ค้าปลีก วอนรัฐ พยุงการจ้างงาน ขอจ้างรายชั่วโมง – ลดจ้างผู้พิการ
ค้าปลีก วอนรัฐ พยุงการจ้างงาน หารือ รมช.แรงงาน ขอลดอัตราจ้างผู้พิการ จ้างงานรายชั่วโมงได้ เพิ่มลดหย่อนภาษีจ้างงานผู้สูงวัย ลดอัตราว่างงานในระบบ
นายพัฒนา สุธีระกุลชัย ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า ค้าปลีก วอนรัฐ พยุงการจ้างงาน โดยสมาคมฯ และกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกหลายราย ได้ขอเข้าพบและหารือ ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน พร้อมข้อเสนอให้รัฐพิจารณา เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ
ทั้งนี้ พบว่า สถานการณ์การจ้างงานในปัจจุบัน มีการปรับตัวลดลง โดยผู้มีงานทำจำนวนกว่า 37.1 ล้านคน สาขาที่มีการจ้างงานลดลง ได้แก่ งานก่อสร้าง โรงแรม/ภัตตาคาร การขายส่ง-ขายปลีก ลดลงเล็กน้อย ส่วนการขนส่ง/เก็บสินค้า ขยายตัวเพิ่มขึ้น
สถานการณ์ดังกล่าว เป็นผลมาจาก มาตรการและรณรงค์ ให้อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ แต่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบให้เกิดการว่างงาน แรงงานในระบบ กลายเป็นแรงงานนอกระบบ ถึงร้อยละ 58.7 สาเหตุจากการเลิกกิจการ
แม้กลุ่มผู้ค้าปลีกจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวไม่มากนัก แต่เพื่อ พยุงการจ้างงาน กลุ่มผู้ค้าปลีกจึงต้องการหารือเพื่อขอรับความช่วยเหลือ โดยเสนอให้ช่วยเหลือหลายประเด็น ดังนี้
ลดอัตราส่วนการจ้างงานคนพิการจาก 100 คน: 1 คน เป็น 200 คน:1 คน
ขยายระยะเวลาการผ่อนผัน การจ้างงานคนพิการ ทดแทนรายเดิมที่ลาออกไป จากเดิมต้องจ้างทดแทนภายใน 45 วัน ขยายเป็นจ้างทดแทนภายใน 60 วัน
การลดหย่อนภาษี สำหรับการจ้างงานผู้สูงอายุ ให้สามารถลดหย่อน ได้มากกว่า 15,000 บาท
รับรองหลักสูตรการฝึก ที่เป็นในรูปแบบออนไลน์
ปรับหลักสูตรการฝึกที่เกี่ยวข้องกับด้านอาหารให้สอดคล้อง และบูรณาการร่วมกับกรมอนามัย
ปรับลดอัตราการจ่ายเงินสมทบ เข้ากองทุนประกันสังคม สำหรับการจ้างงาน กลุ่มนักเรียนนักศึกษาจบใหม่
การจ้างงานแบบรายชั่วโมง ต้องการให้สามารถจ้างเป็นรายชั่วโมงได้ ซึ่งกระทรวงแรงงานอาจกำหนดประเภทหรือลักษณะงานที่สามารถจ้างงานแบบรายชั่วโมงได้ รวมถึงกำหนดสัดส่วนการจ้างรายชั่วโมง เพื่อเป็นการพยุงการจ้างงาน
“มีแรงงานส่วนหนึ่ง ต้องการทำงานเป็นรายชั่วโมง เช่น กลุ่มผู้มีงานประจำอยู่แล้ว แต่ต้องการมีอาชีพหรือรายได้เสริม กลุ่มแม่บ้าน และนักเรียน นักศึกษา เป็นต้น”นายพัฒนา กล่าว
ด้าน นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงาน ได้ดำเนินการสนับสนุนเพื่อช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง ว่างงาน ด้วยการพยุงการจ้างงาน ในหลายรูปแบบ เช่น การส่งเสริมสภาพคล่องให้ภาคเอกชน ด้วยการปรับอัตราเงินสมทบใหม่
การจัดโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน เพื่อให้สถานประกอบกิจการมีเงินทุนหมุนเวียนในกิจการและเสริมสภาพคล่องให้สามารถรักษาการจ้างงานได้อย่างต่อเนื่อง การปรับอัตราส่วนการฝึกอบรมให้แก่ลูกจ้างตามพ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 จากร้อยละ 50 เหลือเพียงร้อยละ 10 เป็นต้น
สำหรับการพยุงการจ้างงานโดยภาครัฐ ได้แก่ การให้บริการจัดหางาน ผ่านโครงการ และกิจกรรม ตามภารกิจของ กรมการจัดหางาน จัดตั้งศูนย์บริการจัดหางาน Part-time เพื่อให้สามารถจ้างงานระยะสั้น ซึ่งจะช่วยให้ลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
นอกจากนี้ ยังจัดโครงการเพื่อให้เกิดการจ้างงานระยะสั้น ด้วยการจ้างผู้ได้รับผลกระทบดังกล่าว เข้าทำงานในหน่วยงานของรัฐ จัดโครงการพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่แรงงาน มีเบี้ยเลี้ยงระหว่างฝึกอบรม ล่าสุดจะมีการจัดงาน Job Expo Thailand 2020 ระหว่างวันที่ 26-28 กันยายน 2563 ที่ Bitec บางนา มีตำแหน่งงานว่างกว่าล้านตำแหน่ง
นางนฤมล กล่าวว่า ข้อเสนอของสมาคมฯ กระทรวงแรงงานขอรับไปพิจารณา ซึ่งเป็นอำนาจของคณะกรรมการค่าจ้าง ต้องนำข้อมูลและรายลเอียดที่เกี่ยวข้อง มากำหนดแนวทางในการการปฏิบัติ และให้ความช่วยเหลือต่อไป
ส่วนการจ้างงานแบบรายชั่วโมงนั้น จะเป็นการเพิ่มช่องทางการจ้างงาน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การทำงานที่เปลี่ยนไป รวมทั้งสนับสนุนให้แรงงานมีโอกาสทำงานได้มากขึ้น ลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับนายจ้าง
อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงาน ต้องพิจารณาความเหมาะสม เกี่ยวกับการคุ้มครอง และกฎหมายที่เกี่ยวข้องเรื่องแรงงาน เพื่อรองรับการทำงานรูปแบบวิถีใหม่ (New normal) ที่เกิดขึ้นทั้งระบบ ซึ่งข้อเสนอในวันนี้ จะร่วมกับหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย