ผู้พิการหนุนขึ้นทะเบียนผู้ค้าเพิ่ม พิมพ์สลากเกิน100ล้านใบแก้หวยแพง
ผู้พิการหนุนสำนักงานสลากฯ เปิดขึ้นทะเบียนคนขายหวยเพิ่มทั่วประเทศ ช่วยสกัดลอตเตอรี่แพง แนะพิมพ์เพิ่มเกิน 100 ล้านใบให้พอขาย
สืบเนื่องจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล มีนโยบายจะปรับปรุงบัญชีผู้ค้าสลากฯรายย่อยกันใหม่ เพื่อแก้ปัญหาสลากเกินราคา โดยจะพิจารณาตัดสิทธิข้าราชการ นอมินี และกลุ่มคนตายออกไป พร้อมกับเปิดโอกาสให้ผู้ค้าตัวจริงเข้ามาขึ้นทะเบียนได้ ผ่านการพิจารณาของผู้ว่าราชการจังหวัด
นายอำนวย กลิ่นอยู่ ประธานสมาพันธ์คนพิการผู้ค้าสลากแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เห็นด้วยกับการที่สำนักงานสลากฯ จะเปิดขึ้นทะเบียนผู้ค้าสลากฯ รายย่อยเพิ่มเติมทั่วประเทศ เพื่อให้คนขายลอตเตอรี่ตัวจริง มีโอกาสเข้ามารับสลากฯราคาต้นทุนใบ 70.40 บาทจากสำนักงานโดยตรงไปขายต่อใบ 80 บาท แทนจากปัจจุบันที่ต้องไปซื้อผ่านพ่อค้าคนกลางที่ถูกเก็งกำไรเกิน 80 บาทมาอยู่แล้ว ซึ่งน่าจะช่วยให้สลากฯขายได้ตามกฎหมายมากขึ้น แต่ไม่เห็นด้วยที่จะไปยกเลิกสิทธิกับผู้ค้าที่มีชื่ออยู่เดิม หรือไปไล่จับคนขายรายย่อยที่รับมาต้นทุนแพง เพราะเป็นการแก้ปัญหาปลายทาง
อย่างไรก็ตาม เสนอให้รัฐบาลเพิ่มปริมาณการซื้อจองสลากฯ จากคนละ 5 เล่มต่องวด เพิ่มเป็น 10 เล่ม เพื่อให้เพียงพอต่อการขาย เพราะปกติคนขายลอตเตอรี่จะขายเฉลี่ยอยู่งวดละ 10 เล่มขึ้นไปถึงพอประทังชีวิต แต่ถ้าเปิดให้ซื้อจองแค่ 5 เล่ม สุดท้ายก็ต้องไปหาซื้อสลากฯจากพ่อค้าคนกลางเพิ่มอยู่ดี ขณะเดียวกันควรเพิ่มจุดซื้อจองลอตเตอรี่จากเดิมจำกัดแค่ตูเอทีเอ็มธนาคารกรุงไทย ซึ่งแออัด เพิ่มเป็นธนาคารอื่นๆ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร นอกจากนี้ต้องการให้สำนักงานสลากฯ ปรับเพิ่มเพดานการพิมพ์ลอตเตอรี่ต่องวดให้เกิน 100 ล้านฉบับ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ เพราะตอนนี้เห็นได้ชัดว่าความต้องการลอตเตอรี่มีสูงกว่าของเยอะมาก จนทำให้ราคาแพง
“ปัญหาลอตเตอรี่ตอนนี้อยู่ที่ของมีไม่พอขายทำให้เกิดการเก็งกำไรกันมาก ดังนั้นทางที่ดีรัฐบาลควรจะขยายเพดานพิมพ์ลอตเตอรี่เพิ่มให้พอ พร้อมกับเปิดเสรีให้คนขายตัวจริงมาขึ้นทะเบียน และซื้อจองกันได้ไม่ต่ำกว่าคนละ 10 เล่ม ซึ่งน่าจะช่วยตัดวงจรการเก็งกำไรลอตเตอรี่จากพ่อค้าคนกลางได้ นอกจากนี้ยังอยากเห็นรัฐเร่งแก้ปัญหาสลากฯรวมชุด เพราะเป็นหนึ่งในตัวการทำให้ลอตเตอรี่แพง โดยวิธีแก้ไข ควรเปลี่ยนแปลงระบบการพิมพ์ไม่ให้มีการเรียงเลขทั้งหมด 100 ล้านใบ จากปัจจุบันที่มีการพิมพ์แบบคละเลขบางส่วน และเรียงเลขอยู่บางส่วน”