"สสส."จัดเสวนา"ตีแผ่ความจริง เมื่อคนพิการถูกล่วงละเมิดทางเพศ"
มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ"สสส." ตีแผ่ประสบการณ์คนพิการเหยื่อล่วงละเมิดทางเพศ คลี่ปมสาเหตุใหญ่เกิดจากคนใกล้ตัว-ครอบครัว หวังจุดประกายสังคมหันมาให้ความสำคัญช่วยเหลือคนพิการพ้นหลุมดำทางเพศ พร้อมกระตุกรัฐทำงานเชิงรุกในพื้นที่เยียวยาช่วยเหลือ-สื่อสาร-ป้องกัน ได้ทันสถานการณ์
เมื่อวันที่ 12 พ.ย.63 ที่เดอะฮอลล์ กรุงเทพ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดเสวนา “ตีแผ่ความจริง เมื่อคนพิการถูกล่วงละเมิดทางเพศ” ภายในงานมีการเปิดตัวหนังสือ “บาดแผลของดอกไม้” โดยนางสาววิจิตา รชตะนันทิกุล รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) กล่าวว่า สถานการณ์การล่วงละเมิดทางเพศในคนพิการยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง พม.มี พ.ร.บ.คุ้มครองคนพิการ แต่ในภาพรวมการปฏิบัติยังคงมุ่งเน้นไปเรื่องสิทธิของคนพิการ เช่น ความเสมอภาคในการทำงาน แต่ในส่วนผู้พิการที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศยังคงได้รับการดูแลที่ยังไม่ทั่วถึงทั้งหมด ซึ่งจากการทำงานร่วมกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เราพบว่า การมีชุมชนและผู้นำที่เข้มแข็งจะช่วยลดปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในคนพิการได้ สำหรับบทบาทของกรมในวันนี้จะเน้นเรื่องของการป้องกันและเฝ้าระวัง สร้างชุมชนปลอดภัย เพื่อนำไปสู่ต้นแบบที่มีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง มีการบำบัดและฟื้นฟู รวมทั้งมีการติดตามการดำเนินงาน ซึ่งทางกรมฯจะพยายามสร้างพื้นที่ปลอดภัยในชุมชนให้มากขึ้น เพราะเราเชื่อว่าชุมชนที่เข้มแข็ง คนในพื้นที่จะมีความปลอดภัยมากขึ้นเช่นกัน
นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า “หนังสือบาดแผลของดอกไม้” เป็นงานเขียนและการสำรวจข้อมูลกลุ่มผู้หญิงพิการถูกข่มขืน จำนวน 15 ราย พบว่า ส่วนใหญ่เป็นคนพิการทางสติปัญญา บางรายพิการซ้ำซ้อน โดยผู้กระทำเป็นญาติ คนข้างบ้าน ซึ่งสอดคล้องกับการเก็บข้อมูลจากข่าวหนังสือพิมพ์ และการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาของมูลนิธิฯ มีผู้หญิงพิการถูกข่มขืนเฉลี่ย 3-4 คน/ปี โดยมีความพิการทางสมอง ออทิสติก สติปัญญาบกพร่องอายุตั้งแต่ 14-16 ปี สะท้อนว่าเด็กหญิงพิการ อายุต่ำกว่า 18 ปี มีแนวโน้มถูกล่วงละเมิดทางเพศและข่มขืนมากขึ้น ส่วนผู้ก่อเหตุ พบเป็นคนใกล้ตัว เช่น พ่อเลี้ยง พี่ชาย เพื่อนบ้าน สำหรับปัจจัยกระตุ้น พบว่า เมื่อมีความต้องการทางเพศ มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ใช้ยาเสพติด และเมื่อเห็นเหยื่อมีข้อจำกัดในการปกป้องตนเอง ประกอบกับผู้หญิงมีความพิการ ไม่สามารถสื่อสารได้ เช่น หูหนวก ตาบอด และมีความกลัวจากการข่มขู่ทำให้แนวโน้มในการถูกล่วงละเมิดทางเพศเพิ่มขึ้น
“ปัญหานี้เกิดจากรากคิดในระบบชายเป็นใหญ่ ซึ่งในการต่อสู้ของผู้หญิงพิการมีข้อจำกัดมากกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะการสื่อสาร เช่น บางรายพิการซ้ำซ้อน หูหนวก ตาบอด ต้องมีล่ามช่วยสื่อสาร ต้องใช้ระยะเวลานาน ทำให้ไม่มีหลักฐานที่มากพอ นอกจากนี้ยังมีเรื่องความยากจน ไม่มีเงินสู้คดี นำไปสู่การไกล่เกลี่ย หรือนิ่งเงียบมากขึ้น อีกทั้งกระบวนการยุติธรรมยังเป็นอุปสรรคในการต่อสู้ เช่น ตำรวจไม่กระตือรือร้นช่วยเหลือ และดูเหมือนมีความใกล้ชิดกับผู้กระทำ ทำให้คดีอ่อนลง และมีบางคดีที่มูลนิธิให้ความช่วยเหลือ เช่นคดีที่พิษณุโลกซึ่งน้องคนพิการถูกกระทำ แต่กลับถูกเตะถ่วงจนใกล้จะหมดอายุความ ซึ่งมูนิธิเตรียมนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติเร็วๆนี้ ” ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าว
นายจะเด็จ กล่าวด้วยว่า คนที่สามารถช่วยเหลือผู้หญิงพิการที่ถูกข่มขืน ให้สามารถต่อสู้ได้ คือ คนใกล้ตัว เช่น พ่อ แม่ ญาติใกล้ชิด ส่วนกลไกรัฐต้องตระหนัก ทำงานเชิงรุกในพื้นที่ เช่น อปท. อสม.ต้องสื่อสารและสร้างความเข้าใจกับครอบครัวและสังคม ว่าคนพิการมีแนวโน้มถูกล่วงละเมิดทางเพศมากขึ้น จึงต้องดูแลช่วยเหลือเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม มูลนิธิฯหวังว่า “หนังสือบาดแผลของดอกไม้” จะเป็นหนังสือที่จุดประกายให้คนในสังคมเกิดความสนใจในประเด็นการล่วงละเมิดทางเพศของผู้หญิงพิการมากขึ้น เพื่อนำมาสู่การช่วยเหลืออย่างทันท่วงที
นางสาวอรสม สุทธิสาคร ศิลปินศิลปาธร สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2552 ผู้เขียนหนังสือ “บาดแผลของดอกไม้” กล่าวว่า จากการทำงานร่วมกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ได้พูดคุยกับเคสที่มีคนในครอบครัวเป็นคนพิการถูกล่วงละเมิดทางเพศทั้ง 15 เคส ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวผ่านหนังสือเล่มนี้ พบว่า ครอบครัวได้รับผลกระทบอย่างมาก ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งบางเคสผู้ถูกกระทำไม่สามารถสื่อสารใดๆได้ เช่น หูหนวก ตาบอด เป็นใบ้ คนเหล่านี้เขาไม่สามารถสื่อสารหรือเรียกร้องใดๆ ให้กับตนเองได้ ขณะเดียวกันคนในครอบครัวก็จะได้รับความทุกข์ตามไปด้วยและสร้างความหวาดกลัวให้กับคนในครอบครัวจนมีผลกระทบต่อการทำงานและความเป็นอยู่ ซึ่งอยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง มีความเข้าใจ ให้เป็นที่พึ่งกับคนเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรมไม่ใช่แค่การเยียวยาด้วยเงิน และในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ควรจะแจงสิทธิที่ผู้ถูกกระทำพึงได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ
ด้านลุงเอ (นามสมมติ) คุณพ่อนักสู้ที่ทวงคืนความยุติธรรมให้ลูก กล่าวว่า ลูกสาวตนถูกเพื่อนร่วมงานของตนเองล่วงละเมิดทางเพศ ในตอนนั้นไม่รู้จะทำอย่างไร เราไม่รู้เรื่องกฎหมาย ตอนที่พาลูกสาวไปตรวจร่างกายที่ รพ.ตำรวจ ทางเจ้าหน้าที่ได้แนะนำและให้เบอร์โทรศัพท์ของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลมา เพื่อขอคำปรึกษาเรื่องการดำเนินคดี ซึ่งทางมูลนิธิฯได้ช่วยเหลือ และแนะนำเป็นอย่างดี กว่าที่เราจะผ่านจุดนั้นมาได้มันยากมาก ในที่สุดคู่กรณีถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยศาลสั่งจำคุกไปแล้ว ปัจจุบันคู่กรณีได้พ้นโทษและกลับมาใช้ชีวิตแถวชุมชน หลายครั้งที่ต้องเจอหน้ากัน คู่กรณีก็พยายามที่จะไม่เผชิญหน้า และลุงได้ส่งลูกสาวไปอยู่กับแม่ที่ต่างจังหวัดเพราะคิดว่าน่าจะมีความปลอดภัย มีคนดูแลอย่างใกล้ชิดดีกว่า สิ่งที่อยากจะฝากไปยังครอบครัวที่มีลูกสาวที่พิการ เราต้องดูแลเขาอย่าให้คลาดสายตา เพราะเขาไม่รับรู้หรือรู้เรื่องกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขา และอย่าคิดว่าลูกเราพิการแล้วคงไม่มีใครทำอะไรหรอก คุณคิดผิดถนัดเพราะในความเป็นจริงมันเลวร้ายกว่าที่คิด เราต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกเราปลอดภัย ไม่สุ่มเสี่ยงหรือเกิดช่องว่างให้ผู้ก่อเหตุ
ขอบคุณ... https://siamrath.co.th/n/196651