ทวงสิทธิ์คนพิการกาฬสินธุ์ อึ้ง!พบยักยอกทั่วประเทศกว่าพันล้าน
ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการ นำผู้ปกครองคนพิการกาฬสินธุ์เรียกร้องสิทธิ์ และขอคำตอบผลการตรวจสอบประธานชมรมผู้ปกครองคนพิการฯ ยักยอกเงินค่าจ้างเหมาบริการตามมาตรา 35 คนละกว่า 1 แสนบาท ชี้คณะกรรมการมีพฤติกรรมน่าสงสัย กลับตาลปัตรให้คนร้องเป็นคนผิด ระบุทั่วประเทศเกิดปัญหาลักษณะคล้ายกัน รวมวงเงินกว่า 1,500 ล้านบาท
จากกรณีตัวแทนผู้ปกครองคนพิการใน จ.กาฬสินธุ์ ออกมาร้องเรียนเรื่องเงินค่าแรงผู้ดูแลคนพิการ ในโครงการจ้างเหมาบริการตามมาตรา 35 คนละ 1 แสนบาทต่อปี หรือเดือนละเกือบหมื่นบาท ถูกชมรมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญา จ.กาฬสินธุ์ยักยอก ด้วยวิธีให้เปิดบัญชีทำงาน จากนั้นเก็บบัตรเอทีเอ็มและสมุดบัญชีก่อนจ่ายให้รายเดือนแค่คนละ 2,000-4,000 บาท ขณะที่มีการโอนเงินเข้าจริงเกือบหมื่นบาท เชื่อมีขบวนการสูบเลือดคนพิการแฝงในระดับชมรมถึงระดับสูง เรียกร้องเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ ขณะที่นายไกรสร กองฉลาด ผวจ.กาฬสินธุ์ สั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และมอบหมายนายสนั่น พงษ์อักษร รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ กำกับดูแลตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น
เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 เวลา 10.30 น. ที่ศูนย์ดำรงธรรม ศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ นายปรีดา ลิ้มนนทกุล ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการ พร้อมคณะ และนางฐานิดา อนุอัน อายุ 46 ปี บ้านเลขที่ 24 หมู่ 1 บ้านเสริมชัยศรี ต.นิคม อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ ผู้ร้องเรียนและตัวแทนผู้ปกครองคนพิการ 10 คน ได้นำหนังสือร้องเรียนเรียกร้องสิทธิ์ให้คนพิการมายื่นต่อนายไกรสร กองฉลาด ผวจ.กาฬสินธุ์ โดยมีนายสนั่น พงษ์อักษร รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ พ.อ.มานพ ไขขุนทุด รอง ผอ.กอ.รมน.จ.กาฬสินธุ์ นายไชยา เครือหงส์ หัวหน้าศูนย์ดำรงธรรม จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ทหาร กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จ.กาฬสินธุ์ และผู้แทนสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.)กาฬสินธุ์ เป็นผู้รับเรื่อง
นายปรีดา ลิ้มนนทกุล ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการ กล่าวว่า ตามที่นางฐานิดาฯ หนึ่งในผู้ร้องเรียน ได้รับสิทธิ์จากชมรมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญา จ.กาฬสินธุ์ ทำสัญญากับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งได้จัดสรรงบประมาณลงมาเพื่อมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยการสร้างงานสร้างอาชีพ และยกระดับคุณภาพชีวิตครอบครัวคนพิการให้ดีขึ้น ด้วยโครงการจ้างเหมาผู้ดูแลคนพิการตามมาตรา 35 ผ่านสำนักงานจัดหางานจังหวัด และ พมจ.กาฬสินธุ์ โดยมีชมรมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญา จ.กาฬสินธุ์ เป็นที่ทำการและดำเนินการ
นายปรีดา กล่าวอีกว่า แต่จากการดำเนินงานที่ผ่านมา ได้รับการร้องเรียนจากผู้ได้รับสิทธิ์มาตรา 35 กรณีได้รับค่าจ้างไม่ครบตามที่ระบุในสัญญา คือเดือนละ 9,125 บาท หรือปีละ 109,500 บาท แต่ได้รับจริงเพียง 2,000-4,000 บาท จากการตรวจสอบทราบว่าทางชมรมฯ ยังเก็บสมุดเงินฝาก บัตรเอทีเอ็ม และทำข้อตกลงขึ้นมาใหม่กับผู้รับจ้าง อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบหนังสือร้องเรียนของเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์ฯ และทราบว่าทาง จ.กาฬสินธุ์เอง ก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบด้วย แต่ถึงขณะนี้ยังไม่มีคำตอบจากทางจังหวัด และยังไม่สามารถหาคนมารับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งๆที่มีความผิดชัดเจน และสั่งยกเลิกใบอนุญาตตั้งชมรมฯ ตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค.2561 ล่าสุดทราบว่า เมื่อสัปดาห์ก่อน ได้รับแจ้งว่าทางคณะกรรมการตรวจสอบ ได้มีการประชุมเพื่อไกล่เกลี่ย และยุติเรื่องที่เกิดขึ้น แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ โดยภาพรวมมีความพยายามที่จะให้ผู้ร้องเรียนเป็นฝ่ายผิด ขณะที่ทางชมรมยังไม่ยอมรับผิดชอบใดๆ”
นางชนัญชิดา ลิ้มนนทกุล เลขานุการเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์ฯ กล่าวว่า ส่วนราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องเอง ยังมีพฤติกรรมเข้าข้างชมรมฯ มีความพยายามที่จะบิดเบือนข้อมูลที่เป็นจริง เพื่อเข้าข้างผู้กระทำผิด แทนที่จะช่วยกันโอบอุ้มดูแลคนพิการ กลับไปเอื้อทางชมรมฯ ซึ่งเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์มองว่าไม่ถูกต้อง ในฐานะเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการ จึงได้เดินทางมายื่นหนังสือ กรณีคนพิการและผู้ดูแลคนพิการถูกละเมิดสิทธิ์ และได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม จากขบวนการทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งอาจมีเจ้าหน้าที่รัฐระดับจังหวัดมีส่วนเกี่ยวข้อง โดยร้องเรียนต่อนายไกรสร กองฉลาด ผวจ.กาฬสินธุ์ เพื่อเรียกร้องสิทธิ์ที่พึงมีพึงได้ให้คนพิการและผู้รับจ้างตามมาตรา 35 และทำการตรวจสอบให้ชี้ชัดต่อไป
“ตามนโยบายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ตั้งธงปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นให้หมดสิ้นไปจากประเทศไทย แต่พฤติการณ์แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับมาตรา 35 ใน จ.กาฬสินธุ์ โดยการติดตามของเครือข่ายพิทักษ์สิทธิฯ กลับสวนทางกัน ทั้งๆที่มีมูลความผิดชัดเจน แต่ภาพที่เห็นคือส่วนราชการมีท่าทีช่วยเหลือผู้กระทำผิด เป็นพฤติกรรมที่น่าสงสัย จึงเป็นประเด็นที่ต้องเข้ามาทวงตามสิทธิ และติดตามคำตอบสุดท้ายจากทางจังหวัดวันนี้” นางชนัญชิดากล่าว
อย่างไรก็ตาม กรณีที่เกิดขึ้นกับผู้พิการ หรือเงินกองทุนเกี่ยวกับผู้พิการต่างๆ ทางเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากทั่วประเทศประมาณ 40-50 ราย ขณะที่มีวงเงินที่สูญหายประมาณ 1,500 ล้านบาท
ด้านนายสนั่น พงษ์อักษร รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ทางจังหวัดได้รับรายงานมาตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2561 ซึ่งนายไกรสร กองฉลาด ผวจ.กาฬสินธุ์ ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้สั่งการให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ โดยมอบหมายให้สำนักงาน พมจ.เป็นประธานกรรมการฯ ซึ่งทราบว่าเรื่องยังอยู่ในขั้นตอนของการตรวจสอบของคณะกรรมการ ทั้งนี้ จะเร่งติดตามผลการดำเนินการและพิจารณาหาข้อยุติโดยเร็วที่สุด เพราะเป็นความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้พิการ ที่ต้องได้รับการูแลเอาใจใส่จากส่วนราชการอย่างดีที่สุด