พม.เป็น''สื่อกลาง''ในการรับบริจาคช่วยผู้เดือดร้อน

พม.เป็น''สื่อกลาง''ในการรับบริจาคช่วยผู้เดือดร้อน

รองปลัด พม.ระบุ กระทรวง พม.เป็นสื่อกลางในการรับบริจาคช่วยส่งต่อให้กับผู้ยากไร้ หรือ กลุ่มเปราะบางในสังคม ไม่สะดวกโทร 1300 รับของบริจาคถึงที่ ถ้าบริจาคเป็นเงินสามารถลดหย่อนภาษีได้

นางพัชรี อาระยะกุล รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึงศูนย์รับบริจาคกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก่อตั้งเมื่อปี 2561 เนื่องจากอยากให้ประชาชนผู้ใจบุญมีส่วนร่วมดูและประชาชนร่วมกับกระทรวงพม. เพราะว่า กระทรวงพม.ดูแลประชาชนทุกคน ทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง

ซึ่งจะเป็น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็กและเยาวชน ผู้เร่ร่อน ขอทาน คนยากไร้ คนด้อยโอกาส กระทรวง พม. ดูแลหมด กลุ่มเปราะบางจึงเป็นกลุ่มที่ขาดโอกาสในสังคม เพราะฉะนั้นลำพังแค่กระทรวง พม.จะเข้าไปช่วยได้ไม่ครบ เรามองว่าประชาชนที่พอจะมีทั้งเงิน สิ่งของที่อาจจะเหลือ นอกเหนือจากที่ใช้อยู่เป็นประจำที่คิดว่าอยากจะช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ก็สามารถมาบริจาคได้ที่กระทรวง พม

กระทรวง พม.เรามีศูนย์รับบริจาคมานานแล้ว แต่เป็นลักษณะการบริจาคตามหน่วยงานที่เป็นสถานสงเคราะห์ เช่น สถานสงเคราะห์เด็ก สถานสงเคราะห์คนพิการ สถานสงเคราะห์ผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่จะไปบริจาคในส่วนนี้อยู่แล้ว แต่เราอยากให้มีจุดกลางในการที่เมื่อคนมาบริจาคจะได้รู้ว่า ทั้งหมดที่มีผู้มาบริจาคให้กับเรา ให้กับกระทรวงฯ เป็นสิ่งของมีเท่าไหร่ อะไรบ้าง ถ้าเป็นเงินมีเท่าไหร่ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และตรวจสอบได้ง่ายมากขึ้น

พม.เป็น''สื่อกลาง''ในการรับบริจาคช่วยผู้เดือดร้อน

ถ้าประชาชนคนใดที่ขัดสน อยากได้ความช่วยเหลือ เราก็จะเป็นสื่อกลางที่จะประชาสัมพันธ์ในเว็บไซต์ของศูนย์รับบริจาค เช่น ผู้สูงอายุอยากได้ไม้เท้า คนพิการอยากได้วิลแชร์ ใครที่มีอยู่และอยากบริจาคก็จะได้ matching กันระหว่างผู้ให้กับผู้รับ เพราะว่าลำพังเฉพาะ พม. เราก็มีให้ แต่ได้ไม่ครบทุกคน เพราะบางอย่างไม่สามารถจัดซื้อได้ เมื่อเป็นสิ่งของที่ไม่สามารถจัดซื้อได้ถ้าเป็นของบริจาคจะทำให้ผู้ที่เดือดร้อนได้รับการดูแลช่วยเหลือได้

ถ้าประชาชนต้องการมาบริจาคที่กระทรวง พม. สามารถบริจาคได้ เพราะมีศูนย์รับบริจาคอยู่ที่ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 ซึ่งเราจัดให้เป็น one stop service เรื่องของการรับบริจาคด้วย คือสามารถมาติดต่อได้ที่กระทรวงได้เลย ถ้ามาติดต่อที่กระทรวงจะมีระบบขั้นตอนคือ มีใบแจ้งความจำนง ชื่ออะไร ต้องการบริจาคอะไร จำนวนกี่ชิ้น หรือจะบริจาคเงินก็ได้ แล้ววัตถุประสงค์ในการบริจาคสามารถระบุได้

เช่น ระบุว่ามาบริจาคเพื่อช่วยเหลือสถานสงเคราะห์เด็กอ่อนพิการสมองและปัญญาบ้านเฟื่องฟ้า กระทรวง พม.จะนำส่วนที่ได้รับบริจาคส่งไปยังสถานสงเคราะห์เด็กพิการของบ้านเฟื่องฟ้า หรือระบุว่าบริจาคเงินเพื่อซื้อข้าวสารให้กับชุมชนที่เดือดร้อนไม่มีข้าวทาน เป็นต้น โดยจะมีใบเสร็จให้ว่าท่านบริจาคสิ่งของอะไรบ้าง ถ้าเป็นเงินก็จะออกเป็นใบเสร็จรับเงิน และจะมีหนังสือตอบขอบคุณ

กรณีท่านไม่สามารถมาติดต่อด้วยตัวเอง เช่น อยู่ต่างจังหวัด สามารถบริจาคที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด หรืออาจไปที่หน่วยงานของกระทรวง พม. เช่น บ้านพักเด็กและครอบครัว ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง หรือไม่อยากเดินทาง สามารถโทรมาที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 หรือเบอร์ 02 659 6476 จะมีเจ้าหน้าที่รับโทรศัพท์อยู่ เช่นอาจแจ้งความจำนงว่าเป็นสิ่งของชิ้นใหญ่ ไม่สามารถขนมาได้ ว่าให้กระทรวง พม. ช่วยไปรับ ซึ่งเราก็มีบริการไปรับถึงบ้านของท่านได้ แต่ต้องบอกก่อนว่าจะให้ไปรับ ขออย่าหลอกลวง ไม่ใช่สิ่งของที่ไม่อยากใช้แล้ว ตู้พัง เตียงพัง ขอความกรุณาว่าเป็นของที่ยังใช้ได้ เพราะเราไม่มีหน่วยงานที่จะมาซ่อมแซม เพราะฉะนั้นเราอยากได้ของที่ผ่านเราแล้วส่งถึงผู้รับและสามารถใช้ได้เลย

ส่วนแนวทางในการช่วยเหลือ เราช่วยเหลือทั้ง หน่วยงานรัฐ เช่น สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด บางทีของในจังหวัดอาจจะไม่มีก็สามารถขอเข้ามาที่ศูนย์รับบริจาค ศูนย์รับบริจาคก็จะจัดสรรลงไปให้ หรือมูลนิธิ สมาคมที่ลำบาก อย่างในช่วงภาวะวิกฤตโควิด-19 บางมูลนิธิที่ดูแลเด็กไม่มีเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ และเด็กยังอยู่ในความรับผิดชอบและการดูแล บางทีขาดนม ข้าวสาร ก็มาขอที่กระทรวง พม. และได้จัดสรรลงไปช่วย

เราช่วยในหลายมูลนิธิเพื่อที่จะให้สามารถดูแลเด็กในอุปการะ หรืออาจจะเป็นผู้สูงอายุ ผู้พิการที่อยู่ในความดูแล นอกจากให้กับองค์กรเราก็ยังลงพื้นที่ชุมชน เราได้ให้ข้าราชการของกระทรวง พม. ลงชุมชนทั้งหมด ตั้งแต่ผู้บริหารถึงผู้ปฏิบัติเข้าไปช่วยประชาชนในชุมชน ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่มีโอกาสเข้าถึงสิทธิเบื้องต้นที่ควรจะได้จากภาครัฐ เราจึงลงไปสำรวจกลุ่มนี้ที่ยังตกหล่นอยู่ เข้าไม่ถึงสิทธิต่าง ๆ เพราะฉะนั้นการช่วยเหลือเร่งด่วนที่ควรช่วยก็คือ จัดถุงยังชีพลงไป

“ในอนาคตหวังว่า เราอยาก matching ให้กับคนที่เดือดร้อนสามารถแจ้งเข้ามาที่เว็บไซต์ของกระทรวง ว่าเขาต้องการอะไร และให้ประชาชนทั่วไปคนไหนที่มีของตามที่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ matching กันพอดี เราก็แค่เป็นตัวกลาง โดยให้เขาส่งถึงกันเลย และเรายินดีที่จะให้เราออกใบเสร็จ แบบตอบขอบคุณให้ กระทรวง พม. ก็ยินดีทำ ถือว่าเราเป็นตัวกลางในการส่งต่อความช่วยเหลือไปถึงประชาชนที่เดือดร้อน” รองปลัด พม. กล่าว

นางพัชรี กล่าวว่า ตอนนี้มีบริษัทแม็คโคร ได้มีโครงการพิเศษร่วมกับกระทรวง พม. คือ บางคนอยากบริจาคแต่ไม่อยากออกไปซื้อของ ทางแม็คโครได้ออกบริการว่า ลูกค้ามีรายการสินค้า โทรไปที่แม็คโครและแจ้งรายการสินค้าที่ต้องการซื้อ จากนั้นโอนชำระเงินเหมือนซื้อของออนไลน์ทั่วไป และแจ้งว่าจะให้ส่งไปที่ไหน เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับคนที่ไม่มีเวลา แต่อยากบริจาคช่วยเหลือคนจนหรือคนที่เดือดร้อน ตอนนี้ที่เปิดนำร่องคือจังหวัดนนทบุรีและปทุมธานี

ในนามของกระทรวง พม. ขอขอบพระคุณผู้ใจบุญที่ได้บริจาคที่ได้บริจาคสิ่งของหรือบริจาคเงิน ขอแจ้งให้ท่านทราบว่า ของทุกชิ้น เงินทุกบาทถึงผู้รับ ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่เดือดร้อน กระทรวง พม. ก็เป็นแค่ทางสื่อกลางในการนำสิ่งของหรือเงินของท่านไปสู่ผู้รับที่เขาเดือดร้อน สำหรับท่านอยากจะบริจาคแต่ไม่รู้ช่องทางว่าจะบริจาคที่ใคร บริจาคที่ไหน ขอให้มาที่กระทรวง พม. หรือหน่วยงานของกระทรวงอยู่ทุกจังหวัด สามารถไปรับบริจาคได้

หากท่านไม่สามารถมาได้ด้วยตนเอง สามารถโทรไปที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 หรือโทรมาที่ 02 659 6476 นอกจากนี้ กระทรวง พม. ยังร่วมกับกรมสรรพากร อำนวยความสะดวกแก่ผู้บริจาคเงิน ในการนำหลักฐานไปลดหย่อนภาษี ผ่านระบบบริจาคอิเลคทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากร โดยขั้นต่ำการบริจาคตั้งแต่ 300 บาท สามารถลดหย่อนภาษีได้ 1 เท่า

ขอบคุณ... https://www.dailynews.co.th/politics/782361

ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 29 มิ.ย.63
วันที่โพสต์: 30/06/2563 เวลา 10:43:24 ดูภาพสไลด์โชว์ พม.เป็น''สื่อกลาง''ในการรับบริจาคช่วยผู้เดือดร้อน