ชู 4 มาตรการสร้างสังคมสูงวัยคุณภาพ ขยายอายุทำงาน-เพิ่มทักษะอาชีพ
นางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนสังคมสูงวัยคนไทยอายุยืน ได้ยกร่างมาตรการขับเคลื่อนสังคมสูงวัยคนไทยอายุยืน 4 มิติแล้วเสร็จ โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปและผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอร่างมาตรการต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบในหลักการเพื่อนำสู่การปฏิบัติ
สำหรับมาตรการขับเคลื่อนสังคมสูงวัยคนไทยอายุยืน 4 มิติ มีเป้าหมายให้ผู้สูงอายุมีหลักประกันในการดำรงชีวิตทุกมิติ สามารถพึ่งตนเองได้อย่างอิสระและยาวนาน ประกอบด้วย มิติเศรษฐกิจ ประกอบด้วย 1.การสร้างหลักประกันรายได้ยามสูงวัย โดยบูรณาการระบบบำเหน็จ/ บำนาญ การส่งเสริมและสนับสนุนประชากรวัยทำงานในการเตรียมความพร้อม สร้างระบบการออมทั้งแบบถ้วนหน้าและสมัครใจผ่านกลไกต่างๆ รองรับความต้องการในวัยชรา 2.การส่งเสริมการทำงานในยามสูงวัย โดยขยายอายุการทำงาน เพิ่มพูนทักษะและอาชีพทางเลือกในวัยทำงาน เพื่อประโยชน์ในยามสูงอายุ 3.การกระจายแหล่งการจ้างงานให้อยู่ใกล้ชุมชนชนบท มิติสภาพแวดล้อม มีการแก้กฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และบริการสาธารณะเพื่อรองรับและเข้าถึงการใช้ประโยชน์สำหรับผู้สูงอายุรวมถึงคนพิการอย่างทั่วถึง
อธิบดี ผส.กล่าวด้วยว่า มิติสังคม โดยการเพิ่มบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการพัฒนาระบบรองรับสังคมสูงวัยคนไทย อายุยืน สร้างการมีส่วนร่วมของภาคต่างๆ “บวร” (บ้าน วัด วิสาหกิจเพื่อสังคม โรงเรียน โรงพยาบาล) รองรับสังคมสูงวัยในชุมชน การกำหนดให้มีผู้พิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุ และการส่งเสริมผู้ที่มีความพร้อมให้มีบุตรและชะลอการตั้งครรภ์ของผู้ที่ไม่พร้อม มิติสุขภาพ โดยการบูรณาการศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบล เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยปฏิบัติการในการบูรณาการกิจกรรมและทรัพยากร การยกระดับผู้บริบาลอาชีพ และการจัดให้มีศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพทุกอำเภอควบคู่กับการบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ผู้ป่วยระยะกลาง นอกจากนี้ยังมีเรื่องของเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เชื่อมโยงกับทุกมิติ โดยการจัดทำบัญชีนวัตกรรมอุปกรณ์ช่วยเหลือในการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ มีระเบียบให้ อปท.ดำเนินภารกิจด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ การส่งเสริมให้มีระบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ช่วยดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ และการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้เพิ่มพูนทักษะการทำงานและทักษะชีวิตและปรับปรุงกฎหมายให้สามารถนำเงินจากกองทุนที่สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อใช้ประโยชน์รองรับสังคมสูงวัย.