วิศวะ พีไอเอ็ม ผุดไอเดีย “HAND ON” แอปพลิเคชันสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน คว้ารางวัล INNO for Change 2020 by NIDA
เราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ซึ่งนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือสังคมก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งได้ถูกพัฒนาเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถือว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้ใช้งานทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้พิการ ปัจจุบันผู้พิการทางการได้ยินพบมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ตามประเภทความพิการ ซึ่งมีผู้พิการประเภทการได้ยินหรือสื่อความหมายจำนวน 372,189 คน จากจำนวนทั้งหมด 1,995,767 คน จากข้อมูลดังกล่าวนักศึกษาชั้นปีที่3 สาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) มีความมุ่งหวังที่จะใช้ศักยภาพ ความรู้ เพื่อต้องการเป็นส่วนหนึ่งช่วยเหลือสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้พิการทางการได้ยินให้มีชีวิตที่ดีขึ้น จึงระดมสมองเกิดเป็นแนวคิดนวัตกรรมสร้างสรรค์สังคม “HAND ON” แอปพลิเคชันสำหรับผู้พิการทางการได้ยินที่เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เพียงใช้งานผ่านสมาร์ทโฟน ส่งแข่งขันพร้อมรับรางวัลชนะเลิศจากงาน INNO for Change 2020 by NIDA โครงการประกวดแนวคิดนวัตกรรมของเยาวชนคนรุ่นใหม่เพื่อสร้างสรรค์สังคม ภายใต้คอนเซปต์ “Innovation for Change” นำเสนอผลงานผ่านวิดีโอความยาว 10-15 นาที โดยการทำงานของแอปพลิเคชันแบ่งออกเป็น 5 ส่วนได้แก่
ส่วนการแปลภาษามือ สามารถแปลภาษาภาษามือเป็นตัวอักษร และแปลจากตัวอักษรเป็นภาษามือ ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจากพจนานุกรมภาษามือไทยอิเล็กทรอนิกส์ โดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ใช้หลักการ Machine Learning และ Image Processing ได้แบบเรียลไทม์เพื่อลดช่องว่างการสื่อสารระหว่างผู้พิการทางการได้ยินและคนทั่วไป ทำให้ติดต่อสื่อสารได้รวดเร็ว เช่น การติดต่อราชการ การเข้ารับการรักษาพยาบาลส่วนของกระดานข่าว เป็นส่วนแสดงวิดีโอภาษามือรูปแบบของข่าวหรือเหตุการณ์ เกร็ดความรู้ต่างๆ เช่น การทำอาหาร การประดิษฐ์ของใช้ และอัดโหลดคลิปวิดีโอตัวเองลงได้เพื่อเป็นการแชร์ข้อมูล หรือขายสินค้าออนไลน์ได้ส่วนของการแจ้งเหตุฉุกเฉิน เป็นส่วนที่คอยแจ้งเหตุฉุกเฉินต่างๆ ผ่านการแปลภาษามือเป็นข้อความและรูปภาพเพื่อส่งไปขอความช่วยแหลือ พร้อมส่งสถานที่ปัจจุบันเพื่อระบุตำแหน่งที่ต้องการความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงทีส่วนของการประกาศหางานและจัดหางาน คือส่วนที่โพสต์เกี่ยวกับคุณสมบัติของตัวเองสำหรับผู้ว่าจ้างพิจารณา และยังเป็นส่วนที่หน่วยงานต่างๆ สามารถประกาศรับสมัครงานสำหรับคนพิการได้ เพื่อลดจำนวนอัตราการว่างงานของผู้พิการลงส่วนการแจ้งเตือนด้วยการสั่น สำหรับในกรณีที่อยู่ในที่สาธารณะ หรือเวลาข้ามถนน ส่วนนี้จะทำการสั่นเมื่อได้ยินเสียงดัง เช่น เสียงบีบแตร เสียงระเบิด เสียงปืน เป็นการป้องการเกิดอุบัติเหตุสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน
“HAND ON” เป็นอีกโปรเจกต์หนึ่งที่นำความรู้ด้านวิศวกรรมหลายวิชาจากที่ได้เรียน เช่น การเขียนโปรแกรมและปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาผสมผสานกับประสบการณ์ตรงจากการฝึกปฎิบัติงาน ตามแบบฉบับ Work-based Education สร้างสรรค์จนเป็นผลงาน เกิดจากการรวมตัวของนักศึกษาชั้นปีที่3 ทั้ง 3 คน จากสาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พีไอเอ็ม โดยนายศานติ ภูมิกาล 1 ในทีมผู้คิดค้นเล่าที่มาที่ไปว่า “เราแบ่งงานเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือส่วนของการทำแอปพลิเคชัน โดยเริ่มจากศึกษาข้อมูลและปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้พิการทางการได้ยิน และดีไซน์หน้าตาของแอปฯ ให้เข้าใจง่าย ไม่ยุ่งยาก กดไม่กี่ครั้งต้องเข้าถึงโหมดที่ต้องการได้เลย จากนั้นเขียนข้อมูลลงเว็บแอปพลิเคชั่น Pingendo และทำการแปลภาษามือและตรวจสอบผ่าน AI ที่ Teachable Machine เพื่อส่งข้อมูลไปยัง Cloud และสามารถประมวลผลไปยังแอปฯ ได้ทันที ส่วนการทำวิดีโอนำเสนอผลงาน เริ่มจากทำวางโครงเรื่องให้สะท้อนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้พิการทางการได้ยิน เพื่อสร้างความเข้าใจให้คนทั่วไปได้เห็นภาพ การถ่ายทำ การแสดง หาเสียงประกอบ และการตัดตัดต่อ เพื่อจะสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจในแบบที่ต้องการ”
ทางด้าน นางสาวเพ็ญนภา สุขเพ็ง สมาชิกในทีมกล่าวหลังจากที่ได้ทำผลงานชิ้นนี้ว่า “ได้พัฒนาตนเองมากขึ้น ได้ทำอะไรที่ไม่เคยทำ ก้าวข้าม Comfort Zone ของตัวเอง เคยกลัวสิ่งที่ไม่เคยทำ เช่น กลัวการเขียนโค้ดดิ้ง (Coding) แต่พอได้ลองทำแล้วมันไม่ยากอย่างที่คิด เพียงแค่กล้าที่จะเรียนรู้และลงมือทำ และที่สำคัญมี ดร.ศรัณย์ ฉัตรธัญญกิจ และอาจารย์ภาคภูมิ ปฐมภาคย์ อาจารย์ประจำสาขาฯ เป็นที่ปรึกษาโครงการ คอยสอนเขียนโปรแกรม เขียนแอปฯ ช่วยในการจัดสรรงาน แนะนำว่าต้องทำอะไรบ้าง สนับสนุนทุกขั้นตอนในการถ่ายทำวิดีโอ”
ปิดท้ายด้วย นายศิฎฒิภัต ธรรมเกสร กล่าวว่า “ชิ้นงานตอนนี้ยังถือว่าเป็น Prototype ซึ่งในระยะแรกแอปพลิเคชันรองรับเฉพาะระบบแอนดรอยด์ หลังจากนี้วางแผนคิดต่อยอดให้สามารถใช้งานได้จริงสมบูรณ์แบบ 100% ในขั้นตอนต่อไปอยากจะลงพื้นที่เก็บข้อมูลของผู้พิการเพิ่มว่าเขามีความต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง เราสามารถนำเทคโนโลยีมาอำนวยความสะดวกเขาในด้านใดอีก และเก็บรวบรวมข้อมูลการใช้งานภาษามือจากผู้เชี่ยวชาญเป็นจำนวนมาก เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำมากขึ้นและครอบคลุม”
นับเป็นอีกหนึ่งผลงานของนักศึกษาพีไอเอ็ม ที่นำการศึกษาและเทคโนโลยีมาประยุกต์สร้างสรรค์ขึ้นเป็นนวัตกรรมเพื่อสังคม ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีถือเป็นความหวังของกลุ่มผู้พิการอย่างมาก เพราะจะเข้ามามีบทบาทให้ความเป็นอยู่ของพวกเขาสะดวกขึ้น สามารถช่วยเหลือตนเอง ดำเนินชีวิตได้อย่างเต็มศักยภาพ มีคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียม อยู่ในสังคมอย่างไร้อุปสรรค ในขณะเดียวกันโครงการนี้ยังเป็นการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาด้านวิศวกรรมไปอีกขั้น และจุดประกายความคิด ปลุกความเป็นนักสร้างนวัตกรรม ริเริ่มทำสิ่งต่างๆ ด้วยวิธีใหม่ทั้งความคิด การผลิต ทำงานร่วมกัน ไปจนถึงการพัฒนาต่อยอดไปสู่งานในอนาคต ทั้งนี้เทคโนโลยียังมีศักยภาพอีกมหาศาลที่จะนำมาใช้เพื่อสร้างสิ่งดีๆ เป็นประโยชน์ให้แก่สังคม และทำให้ชีวิตเราดีขึ้นได้อีกมาก
ขอบคุณ... https://www.ryt9.com/s/prg/3159020