ลดช่องว่างการศึกษา สานฝันเด็กพิการ
ลดช่องว่างการศึกษา สานฝันเด็กพิการ - การเลือกเรียนมหาวิทยาลัยคือ ‘ใบเบิกทาง’ การก้าวไปสู่ความฝันของเยาวชน ซึ่งการหาสถานศึกษาที่ตรงใจว่ายากแล้ว การหาสถานศึกษาสำหรับเยาวชนที่พิการยิ่งยากกว่า เพราะนอกจากจะต้องเป็นสายการเรียนที่ตรงใจเยาวชนเองแล้วยังต้องเป็นสถานที่ที่เปิดกว้างและเอื้ออำนวยแก่ผู้พิการด้วย
ดังนั้นสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมกับ บริษัท กล่องดินสอ จำกัด จัดงาน “เด็กพิการเรียนไหนดี’64 ตอน ปั้นฝันเป็นตัว” ณ ทรู ไอคอน ฮอลล์ ชั้น 7 ศูนย์การค้าไอคอนสยาม
ภายในงานมีกิจกรรมให้นักเรียนคนพิการเรียนรู้ระบบการสอบเข้าเพื่อศึกษาต่อ การให้ความรู้เรื่องสิทธิทางการเรียนของคนพิการ การรับเข้าและดูแลนักศึกษาพิการจากศูนย์บริการนักศึกษาพิการของมหาวิทยาลัยและอาชีวศึกษากว่า 18 สถาบัน อีกทั้งมีกิจกรรมเวิร์กช็อป ปั้นฝันเป็นตัว การทำแฟ้มสะสมผลงาน และเทคนิคการสอบสัมภาษณ์ รวมถึงเพิ่มพลังใจจากการรับฟังรุ่นพี่นักศึกษาคนพิการ ที่มาบอกเล่าประสบการณ์การเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย เพื่อให้นักเรียนคนพิการได้รับข้อมูลด้านการศึกษาที่รอบด้าน เป็นแนวทางในการตัดสินใจวางแผนการศึกษาต่อที่ชัดเจนมากขึ้น
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการ สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า งานในวันนี้จะชี้ทางเลือกให้เด็กพิการว่าสามารถศึกษาต่อที่ไหนได้บ้าง เพราะทุกคนมีสิทธิ์จะฝัน และทำตามความฝัน งานนี้จะประเมินความสามารถของตัวเอง ประเมินมหาวิทยาลัยที่มาลองรับน้องๆ ในแต่ละสาขา แต่ละมหาวิทยาลัยมีสื่อการเรียนการสอนที่เอื้ออำนวยให้น้องๆ ต่างกันออกไป เช่น มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมีการเรียนการสอนที่มีอักษรเบรลล์ ภาษาจีน เป็นต้น
โดยสสส.จะเป็นหน่วยงานที่เข้าไปสนับสนุน เพื่อลดช่องว่างทางการศึกษานี้ให้แก่เด็กพิการ และการเข้าไปเรียนว่ายากแล้ว การเข้าไปทำงานในด้านที่ตัวเองชอบนั้นยากกว่า เราพยายามทำให้เกิดพื้นที่นำร่องที่สามารถเป็นศูนย์บริการให้คำแนะนำเด็กพิการให้เกิดการเตรียมความพร้อมทางสังคมของเด็กพิการ เตรียมความพร้อมการสัมภาษณ์งาน เตรียมเรื่องการทำโปรไฟล์สมัครงาน ให้มีความมั่นใจในตัวเองที่จะไปสมัครงาน
“สสส. พยายามส่งเสริม เพิ่มทักษะให้เด็กพิการทุกคนได้รับโอกาสเข้าถึงระบบการศึกษาอย่างเท่าเทียมเหมือนเด็กทุกคน ด้วยการสร้างความรู้ที่ตรงศักยภาพคนพิการ ให้มองเห็นเส้นทางที่ใช่สู่อาชีพที่ชอบ เพราะเชื่อว่าสิ่งที่เรียนรู้ไปจะสามารถทำให้คนกลุ่มนี้นำไปพัฒนาต่อยอดสร้างเป็นรายได้มั่นคง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีโดยที่ไม่รู้สึกแตกต่างจากคนอื่น โจทย์ใหญ่ที่ สสส. ตั้งใจทำคือ สร้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้เด็กที่พิการเท่าเทียมในสังคม แม้ร่างกายของเขาจะแตกต่าง แต่ศักยภาพและทักษะของคนกลุ่มนี้ล้ำเลิศไม่แพ้กับเด็กทุกคน โดยสร้างพื้นที่ชุมชนออนไลน์ผ่านเพจ “เด็กพิการเรียนไหนดี” และกลุ่มเฟซบุ๊ก “เด็กพิการอยากเรียนมหา’ลัย” และปีที่ผ่านมามีเด็กพิการสนใจศึกษาต่อระดับชั้นปริญญาตรีร้อยละ 76 ที่เหลือสนใจวิชาสายอาชีพ ปวช.-ปวส. มากขึ้น” นางภรณีกล่าว
ด้าน ด.ญ.ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ หรือ น้องธันย์ วัย 14 ปี เล่าประสบการณ์การเลือกมหาวิทยาลัยให้น้องๆ ฟังว่า ธันย์เลือกจากการที่เราได้ลองทำอะไรแล้วเราทำได้ดี เราก็เลือกเรียนคณะที่ตรงกับที่เราชอบ มหาวิทยาลัยจำเป็นที่จะต้องมีที่ซัพพอร์ตวีลแชร์ให้สำหรับผู้พิการ การเรียนจบออกมาก็สำคัญ แต่เราก็อยากจะมีชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยไม่ต่างจากคนอื่นๆ
ขณะที่ น้องแอล-น.ส.ธนัญชกร สันติพรธดา พิการทางการเห็น (ตาบอดสนิท) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะศึกษาศาสตร์ สาขาสังคมศึกษา โดยใช้ความสามารถสอบคัดเลือกเข้าศึกษาในระบบกลาง หรือแอดมิสชั่น ซึ่งเป็นการสอบแข่งขันกับเด็กไม่พิการด้วย และในงานเด็กพิการเรียนไหนดีครั้งนี้ น้องแอลเป็นหนึ่งในรุ่นพี่ที่เข้ามาขับเคลื่อนงานผ่านกิจกรรมต่างๆ เพราะมุ่งหวังอยากให้รุ่นน้องคนพิการได้รับความรู้เรื่องการสอบเข้าและการเรียนต่อในระดับชั้นอุดมศึกษา เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดกับคนพิการ
“แอลรู้สึกดีใจที่มีงานนี้เกิดขึ้นให้กับรุ่นน้องคนพิการ เพราะมองว่างานที่ส่งเสริมด้านการศึกษาแก่คนพิการจริงๆ นั้นมีน้อยมาก และจะทำให้น้องๆ คนพิการได้รับความรู้จากงานนี้ไปเพิ่มมากขึ้นจริงๆ” น้องแอลกล่าว
ทั้งนี้ จากสถิติรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านคนพิการในประเทศไทยประจำปี 2563 ของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์พบว่า คนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการได้รับการศึกษา 1,533,159 คน ในจำนวนนี้ศึกษาระดับชั้นประถมศึกษามากที่สุด อยู่ที่ 1,249,795 คน รองลงมาได้แก่ระดับชั้นมัธยมศึกษา 169,606 คน ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา 35,085 คน ไม่ระบุการศึกษา 24,402 คน และอุดมศึกษา 21,220 คน
จากสถิติดังกล่าวชี้ว่าคนพิการส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา สาเหตุส่วนใหญ่มาจากปัจจัยแวดล้อมในครอบครัว สภาพร่างกายที่อาจจะทำให้ผู้ดูแลมองว่าไม่เอื้อต่อการเรียน รวมถึงสถานะทางการเงินที่มีส่วนทำให้คนกลุ่มนี้ขาดโอกาสเข้าถึงการศึกษา “เด็กพิการเรียนไหนดี” โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ ของ สสส. และ บริษัท กล่องดินสอ จำกัด จึงจัดงานนี้ขึ้น เพื่อให้คนพิการได้รับการสนับสนุนด้านการศึกษาอย่างเหมาะสม สามารถพัฒนาความรู้ทักษะทางวิชาการและทักษะอาชีพ เพื่อพัฒนาตนเอง สังคม และประเทศได้ต่อไป
ขอบคุณ... https://www.khaosod.co.th/newspaper/newspaper-inside-pages/news_5300479