โควิด-19 ทำให้เยาวชนและวัยรุ่นกลุ่มเปราะบางถูกทิ้งไว้เบื้องหลังทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ
กลุ่มหน่วยงานสหประชาชาติที่ทำงานด้านเยาวชนและวัยรุ่นได้ร่วมกันจัดทำแบบสำรวจ 6 ชุดเพื่อรวบรวมเสียงเยาวชนและวัยรุ่นในช่วงที่ผ่านมา โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามมากถึง 9,000 คนทั่วประเทศไทยซึ่งรวมไปถึงเยาวชนและวัยรุ่นประมาณ 2,300 คนที่อยู่ในสถานการณ์เปราะบาง ผลการสำรวจเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และช่วงการล็อคดาวน์วัยรุ่นและเยาวชนหลายคนถูกทิ้งไว้เบื้องหลังจากการเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือทางสังคม การดูแลด้านสุขภาพและการศึกษา หากไม่มีการดำเนินมาตรการอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด–19 นี้จะฉุดรั้งความก้าวหน้าของประเทศไทยในด้านการพัฒนาเยาวชนคนรุ่นใหม่และอนาคตที่ยั่งยืนของประเทศภายใต้วาระเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ปี 2573
จากผลการสำรวจพบว่าประมาณร้อยละ 80 ของเยาวชนและวัยรุ่นชาติพันธุ์จำนวน 1,000 คนที่ร่วมทำการสำรวจรายงานว่าตนเองและครอบครัวไม่ได้รับความช่วยเหลือทางสังคมในช่วงล็อคดาวน์ และกลุ่มวัยรุ่นชาติพันธุ์น้อยกว่าร้อยละ 10 สามารถเข้าถึงอุปกรณ์สำหรับการเรียนออนไลน์ นอกจากนี้ เยาวชนและวัยรุ่นที่มีความพิการเกือบทั้งหมดที่ทำแบบสอบถามรายงานว่าไม่มีอุปกรณ์เพื่อเข้าถึงการเรียนที่บ้าน เยาวชนและวัยรุ่นจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องเผชิญกับการว่างงานเพิ่มขึ้นสองเท่าในช่วงการระบาดใหญ่และเพิ่มขึ้นสี่เท่าในช่วงการล็อคดาวน์ ยิ่งไปกว่านั้น เยาวชนและวัยรุ่นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ประมาณร้อยละ 41 รายงานว่าพวกเขารู้สึกกังวลมากถึง 3-4 วันต่อสัปดาห์
ในส่วนของแม่วัยรุ่นผลการสำรวจพบว่าร้อยละ 42 ไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านการรักษาพยาบาลได้ในช่วงที่เกิดการระบาดใหญ่และการล็อคดาวน์จากโควิด-19 และร้อยละ 36 ไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านการดูแลสุขภาพเด็กได้ นอกจากนี้ วัยรุ่นและเยาวชนผู้ตอบแบบสอบถามในกลุ่ม LGBTQ ประมาณร้อยละ 39 ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ เช่นการรับคำปรึกษาเรื่องเพศ การป้องกันและการรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามยังคงมีเพศสัมพันธ์ในช่วงการล็อคดาวน์ และการเข้าถึงการคุมกำเนิดเป็นหนึ่งในปัญหาด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ในอันดับต้นๆ
ทั้งนี้ การระบาดใหญ่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันมากขึ้น เพิ่มอุปสรรคต่อการพัฒนาเยาวชนคนรุ่นใหม่ ผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีต่อการเข้าถึงการศึกษา ต่อการให้บริการด้านสุขภาพททางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ และส่งผลต่อการจ้างงานคือสิ่งที่คุกคามความก้าวหน้าในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการลดความยากจน การส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ
คุณกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาติ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “การจัดทำแบบสำรวจทั้ง 6 ครั้งโดยกลุ่มหน่วยงานสหประชาชาติที่ทำงานด้านเยาวชนและวัยรุ่น (the UN Sub-group of young people) ทำให้เห็นความท้าทายและความต้องการที่แท้จริงในช่วงการระบาดใหญ่ที่เยาวชนและวัยรุ่นซึ่งรวมถึงกลุ่มที่อยู่ในภาวะเปราะบางต้องเผชิญ ผลการสำรวจเหล่านี้สะท้อนสิ่งที่เรารู้กันดีอยู่แล้ว นั่นคือ การระบาดใหญ่ส่งผลกระทบหนักที่สุดต่อกลุ่มประชากรที่ยากจนและอยู่ในภาวะเปราะบางมากที่สุด หากสิ่งนี้ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสมอาจทำให้เกิดกลุ่มประชากรที่ตกอยู่ในความไม่เท่าเทียม และนั่นจะทำให้มีคนจำนวนมากขึ้นที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง นี่คือเวลาที่ประเทศไทยจะต้องฟื้นตัวกลับมาในแบบที่มีความความเข้มแข็งมากขึ้นและเท่าเทียมกันมากกว่าที่ผ่านมา”
“วัยรุ่นเยาวชนมากกว่า 9,000 คนทำให้เสียงของพวกเขาเป็นที่ได้ยินผ่านการสำรวจเหล่านี้ ผลการสำรวจนำเสนอข้อมูลเชิงลึกที่น่ากลัวว่าโควิด–19 ได้ตอกย้ำให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียม และผลเหล่านี้ควรจะทำให้พวกเราทุกคนเริ่มกังวลต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ในขณะที่การแพร่ระบาดใหญ่ทั่วโลกนี้ส่งผลกระทบต่อทุกคน แต่กลุ่มที่อยู่ในภาวะเปราะบางและกลุ่มชายขอบส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด การแพร่ระบาดของโรคได้ทำลายโอกาสในการทำงาน การฝึกอบรมและโอกาสทางการศึกษาสำหรับวัยรุ่นและเยาวชนจำนวนมาก นอกจากนี้ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของพวกเขาอีกด้วย เราหวังว่าผลการสำรวจเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นให้รัฐบาล หน่วยงานของสหประชาชาติ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชนและวัยรุ่นคนหนุ่มสาวมารวมตัวกันเพื่อทบทวนอนาคตของคนรุ่นใหม่ภายใต้บริบทประเทศไทยภายหลังโควิด-19” คุณโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทยกล่าว
“ผลกระทบในวงกว้างต่อวัยรุ่นและเยาวชนทุกคนจากการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19และการล็อคดาวน์แสดงให้เห็นถึงความเร่งด่วนที่ประเทศไทยจะต้องลงทุนให้มากขึ้นในด้านการพัฒนาทุนมนุษย์ในกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนทุกคน รวมทั้งการรับประกันถึงการคุ้มครองสิทธิของพวกน้องๆ เหล่านี้ ซึ่งรวมไปถึงสิทธิด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ เพื่อให้ทุกคนสามารถพัฒนาศักยภาพได้อย่างเต็มที่และมีส่วนร่วมในการพัฒนาอนาคตที่ยั่งยืนของไทยได้ในอนาคต” คุณวาสนา อิ่มเอม หัวหน้าสำนักงาน UNFPA ประเทศไทยกล่าว
การจัดทำแบบสำรวจทั้ง 6 ครั้งนี้มีขึ้นระหว่างมีนาคม – กรกฎาคม 2563 เพื่อประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อวัยรุ่นและเยาวชนซึ่งรวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มคนไร้สัญชาติ แม่วัยรุ่น เยาวชนและวัยรุ่นที่มีความพิการ เยาวชนและวัยรุ่นจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และวัยรุ่นเยาวชนกลุ่ม LGBTQ ในประเทศไทย ผู้ตอบแบบสำรวจเข้าถึงแบบสอบถามจากการเข้าถึงอินเตอร์เนต วัยรุ่นและเยาวชนที่มีความพิการได้รับความช่วยเหลือจากบุคคลใกล้ชิดในการช่วยตอบแบบสอบถาม การสำรวจครั้งนี้เป็นการทำงานของกลุ่มหน่วยงานสหประชาชาติที่ทำงานด้านเยาวชนและวัยรุ่นซึ่งมี UNFPA และ UNICEF เป็นประธานร่วมทำงานกับ UN Women, UNDP, UNAIDS, ILO, IOM, UNHCR และ UNV
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลการสำรวจนี้จะนำไปสู่การอภิปรายเชิงนโยบายในทุกภาคส่วน โดยผ่านกลุ่มเครือข่ายวัยรุ่นและเยาวชนที่เป็นนักเคลื่อนไหว ตลอดจนสมาชิกของกลุ่มย่อยต่างๆ ของสหประชาชาติเพื่อให้แน่ใจว่าวัยรุ่นและเยาวชนโดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในภาวะเปราะบางจะไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
ขอบคุณ... https://bit.ly/2G8mDkO