กฎใหม่ส่งแรงงานไปต่างประเทศของอินโดนีเซีย กระทบผู้ว่าจ้างพิการไต้หวัน
อินโดนีเซียประกาศกฎใหม่ แรงงานไปทำงานต่างประเทศ นายจ้าง-บริษัทจัดหางานต้องออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด บังคับใช้ต้นปี 2564 ด้านสหพันธ์ผู้บาดเจ็บที่ไขสันหลังไต้หวัน เรียกร้องอินโดนีเซียยุติแผนการที่ไม่เป็นธรรมต่อนายจ้างนี้
ช่วงเดือน ก.ค. 2563 ในช่วงวิกฤต COVID-19 อินโดนีเซียประสบกับสถานการณ์โรคระบาดเลวร้ายมากที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชีย เพื่อคำนึงถึงการป้องกันโรคระบาด จึงได้ระงับการส่งออกแรงงานไปทำงานยังต่างประเทศตั้งแต่ช่วงปลายเดือน มี.ค. 2563 เป็นต้นมา และได้เตรียมการเปิดการส่งออกแรงงานรอบใหม่ โดยจะพิจารณาเปิดให้ไต้หวันและฮ่องกงเป็นอันดับแรก
จากนั้นเมื่อช่วงกลางเดือน ส.ค. 2563 อธิบดีกรมคุ้มครองสวัสดิการแรงงานในต่างประเทศ กระทรวงแรงงานอินโดนีเซีย ระบุว่ารัฐบาลอินโดนีเซียออกกฎใหม่ หวังป้องกันแรงงานไปทำงานต่างประเทศถูกเอาเปรียบ โดยอธิบดีกรมคุ้มครองสวัสดิการแรงงานในต่างประเทศ กล่าวในงานแถลงข่าวว่าจะร่วมมือกับบริษัทจัดหางานที่ถูกกฎหมาย และหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศเป้าหมาย เพื่อผลักดันโครงการแรงงานอินโดนีเซียเดินทางไปทำงานต่างโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ หรือโครงการแรงงานอินโดนีเซียไปทำงานต่างประเทศเสียค่าใช้จ่ายเป็นศูนย์
เบื้องต้นตั้งเป้าหมายใน 6 เดือนข้างหน้า หรือเริ่มจากต้นปี 2564 แรงงานอินโดนีเซียทุกคนที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศใน 10 ประเภทงานและกิจการ ประกอบด้วยตำแหน่งงานอย่างเช่น ผู้อนุบาล ผู้ช่วยงานบ้าน พนักงานโรงงานและลูกเรือประมงเป็นต้น นายจ้างและบริษัทจัดหางานจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบและออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นค่าฝึกอบรมก่อนการเดินทาง ค่าบริการจัดหางานหรือที่เรียกกันว่าค่าหัวคิว และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่นค่าธรรมเนียมในการยื่นขอวีซ่าเข้าเมือง ค่าตั๋วเครื่องบินเดินทางเป็นต้น
ต่อมาความเคลื่อนไหวนี้ของอินโดนีเซียได้ก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่นายจ้างไต้หวันที่ว่าจ้างผู้อนุบาลอินโดนีเซียเป็นอย่างยิ่ง ด้านกระทรวงแรงงานไต้หวันระบุว่าว่าฝ่ายอินโดนีเซียประกาศนโยบายดังกล่าวโดยไม่เคยหารือกับฝ่ายไต้หวันมาก่อน ดังนั้นได้ทำหนังสือขอให้ชี้แจงในเรื่องนี้แล้ว
ช่วงปลายเดือน ส.ค. 2563 สหพันธ์ผู้บาดเจ็บที่ไขสันหลังของไต้หวันนำนายจ้างซึ่งเป็นผู้พิการกว่า 100 คน นั่งรถเข็นไฟฟ้าไปชุมนุมประท้วงที่หน้าที่ทำการกระทรวงแรงงานในกรุงไทเป แสดงความไม่พอใจและเรียกร้องให้กระทรวงแรงงานดำเนินการเจรจากับรัฐบาลอินโดนีเซีย กรณีที่กระทรวงแรงงานอินโดนีเซียมีแผนจัดส่งแรงงานมาทำงานไต้หวัน โดยผลักภาระให้นายจ้างรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของแรงงานอินโดนีเซียทั้งหมด ตั้งแต่ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมของผู้อนุบาลก่อนการเดินทาง ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าทำหนังสือเดินทางและค่าธรรมเนียมในการยื่นขอวีซ่าเข้าเมือง ฯลฯ
นายเฉินซ่านซิว ประธานสหพันธ์ผู้บาดเจ็บที่ไขสันหลังของไต้หวันชี้ว่า กรมคุ้มครองสวัสดิการแรงงานในต่างประเทศ กระทรวงแรงงานอินโดนีเซีย ประกาศโดยพลการ ไม่ได้หารือกับกระทรวงแรงงานไต้หวันก่อน ตั้งแต่ปีใหม่นี้เป็นต้นไป นายจ้างที่นำเข้าแรงงานอินโดนีเซีย จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทุกอย่าง ประธานสหพันธ์ผู้บาดเจ็บที่ไขสันหลังของไต้หวันผู้นี้กล่าวว่า นายจ้างที่ว่าจ้างผู้อนุบาลต่างชาติ เพื่อให้มาดูแลผู้ป่วยที่เป็นผู้พิการระดับรุนแรง ซึ่งต้องการผู้อนุบาลตลอด 24 ชั่วโมง ครอบครัวของนายจ้างเหล่านี้ ส่วนใหญ่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ หากจะผลักภาระให้นายจ้างรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของผู้อนุบาลทั้งหมด ซึ่งคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 70,000-100,000 เหรียญไต้หวัน จะส่งผลให้ครอบครัวของนายจ้างประสบกับภาวะลำบาก จึงเรียกร้องให้กระทรวงแรงงานเจรจาต่อรองกับรัฐบาลอินโดนีเซีย ยุติแผนการที่ไม่เป็นธรรมต่อนายจ้างดังกล่าว
จากสถิติของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการแห่งชาติของไต้หวัน จนถึงปลายปี 2562 พบว่าแรงงานข้ามชาติอินโดนีเซียที่เดินทางมาไต้หวันมีจำนวนราว 276000 คน คิดเป็นสัดส่วนจากทั้งหมดของแรงงานภาคบริการสวัสดิการสังคม 77% และแรงงานภาคอุตสาหกรรม 16%