มาตรการเยียวยาช่วยเหลือคนพิการในช่วงภาวะวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19)
คณะรัฐมนตรีมีมติ รับทราบ อนุมัติ และเห็นชอบมาตรการเยียวยาช่วยเหลือคนพิการในช่วงภาวะวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ตามมติคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (คณะกรรมการฯ) ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 ตามที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอดังนี้
1. รับทราบ
1.1 การจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาคนพิการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงภาวะวิกฤติการแพร่ระบาดของ COVID – 19 เฉพาะคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ คนละ 1,000 บาท จำนวน 1 ครั้ง จากงบประมาณกองทุนส่งเสริมและพัฒนคุณภาพชีวิตคนพิการ (กองทุนฯ)
1.2 การพักชำระหนี้คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการที่กู้เงินจากกองทุนฯ เป็นระยะเวลา 12 เดือน (เมษายน 2563 – มีนาคม 2564)
1.3 คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการสามารถกู้ยืมเงินกองทุนฯ เพื่อประกอบอาชีพ (เป็นกรณีพิเศษ) ในสภาวะ COVID – 19 ในวงเงินกู้ไม่เกินรายละ 10,000 บาท โดยไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน ไม่มีดอกเบี้ย ผ่อนชำระภายใน 5 ปี ปลอดชำระหนี้ในปีแรกตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน – 30 กันยายน 2563
2. อนุมัติ
2.1 ภายหลังจากการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลคนพิการที่มีสิทธิรับเงินตามมาตรการเยียวยาช่วยเหลือคนพิการในช่วงภาวะวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID – 19 (ตามข้อ 1.1) กับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแล้ว ให้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร (กทม.) เมืองพัทยาส่งข้อมูลให้กรมบัญชีกลาง
2.2 ให้กรมบัญชีกลางทำหน้าที่จ่ายเงินให้คนพิการตามข้อ 2.1 โดย
กรณีมีบัญชีเงินฝากธนาคารให้โอนเข้าบัญชีคนพิการโดยตรง
กรณีคนพิการไม่มีบัญชีเงินฝากธนาคาร ให้โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กทม. และเมืองพัทยา เพื่อดำเนินการจ่ายเงินให้กับคนพิการในพื้นที่ต่อไป
3. เห็นชอบการทบทวนมติคณะรัฐมนตรี
มติคณะรัฐมนตรี (28 มกราคม 2563) เรื่อง การปรับสวัสดิการเบี้ยความพิการ เป็น “เห็นชอบในหลักการให้ปรับสวัสดิการเบี้ยความพิการ จากจำนวน 800/บาท/คน/เดือน เป็นจำนวน 1,000 บาท/คน/เดือน สำหรับคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการทุกคน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป”
สาระสำคัญของเรื่อง
พม. รายงานว่า
1. จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID – 19 ขยายวงกว้างขึ้น ทำให้ประเทศ ต่าง ๆ ต้องมีมาตรการดูแลสุขภาพของประชาชนพร้อมกับการควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อ COVID – 19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและความเป็นอยู่สุขภาพของประชาชนจำนวนมาก รวมทั้งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศในทางตรงและทางอ้อม นอกจากนี้ยังมีมาตรการควบคุมและการสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อคนพิการที่เป็นกลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะที่ประกอบอาชีพอิสระ อาทิ ขายสลากกินแบ่งรัฐบาล ค้าขาย หมอนวด ผู้แสดงความสามารถในที่สาธารณะ เป็นต้น
2. จากเหตุผลตามข้อ 1 กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการจึงได้มีการหารือร่วมกับองค์กรคนพิการระดับชาติและผู้แทนคนพิการ เพื่อหาแนวทางการช่วยเหลือเยียวยาคนพิการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID – 19 และเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการฯ ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 ที่ประชุมฯ ได้มีมติ ดังนี้
2.1 รับทราบ 2 เรื่อง ได้แก่
2.1.1 สรุปการประชุมหารือมาตรการช่วยเหลือเยียวยาสำหรับคนพิการในภาวะวิกฤติการแพร่ระบาดของ COVID – 19
2.1.2 มาตรการพักชำระหนี้เงินกู้ยืมประกอบอาชีพอิสระ (ได้แก่ ขายสลากกินแบ่งรัฐบาล ค้าขาย หมอนวด เป็นต้น) ของกองทุนฯ สำหรับคนพิการและผู้ดูแล เป็นระยะเวลา 12 เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 ถึง เดือนมีนาคม 2564
2.2 เห็นชอบ 3 เรื่อง ได้แก่
2.2.1 โครงการเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือคนพิการผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของ COVID – 19 คนละ 1,000 บาท จำนวน 1 ครั้ง สำหรับคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ จำนวน 2.03 ล้านคน (ข้อมูล ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563) จากกองทุนฯ ภายในกรอบวงเงิน จำนวน 2,027.46 ล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID – 19 ขยายวงกว้างขึ้น โดยคนพิการนับว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับเชื้อไวรัส COVID – 19 ได้ง่าย ประกอบกับคนพิการจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงบริการทางด้านสาธารณสุขได้เท่าเทียมคนทั่วไป ทั้งการหาซื้อเวชภัณฑ์จำเป็นและการเข้าถึงบริการของการตรวจโรค ซึ่งอาจจะส่งผลให้เสียชีวิตได้ ซึ่งโครงการดังกล่าวจะเป็นการช่วยเหลือ เยียวยา และบรรเทาความเดือดร้อนให้กับคนพิการให้มีรายได้เพียงพอเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในช่วงเกิดปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID – 19 ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ อนุมัติหลักการให้จ่ายเงินสำหรับโครงการดังกล่าวได้ตามความเป็นจริงตามจำนวนคนพิการที่เพิ่มมากขึ้นหรือลดลงจากสถิติ ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 (จำนวน 2.03 ล้านคน)
2.2.2 ให้คนพิการและผู้ดูแลคนพิการกู้ยืมเงินกองทุนฯ (เป็นกรณีพิเศษ) เพื่อการประกอบอาชีพในสภาวะวิกฤติ COVID – 19 ในวงเงินกู้รายละไม่เกิน 10,000 บาท โดยไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน ไม่มีดอกเบี้ย และให้เริ่มชำระหนี้เมื่อพ้นกำหนด 12 เดือน เนื่องจากกลุ่มผู้ดูแลคนพิการต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือเรื่องการกู้ยืมเงินกองทุนฯ โดยไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน เพราะมีคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ของกองทุนฯ ได้ และไม่สามารถออกจากบ้านได้ ซึ่งการให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้สามารถกู้ยืมได้ โดยไม่มีผู้ค้ำประกันจะทำให้สามารถประกอบอาชีพที่บ้านหรือในชุมชนได้
2.2.3 เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563 เรื่อง การปรับเพิ่มสวัสดิการเบี้ยความพิการ เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวจะทำให้คนพิการที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 1.10 ล้านคน (คิดเป็นร้อยละ 54.4) สามารถเข้าถึงสิทธิดังกล่าวได้ แต่คนพิการอีกจำนวน 0.92 ล้านคน (คิดเป็นร้อยละ 45.6) ซึ่งเป็นคนพิการที่ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่สามารถเข้าถึงสิทธิตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวได้ ทำให้ขาดโอกาศในการเข้าถึงสวัสดิการอย่างทั่วถึงและขาดหลักประกันในการดำรงชีวิตตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ 2550 ทั้งนี้ การปรับสวัสดิการเบี้ยความพิการจาก 800 บาท/คน/เดือน เป็น 1,000 บาท/คน/เดือน จะใช้งบประมาณเพิ่มเติมจากอัตราดอกเบี้ยความพิการเดิมจำนวนประมาณ 4,866 ล้านบาท/ปี โดยคำนวณจากข้อมูลคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการจำนวน 2.03 คน (ข้อมูลจากฐานทะเบียนกลาง กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ณ วันที่ 1 เมษายน 2563)
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 เมษายน 2563
ขอบคุณ... https://www.ryt9.com/s/cabt/3119496