พรุ่งนี้ที่ (ต้อง) ไม่เหมือนเมื่อวานของ ‘คนพิการไทย’
“บ้านเราคนพิการที่ได้รับการยอมรับก็มีในระดับหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่สถานภาพทางสังคมน้อยแทบไม่มี”
คือคำกล่าวของ นาวาอากาศเอก ภราดร คุ้มทรัพย์ อดีตนักบินที่ปัจจุบันมีโครงการช่วยเหลือคนพิการสามจังหวัดชายแดนใต้มากมาย หลังชีวิตพลิกผันจากการประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์เมื่อราว 20 ปีก่อน
เสาร์ที่ 2 ของเดือนพฤศจิกายน ซึ่งปีนี้ตรงกับ 14 พฤศจิกายน คือ ‘วันคนพิการแห่งชาติ’
วันเดียวกับงาน ‘ม็อบเฟสต์’ บนถนนราชดำเนิน ซึ่งมีคนพิการรายหนึ่งขึ้นเวทีใกล้แยกผ่านฟ้า ปราศรัยเรียกร้องสิทธิให้คนพิการในวันที่เบี้ยคนพิการขยับจาก 800 บาทเป็น (เพียง) 1,000 บาทต่อเดือนต่อคน ทั้งยังมีเงื่อนไขเฉพาะคนพิการที่มีบัตรประจำตัว คนพิการที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 1,103,065 ราย เด็กพิการทั่วประเทศที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี อีกจำนวน 126,032 ราย รวมจำนวน 1,229,097 ราย เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา
หันมองไปรอบตัว แน่นอนว่า คนพิการไม่อาจนั่งเฉยๆ รอเบี้ยยังชีพ หากแต่ดิ้นรนต่อสู้เพื่อที่จะมีชีวิตที่ดีกว่า เพื่อชีวิตที่เท่าเทียม ซึ่งทางเลือกของชีวิตไม่ควรมีแค่การขายสลากกินแบ่งรัฐบาล
100 ต่อ 1 คืออัตราส่วนที่กฎหมายกำหนดให้สถานประกอบการจ้างงานคนพิการแต่ภาคธุรกิจยังส่งเงินเข้ากองทุนคนพิการปีละ 2,000 ล้าน เพราะไม่สามารถจ้างคนพิการได้ครบ วันนี้คนพิการกว่า 350,000 คน ยังไม่มีงานทำ
ไหนจะปัญหาคุณภาพชีวิตที่แก้เท่าไหร่ ก็ไม่ค่อยตก แม้พัฒนาขึ้นตามลำดับ แต่ยังไม่ครอบคลุมทั่วถึง
เหล่านี้คือปมปัญหาที่หลายภาคส่วนพยายามร่วมกันแก้ไข แต่จะเห็นผลอย่างไรก็ยังต้องติดตาม
ท.74 ที่ลืมไม่ได้ และความท้าทายใหม่
เมื่อคนพิการทำ ‘เกษตร’
เริ่มต้นด้วยเรื่องอาชีพ ขวัญฤทัย สว่างศรี ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาศักยภาพคนพิการ มูลนิธิพัฒนาศักยภาพคนพิการ เล่าตอนหนึ่งระหว่างเฟซบุ๊กไลฟ์ ‘สิงห์เหนือ เสือใต้ จับเข่าคุยเรื่องคนพิการ’ ผ่านเพจ ‘คนพิการต้องมีงานทำ-มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม’ เมื่อ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ถึงการผลักดันให้คนพิการทำอาชีพด้านการเกษตร ซึ่งทั้งท้าทายและแปลกใหม่ โดยยอมรับว่าผ่านการ ‘ล้มลุกคลุกคลาน’ มาพอตัว
“ใหม่ๆ ปวดหัวมาก คนพิการทำเกษตรก็ลำบากแล้ว แล้วต้องทำเกษตรที่มีราคาสูง คือปลูกเมล่อนญี่ปุ่น ผักผลไม้ปลอดสารพิษ ต้องมองกลุ่มคนซื้อ ถ้าขายในราคาที่วางไว้ คือกิโลกรัมละ 250 บาท คุณภาพต้องตามมา จึงหาเครือข่ายภาคธุรกิจมาสนับสนุน ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี บริษัทต่างๆ ให้โอกาสจัดจำหน่าย ปีใหม่คาดว่าจะเปิดตัวครั้งยิ่งใหญ่ ช่วงปีใหม่นี้ก็มีคนจองเมล่อนรายละ 100-200 ลูก เราไม่มีหน้าร้าน ขายผ่านเฟซบุ๊ก ใจดีฟาร์ม จังหวัดชัยนาท” ขวัญฤทัยกล่าวด้วยรอยยิ้ม
ส่วนประเด็นด้านสุขภาพ ยุทธพล ดำรงชื่นสกุล คณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานการบริการสาธารณสุข สปสช. เขต 1 เชียงใหม่ ผู้พิการจากอุบัติเหตุไฟไหม้ตั้งแต่ยังเป็นทารก อัพเดตประเด็นสิทธิประโยชน์ โดยระบุว่าปัจจุบันได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีการเปิดเวทีรับฟังความเห็น นอกจากนี้ ยังมีแอพพลิเคชั่นที่สามารถตรวจสอบสิทธิต่างๆ ด้วยตนเองได้เลย หนึ่งในสิทธิสำคัญ คือ สิทธิหลักประกันสุขภาพสำหรับคนพิการ ที่เรียกสั้นๆ ว่า ‘ท.74’ โดยสามารถใช้บริการได้ทุกโรงพยาบาลในสังกัด สปสช. แม้แต่โรงพยาบาลเอกชนที่อยู่ภายใต้โครงการบัตรทอง ต่างจากยุคก่อนที่ต้องขอใบส่งตัว ซึ่งยุ่งยากมาก
ทวงคืน ‘พื้นผิวต่างสัมผัส’
ก้าวแรกของความเท่าเทียม
จากนั้นมาถึงประเด็นด้านการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นอย่างเท่าเทียม ซึ่งโครงงานกฎหมาย วิชาหลักวิชาชีพนักกฎหมาย น.461
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการหัวข้อ “ธรรมศาสตร์ + เบรลบล็อก = จุดเริ่มต้นของความเท่าเทียม” เนื่องในวันคนพิการแห่งชาติ
ศาสตราจารย์ วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ รั้วแม่โดม ผู้พิการทางสายตา เปิดเผยว่า แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคนพิการจำนวนมากแต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่าสิทธิของคนพิการไม่ค่อยเกิดขึ้น การออกแบบต่างๆ จึงไม่ได้คำนึงถึงคนพิการ โดยเฉพาะทางเท้าที่แม้จะมีการทำพื้นผิวต่างสัมผัส (Braille Block) แต่ก็ไม่เกิดประโยชน์ มากไปกว่านั้นคือให้โทษแก่คนพิการเพราะไม่เคยมีการทดสอบด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัย
จากหลักการ Inclusive Society หรือ Society for All หรือการสร้างสังคมที่เอื้อสำหรับทุกคนที่กำหนดโดยองค์การสหประชาชาติ โดยมีหัวใจอยู่ที่การเข้าถึง (access) มีโจทย์ที่ว่า จะทำอย่างไรที่จะให้ทุกคนสามารถเข้าถึงสิ่งต่างๆ ได้โดยสะดวก ซึ่งแน่นอนว่าผู้พิการถือเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่สำคัญ เพราะเมื่อใดแล้วที่คนพิการสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งต่างๆ ได้ นั่นเท่ากับว่าเกิด access for all ขึ้นจริง
“ในต่างประเทศนั้นหลายผลิตภัณฑ์มักมีการนำหลักการ for all มาเป็นจุดขาย เช่น ไอโฟน ที่ออกแบบให้คนพิการสามารถใช้งานได้ หรือโรงแรม ที่มีอารยสถาปัตย์เอื้อให้ทุกคนใช้ประโยชน์ ดังนั้นจึงสนับสนุนนโยบายของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เตรียมจะจัดทำพื้นผิวต่างสัมผัสอย่างครอบคลุมเพื่อให้เป็นมหาวิทยาลัยสำหรับทุกคน ซึ่งสิ่งนี้ก็จะเป็นจุดขายได้ด้วย” ศาสตราจารย์วิริยะกล่าว
ข้อมูลข้างต้น ถูกสนับสนุนอีกครั้งโดย กิติพงศ์ สุทธิ ผู้อำนวยการสถาบันคนตาบอดแห่งชาติเพื่อการวิจัยและพัฒนา ที่ยืนยันอีกเสียงหนึ่งว่า การทำพื้นผิวต่างสัมผัสพิสูจน์แล้วว่าช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้พิการทางสายตาได้ แต่ประเทศไทยกลับไม่มีความเข้าใจในเรื่องนี้ เราจึงพบพ่อค้าแม่ค้าตั้งแผงขายของทับเส้นทาง รวมถึงพื้นผิวทางเท้าที่ชำรุด ไม่มีการซ่อมแซม จนทำให้ผู้พิการแยกไม่ออกว่าอะไรคือพื้นผิวต่างสัมผัส อะไรคือพื้นผิวทางเท้าที่ไม่สมบูรณ์
“หากมีการจัดการพื้นผิวต่างสัมผัสที่ดี ควบคุมดูแลให้ใช้งานได้จริง คุณภาพชีวิตของผู้พิการทางสายตาก็จะดีขึ้นมาก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับเป็นไปอย่างตรงข้าม นั่นทำให้เราถึงกับต้องออกมาคัดค้านการติดตั้งพื้นผิวต่างสัมผัสในช่วงหนึ่ง เพราะจะนำมาสู่อันตรายมากกว่าความปลอดภัย” กิติพงศ์เล่า
เมื่อวาน ‘สอบตก’ พรุ่งนี้ต้องไม่เสียโอกาส
ส่วนในมุมมองของนักออกแบบ รศ.ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา และอาจารย์สาขาวิชาภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ บอกว่า ธรรมศาสตร์จะเริ่มทำพื้นผิวต่างสัมผัสที่ศูนย์รังสิตก่อน ซึ่งจะเป็นการทดสอบและเรียนรู้ในลักษณะของ Guiding Block ว่าจะได้ผลดีหรือไม่ ขณะที่ท่าพระจันทร์จะทำแบบ Warning Block พร้อมกับที่ได้มีการตั้งศูนย์ศึกษาและออกแบบด้าน Universal Design เพื่อค้นคว้าและนำเสียงสะท้อนของนักศึกษามาปรับปรุง ทั้งหมดเพื่อนำไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยของทุกคน
นอกจากเรื่องโครงสร้างและการออกแบบแล้ว ประเด็นการศึกษาก็สัมพันธ์โดยตรงกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการ โดยประเทศไทยมีผู้พิการอยู่ 3 ล้านคน ในจำนวนนี้เข้าถึงการศึกษาเพียงแค่ชั้นประถม 1.2 ล้านคน เข้าถึงชั้นมัธยม 1.6 แสนคน และมีเพียง 2.1 หมื่นคนเท่านั้นที่สำเร็จชั้นอุดมศึกษา นั่นสะท้อนอย่างชัดเจนว่าการศึกษาของผู้พิการในประเทศไทยยังไม่ดี จึงมีผู้พิการจำนวนมากที่เสียโอกาสที่จะเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศ
“สาเหตุที่ทำให้การศึกษาของผู้พิการไม่ดี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการออกแบบที่ไม่เอื้อให้เข้าถึงการศึกษา เช่น การไม่มีทางเท้า การไม่มีทางลาด การไม่มีลิฟต์ โดย ในอดีตธรรมศาสตร์ได้ประเมินอาคารว่าเป็นมิตรกับผู้พิการหรือไม่ ผลคือทุกอาคารสอบตกหมด จากนั้นจึงมีการจัดงบประมาณเพื่อปรับปรุงสถานที่ในทุกปี เมื่อสถานที่เป็นมิตรในทุกมิตินักศึกษาพิการก็เข้าถึงการศึกษาได้ดีขึ้น สุดท้ายผลการเรียนก็ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ฉะนั้นคิดว่าสถานศึกษาทุกระดับจำเป็นต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย” รศ.ดร.ชุมเขตกล่าว
ปิดท้ายที่ ศุภณัฐ ลี้ภัยสมบูรณ์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ผู้พิการทางการมองเห็น เปิดใจว่า อยากให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งปรับปรุงอาคารและโครงสร้างต่างๆ ให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้พิการ เช่น เลือกใช้ลิฟต์ที่มีอักษรเบรล จัดทำทางต่างสัมผัส ปรับสภาพห้องเรียนให้มีทางลาดสำหรับวีลแชร์ ปรับสภาพหอพัก รวมถึงมีไฟล์สื่อการเรียนการสอนที่สามารถใช้โปรแกรมช่วยอ่านได้
“ผู้พิการมีความไม่สะดวกเรื่องการเดินทาง การสัญจร บางคนจำเป็นต้องมาอยู่หอพักใกล้สถานศึกษาแต่ก็ต้องแลกมาด้วยค่าเช่าราคาแพง ฉะนั้นจึงอยากเสนอให้มหาวิทยาลัย ภาครัฐ หรือภาคเอกชน ให้ความสำคัญกับสวัสดิการเรื่องนี้ เช่น การช่วยสนับสนุนค่าเช่าหอพัก ลดราคาหอพักสำหรับผู้พิการ ลดราคาค่ารถไฟฟ้า ซึ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผู้พิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมาก” ศุภณัฐกล่าว
เป็นส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวประเด็นคนพิการไทยในวันนี้ซึ่งต้องมีพรุ่งนี้ที่ไม่เหมือนเมื่อวาน
ขอบคุณ... https://www.matichon.co.th/columnists/news_2443148