พม.เร่งสำรวจผู้เดือดร้อน ไม่ได้รับเงินเยียวยาโควิด-19
พม. จัดโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ภายใต้แนวคิด “สำรวจให้พบ จบที่ชุมชน” เร่งช่วยผู้เดือดร้อนที่ไม่ได้รับเงินเยียวยาจากผลกระทบโควิด-19 คาดสำรวจเสร็จสิ้นเดือน พ.ค.นี้
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 14 เม.ย.นางพัชรี อาระยะกุล รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะโฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานการแถลงข่าว Kick Off โครงการ พม. “เราไม่ทิ้งกัน” ภายใต้แนวคิด “สำรวจให้พบจบที่ชุมชน” เพื่อเร่งช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส
รวมทั้ง ผู้มีรายได้น้อยและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในพื้นที่ กทม. จำนวน 286 ชุมชน ที่อยู่ในความดูแลของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) และ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ซึ่งภายในสัปดาห์นี้จะทำให้ทราบข้อมูลทั้งหมดของ 286 ชุมชน เพื่อนำไปจัดทำแผนฟื้นฟูชุมชน และจะได้ลงพื้นที่ชุมชนแรกและชุมชนต่อๆ ไปตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป โดยคาดว่าจะลงพื้นที่จนครบ 286 ชุมชน ภายในเดือนพ.ค. 2563 เพื่อให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเร็วที่สุด อีกทั้งสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในการพึ่งพาตนองได้ทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาวต่อไป
รองปลัด กระทรวง พม. กล่าวว่า รัฐบาลมีความห่วงใยประชาชนทุกคน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีความรุนแรงในวงกว้างมากขึ้น และได้ส่งผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ต่อประชาชนและกลุ่มเป้าหมายของกระทรวง พม. ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ สำหรับกรุงเทพมหานคร มีลักษณะชุมชนเมืองที่มีประชาชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น โดยมีชุมชนที่อยู่ในความดูแลของ กคช. และ พอช. จำนวนทั้งสิ้น 286 ชุมชน กำลังเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก และจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
ทั้งนี้ กระทรวง พม. จึงได้ขับเคลื่อน โครงการ พม. “เราไม่ทิ้งกัน” ภายใต้แนวคิด“สำรวจให้พบ จบที่ชุมชน” เพื่อเร่งช่วยเหลือผู้สูงอายุ เด็ก และคนพิการที่ถูกทอดทิ้งไม่มีคนดูแล ผู้ที่ตกงาน ผู้ที่ไม่มีที่อยู่อาศัย ผู้ที่ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน ผู้ที่ขาดแคลนอาหาร แม่เลี้ยงเดี่ยว แม่ที่ไม่มีค่านมลูก ผู้ปกครองที่ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอมบุตรหลาน ผู้ที่ไม่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท ตามเงื่อนไขของรัฐบาล และครอบครัวได้รับผลกระทบจากการกักตัวกลุ่มเสี่ยง รวมทั้งผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนด้านต่างๆ ในชุมชน
นางพัชรี กล่าวว่า ขณะนี้ กระทรวง พม. ได้รวบรวมข้อมูลในภาพรวมของ 286 ชุมชน ได้แก่ รายชื่อชุมชนและข้อมูลพื้นฐานทั่วไป รวมทั้งรายชื่อผู้ประสานงานชุมชน และจะดำเนินการสำรวจข้อมูลเพิ่มเติม ได้แก่ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค สภาพปัญหาและความต้องการ สวัสดิการสังคมที่ได้รับแล้วจากรัฐและกระทรวง พม. และผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา จากนั้น จะนำข้อมูลทั้งหมดมาสังเคราะห์และวางแผนในการลงพื้นที่ช่วยเหลือชุมชนตามระดับความเร่ง ด่วนของปัญหาและความต้องการ โดยได้เตรียมกิจกรรมการช่วยเหลือเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างปลอดภัยด้านต่างๆ ในชุมชน ดังนี้
1.ความปลอดภัยด้านที่พักอาศัย ด้วยการดูแลสมาชิกครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากการกักตัวกลุ่มเสี่ยง 2.ความปลอดภัยด้านอาหาร ด้วยการตั้งโรงอาหารกลางในชุมชน 3.ความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการให้ความรู้และการกำกับดูแลชุมชนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในชุมชน 4.ความปลอดภัยด้านการป้องกัน ด้วยการมีเวชภัณฑ์ในการดูแลรักษาความสะอาด และ 5.ความปลอดภัยด้านเศรษฐกิจ ด้วยการส่งเสริมและฝึกอาชีพเพื่อสร้างรายได้อย่างมั่นคง ทั้งนี้ เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมใน การแก้ปัญหาอย่างเต็มที่ด้วยตนเอง อันเกิดจากการ “สำรวจให้พบ จบที่ชุมชน”