เด็กไทยวัย 16 สร้างนวัตกรรมจากวัสดุเหลือใช้ เป็นสื่อการสอนให้ผู้พิการทางสายตา

เด็กไทยวัย 16 สร้างนวัตกรรมจากวัสดุเหลือใช้ เป็นสื่อการสอนให้ผู้พิการทางสายตา

สุดเจ๋ง เด็กไทยวัย 16 ปี ยอดนักคิดสมาชิก Fab Lab Siam สร้างนวัตกรรมจากวัสดุเหลือใช้ เพื่อเป็นสื่อการสอนฉบับ "รักษ์โลก" ให้แก่ "ผู้พิการทางสายตา"

ปัจจุบันหลายคนคงคุ้นชินกับคำว่า "เทคโนโลยี" หรือ "นวัตกรรม" ในชีวิตประจำวันอยู่บ่อยครั้ง แต่หลายคนอาจยังไม่คุ้นเคยว่านวัตกรรมนอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ธุรกิจและอุตสาหกรรมได้แล้ว นวัตกรรมยังสามารถส่งต่อสิ่งดีๆ เพื่อสังคมได้ โดยผ่านจินตนาการและพลังของคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพและเรียนรู้ได้เร็ว ที่พร้อมลุกขึ้นมาจุดประกายพลังบวกเล็กๆ ผ่านการใช้นวัตกรรมมาสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์เพื่อผู้ด้อยโอกาสในสังคม

รวมทั้งเปิดโลกที่มากกว่าการมองเห็นให้ผู้พิการทางสายตาได้สัมผัสกับประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ๆ ด้วยสื่อการเรียนการสอนฉบับรักษ์โลกที่สร้างขึ้นจากขวดพลาสติกเหลือใช้ ผสานกับนวัตกรรม 3D Printer และโซลูชันครบวงจรจาก Fab Lab Siam หรือแล็บเปลี่ยนไอเดียให้เป็นจริง ที่ก่อตั้งโดย บริษัท อินแคมเทค จำกัด ผู้ให้บริการที่ปรึกษาการสร้าง Fab Lab และ STEM Lab รายแรกๆ ในไทย ภายใต้แนวคิดการดำเนินธุรกิจ "จินตนาการถึงความเป็นไปได้"

นายธนกร วชิรขจร หรือน้องกันน์ ปัจจุบันอายุ 16 ปี ศึกษาอยู่ชั้น Grade 11 (หรือ ม.5) โรงเรียนร่วมฤดีวิเทศศึกษา (Ruamrudee International School) และเป็นผู้ก่อตั้งชมรม Between the Roots เล่าให้ฟังถึงแรงบันดาลใจของโครงการในครั้งนี้ว่า จุดเริ่มต้นของการตั้งชมรม Between the Roots คือโปรเจกต์ที่ได้รับเป็นการบ้านในชั้น ป.5 ในตอนนั้นได้รับโจทย์ให้เลือกเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ SDG เพื่อทำโครงงานและจัดนิทรรศการ ในตอนนั้นผมนึกถึงประเด็นในด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม การรีไซเคิล การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และประเด็นเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนทุกประเภท

เด็กไทยวัย 16 สร้างนวัตกรรมจากวัสดุเหลือใช้ เป็นสื่อการสอนให้ผู้พิการทางสายตา

ซึ่งตอนนั้นรู้สึกทึ่งในเรื่องนี้มากๆ เพราะพลังงานหมุนเวียนมีเรื่องราวให้ผจญภัยและศึกษาหลายแง่มุมตั้งแต่พลังงานแสงอาทิตย์ไปจนถึงพลังงานไฟฟ้า พลังน้ำ ตรงนี้เลยกลายมาเป็นหัวข้อของนิทรรศการของผมเกี่ยวกับพลังงานทดแทนในประเทศไทย จากการค้นคว้าจนทำให้ผมได้พบกับชุมชนต้นแบบด้านการใช้พลังงานหมุนเวียน ที่นั่นได้ศึกษาวิธีการใช้พลังงานหมุนเวียนทุกประเภท เช่น แผงโซลาร์เซลล์และบอลลูนก๊าซชีวภาพ หรือไบโอแก๊สบอลลูน จนทำให้ผมสามารถนำเสนอโครงงานและจัดนิทรรศการของตัวเองได้สำเร็จ และเป็นสิ่งที่ผมภูมิใจมากที่สุดในตอนนั้น

นับแต่นั้นเป็นต้นมา ยังคงคิดถึงเรื่องราวที่ชุมชนนั้นและคิดว่าผมในฐานะคนรุ่นใหม่น่าจะทำอะไรได้บ้าง เพื่อให้สังคมน่าอยู่ขึ้น ดีขึ้น อยากช่วยเหลือผู้ที่ด้อยโอกาส ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม ด้วยการศึกษาค้นคว้าเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะสามารถนำไปช่วยสังคมได้ จึงตั้งชมรมนี้ขึ้นมาเพื่อรวมพลังของกลุ่มเพื่อนๆ ที่มีแรงบันดาลใจแบบเดียวกัน ลุกขึ้นมาใช้พลังและไอเดียของคนรุ่นใหม่ช่วยซัพพอร์ตและเปลี่ยนแปลงสังคม ผู้คน และสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

สำหรับชมรม Between the Roots ซึ่งเป็นชมรมที่เน้นในด้านการรณรงค์ 3 คีย์หลัก ได้แก่ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) และการสร้างสังคมที่ยั่งยืน (Sustainable Society) ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคม ไม่ว่าจะเป็นการทำไบโอแก๊สบอลลูน เพื่อเป็นแหล่งพลังงานทดแทนการใช้แก๊ส LPG เพื่อการหุงต้ม ประกอบอาหาร ให้แก่ชาวบ้านในเขตพื้นที่ป่าสงวน ตำบลป่าเด็ง จังหวัดเพชรบุรี, การสอนภาษาอังกฤษให้แก่เด็กโรงเรียน ตชด. บ้านห้วยโสก ตำบลป่าเด็ง จังหวัดเพชรบุรี

ส่วนกิจกรรมล่าสุด ที่ได้ไอเดียที่ต้องการต่อยอดการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีจากการเป็นสมาชิก Fab Lab Siam ซึ่งเป็นแล็บที่ใช้เปลี่ยนภาพในจินตนาการให้กลายเป็นของจริงที่สามารถนำไปต่อยอดได้อีกมากมาย ซึ่งผมได้คลุกคลีใน Fab Lab Siam ตั้งแต่เด็กๆ มีโอกาสฝึกใช้อุปกรณ์ต่างๆ เช่น เครื่อง Laser Cutter เครื่อง 3D Printer และโปรแกรมการออกแบบต่างๆ ครั้งนี้ชวนเพื่อนๆ ในชมรม Between the Roots มาประดิษฐ์สื่อการเรียนการสอนให้กับผู้พิการทางสายตา เพื่อมอบให้แก่ศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาเพื่อคนตาบอด ซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์ทำจากวัสดุรีไซเคิล นอกจากจะช่วยผู้พิการแล้ว ยังสามารถเปลี่ยนขยะให้เป็นสิ่งของที่สร้างประโยชน์ตอบแทนสู่สังคมได้อีกด้วย

เปิดที่มาไอเดียนวัตกรรมสื่อการเรียนการสอนอักษรเบรลล์จากขวดพลาสติกที่เหลือใช้แล้วนำมารีไซเคิล และเทคโนโลยี 3D Printer โดยสื่อการเรียนการสอนของชมรม Between the Roots ที่ผลิตขึ้นด้วยแรงบันดาลใจของกลุ่มนักเรียนรุ่นใหม่ที่มีหัวใจอาสา มีลักษณะคล้ายโดมิโน แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นอักษรภาษาอังกฤษ หรือตัวเลข อีกส่วนหนึ่งเป็นอักษรเบรลล์ ทำจากเส้นพลาสติกที่แปรรูปมาจากขวดพลาสติกเหลือใช้นำมารีไซเคิล โดยการออกแบบด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์และใช้เครื่อง 3D Printer ผลิตออกเป็นสื่อการเรียนการสอนอักษรภาษาอังกฤษ ตั้งแต่ A-Z และตัวเลข 0-9 ความพิเศษของแผ่นอักษรนี้จะมีปุ่มนูนอักษรเบรลล์กำกับไว้ ไม่เพียงเฉพาะแค่สำหรับน้องๆ ผู้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงทุกคนที่ต้องการจะเรียนรู้อักษรเบรลล์ ผ่านสื่อการสอนที่ผลิตขึ้นจากแรงบันดาลใจและนวัตกรรมแห่งอนาคตที่รวมอยู่ในห้อง Fab Lab Siam

ทั้งนี้ การเริ่มต้นคิดค้นนวัตกรรมเพื่อสังคมในวันนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ โดยก้าวต่อไปของชมรม Between the Roots ยังคงมุ่งเน้นการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อสร้างสังคมที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน โดยยึด 3 คีย์หลักของชมรมเป็นตัวขับเคลื่อน ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีจาก Fab Lab Siam เพื่อออกแบบ ทดลอง คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดขึ้นจากจินตนาการให้กลายเป็นจริง เพื่อทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนและทุกสิ่งบนโลกใบนี้ดีขึ้นมากที่สุดเท่าที่จะทำได้.

ขอบคุณ... https://www.thairath.co.th/news/society/2787332

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 23 พ.ค. 67
วันที่โพสต์: 23/05/2567 เวลา 15:06:37 ดูภาพสไลด์โชว์ เด็กไทยวัย 16 สร้างนวัตกรรมจากวัสดุเหลือใช้ เป็นสื่อการสอนให้ผู้พิการทางสายตา