พม.นำเสนออุปสรรคการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์
พม. ต้อนรับคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส และร่วมประชุมเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านการคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์
เมื่อวันอังคารที่ 6 ตุลาคม 2563 เวลา 10.00 น. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)ให้การต้อนรับคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส นำโดยนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ พร้อมด้วยคณะกรรมาธิการ รวม 17 ท่าน ในการลงพื้นที่ประชุมหารือและเยี่ยมชมกระบวนการให้ความช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ในสถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จังหวัดปทุมธานี และรับฟังปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน เพื่อนำไปขับเคลื่อนผลักดันในวุฒิสภาต่อไป
นอกจากนี้ได้ให้คำแนะนำและข้อสังเกตในเชิงนโยบายสำหรับการให้ความช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหาย 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มผู้เสียหายที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQI) ซึ่งอาจมีจำนวนเพิ่มขึ้นในอนาคต และ 2. กลุ่มเปราะบางอื่นๆ เช่น ผู้พิการ หรือผู้สูงอายุ ซึ่งต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมในการฟื้นฟูระยะยาว รวมถึงการดูแลผู้เสียหายเป็นรายบุคคลให้มีความเหมาะสมกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อพัฒนากลไกและมาตรการช่วยเหลือดูแลคุ้มครองผู้เสียหายต่อไป
ทั้งนี้ ในส่วนของ พม. มี นางสาวอังคณา ใจกิจสุวรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ และในฐานะกรรมาธิการกิจการสตรี ผู้มีความหลากหลายทางเพศ และผู้ด้อยโอกาส ได้ร่วมลงพื้นที่และเข้าร่วมประชุมด้วย โดยมีนายพงษ์ศักดิ์ ชูชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์จังหวัดปทุมธานี พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ
นายรัชพล มณีเหล็ก ผู้อำนวยการกลุ่มคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองต่อต้านการค้ามนุษย์ กล่าวว่า พม. มีหน้าที่รับผิดชอบหลักในการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 โดย พม. มีสถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ทั้งหมด 9 แห่ง ซึ่งกระบวนการให้ความช่วยเหลือคุ้มครองในสถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ประกอบด้วย ด้านสังคมสงเคราะห์ การบำบัดฟื้นฟูเยียวยา การช่วยเหลือทางกฎหมาย และการคุ้มครองจนกระทั่งดำเนินคดีแล้วเสร็จ
นอกจากนี้ ยังได้ช่วยส่งเสริมด้านทักษะอาชีพเพื่อให้ผู้เสียหายฯ ได้นำไปประกอบอาชีพภายหลังพ้นจากการคุ้มครองในหน่วยงานภายนอก หรือออกไปทำงาน ในสถานประกอบการนอกสถานคุ้มครอง เพื่อให้ผู้เสียหายที่พ้นจากการคุ้มครองมีอาชีพใหม่และไม่เข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์ซ้ำ