ปุ่นก่อน จากนั้นถึงค่อยส่งไปยังสาขาอื่น ๆ ที่สามารถประยุกต์ไปทำของหวานได้”
เพราะการเพาะปลูกเมล่อนแต่ละรอบจะเริ่มปลูกราวเดือนเมษายนเป็นต้นไป และเดือนเดือนหนึ่งผลผลิตจะออกประมาณ 3 รอบ รอบละประมาณ 500 ลูกดังนั้นทางแก้เพื่อให้ผลผลิตเพียงพอต่อความต้องการของลูกค้าจึงต้องพยายามปลูกหมุนเวียนสลับกันไปในแต่ละโรงเรือน เพื่อจะให้ได้เมล่อนมาบริโภคตลอดทั้งปี
นอกจากนั้น “บุญยง” ยังเล่าให้ฟังถึงการทำกิจกรรมเพื่อสังคมกับมูลนิธิขอบฟ้ากว้าง จ.ขอนแก่นให้ฟังว่า ตอนนี้เราร่วมมือกับมูลนิธิขอบฟ้ากว้างด้วยการส่งเสริมสนับสนุนเยาวชนและผู้ปกครองของกลุ่มเด็กพิเศษให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ด้วยการสอนเย็บปักถักร้อย เพราะในร้านของเราจะมีผ้ากันเปื้อนที่ใช้อยู่เป็นลายผ้าขาวม้า ซึ่งคือเครื่องแบบพนักงานร้านตำมั่วของเราประมาณ 100 กว่าสาขา แต่เมื่อสถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดหนักขึ้น เราจึงให้พวกเขาหันมาเย็บหน้ากากอนามัยแทน พร้อม ๆ กับเย็บกระเป๋าผ้าแจกลูกค้าที่ทานอาหารตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป ก็จะได้กระเป๋าผ้า 1 ใบ ซึ่งในส่วนนี้เราสนับสนุนทุนตั้งต้นให้กับพวกเขาประมาณ 1 ล้านกว่าบาท
“อีกเรื่องหนึ่งที่เราส่งเสริมสนับสนุนเยาวชนและผู้ปกครองของกลุ่มเด็กพิเศษให้มีรายได้เพิ่มขึ้นคือการสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน ด้วยการสั่งซื้อ “ไก่ 3 โลว์” (Low-Uric Low-fat Low Cholesterol) หรือไก่พันธุ์ KKU1 ที่วิจัยโดยคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เนื่องจากมีจุดเด่นด้านปริมาณไขมัน คอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์และยูริกต่ำ เพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในร้านอาหารเครือ ZEN เพราะไก่ 3 โลว์จะเหมาะอย่างยิ่งกับลูกค้า หรือผู้บริโภคท่านใดที่ป่วยเป็นโรคเกาต์ เพราะเมื่อรับประทานแล้วจะไม่เกิดการอักเสบเฉียบพลันของข้อ หรือเนื้อเยื่อรอบ ๆ ข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้าและข้อเข่า”
“พูดง่าย ๆ ว่าไก่ 3 โลว์ เราจะนำมาทำเป็นเมนูไก่ 3 โลว์ เมนูไก่ต้มริมโขงที่จะเสิร์ฟให้บริการลูกค้าที่ร้านตำมั่ว และร้านลาวญวน แต่ต่อไปอาจจะแทรกอยู่ในร้านอื่น ๆ ด้วยก็ได้ เพราะเมนูนี้เป็นฟาร์ม ทู เทเบิล และจริง ๆ ผมต้องการไก่ในปริมาณค่อนข้างเยอะ เมื่อปีที่แล้วผมซื้อไก่ 3 โลว์จากชาวบ้านประมาณ 3,000 กว่ากิโลกรัม หรือประมาณ 3,000 กว่าตัว เพราะไก่ตัวหนึ่งหนัก 1 กิโลกรัม รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4 ล้านกว่าบาท ที่เรามีโอกาสอุดหนุนวิสาหกิจชุมชน จนทำให้ชาวบ้านมีรายได้เฉลี่ย 15,000-30,000 บาท/รอบ/เดือน เพราะต่อไปเราคิดว่าจะนำไก่พันธุ์นี้มาทำข้าวมันไก่ด้วย”
“ดังนั้นสิ่งที่เซ็น กรุ๊ปทำกิจกรรมเพื่อสังคมผ่านมา จึงไม่เพียงเป็นการทำ CSR in Process หากยังเป็นการทำ CSR after Process ไปพร้อม ๆ กัน ยิ่งเฉพาะในเรื่องของการนำความเชื่อมโยงกับชุมชนต่าง ๆ มาพัฒนาจนทำให้ชุมชนเหล่านั้นสามารถประกอบสัมมาชีพเลี้ยงตัวได้อย่างยั่งยืน เพราะเป้าหมายในการทำ CSR ของเซ็น กรุ๊ปไม่เพียงให้ความสำคัญต่อเรื่องสังคม,การศึกษา และสิ่งแวดล้อมอย่างค่อยเป็นค่อยไป หากในลำดับต่อไปยังมองไปถึงเรื่อง ESG (Environmental, Social and Governance) และ DJSI (Dow Jones Sustainability Indexes) ต่อไปในอนาคตด้วย”
เพียงแต่ตอนนี้ “เซ็น กรุ๊ป” ขอเริ่มต้นทำกิจการเพื่อสังคมในสิ่งที่สามารถทำได้ก่อนเป็นลำดับแรก ๆ และเมื่อถึงจุดจุดหนึ่งคงเชื่อแน่ว่า “เซ็น กรุ๊ป” คงจะมองสเต็ปต่อ ๆ ไป เพื่อที่จะนำพาองค์กรในธุรกิจร้านอาหารก้าวไปสู่ความยั่งยืนในระดับสากล