มานิร้องกมธ.ไม่ได้บัตรประชาชน นักวิชาการชี้เป็นกลุ่มดั้งเดิมที่สุดของไทย
เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 นางสรวรรณ นิรันรัตน์ ผู้ประสานงานเครือข่ายสิทธิพลเมืองพัฒนาคุณภาพชีวิตจังหวัดสตูล เปิดเผยว่าระหว่างการจัดงานวันรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเลครั้งที่ 11 บนเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล กลุ่มชาวมานิ อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร โดยระบุว่ามีชาวมานิดั้งเดิม 4 คน ได้ส่งข้อมูลให้สำนักทะเบียนอำเภอทุ่งหว้านานแล้ว แต่ไม่ได้รับการถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน
นางสรวรรณ กล่าวว่า กลุ่มชาวมานิช่องงับ หมู่ที่ 3 บ้านไทรทอง ตำบลนาทอน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล จำนวน 4 ราย คือ นายยา นางรวย นายจิตร และนางแดง ได้ยื่นเรื่องเพื่อขอจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนตั้งแต่ก่อนสถานการณ์โควิด 19 โดยได้มอบข้อมูลอย่างครบถ้วน แต่ปัจจุบันยังไม่ได้รับการถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน
ด้านนายณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ ผู้รับหนังสือ กล่าวว่า กลุ่มมานิเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่เปราะบาง ต้องได้รับการช่วยเหลือ ตนจะนำเรื่องร้องเรียนเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ เพื่อติดตามช่วยเหลือตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
ปัจจุบันสำรวจพบชาวมานิในเขตเทือกเขาบรรทัดทั้งสิ้น 374 คน อาศัยในเขตจังหวัดพัทลุง 2 กลุ่ม, ตรัง 4 กลุ่ม, สตูล 5 กลุ่ม และสงขลา 1 กลุ่ม รวมทั้งสิ้น 12 กลุ่ม ส่วนใหญ่ได้รับบัตรประจำตัวประชาชนแล้ว แต่มีบางส่วนที่ยังไม่ได้รับ
ชาวมานิทั้ง 12 กลุ่มยังใช้ชีวิตหมุนเวียนอยู่ป่าเทือกเขาบรรทัด โดยยึดการหา”มัน”ตามธรรมชาติเป็นสำคัญ เมื่อแหล่งอาหารมันลดลงก็ย้ายไปที่ใหม่ รอให้มันสมบูรณ์ขึ้นก็จะหมุนมาอีกครั้ง ส่วนอาวุธในการล่าสัตว์คงใช้ลูกดอกจากการเป่าไม้ซางเช่นเดิม นอกจากนี้ยังไม่มีการสะสมอาหารโดยการเพาะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์
นายสุรพงษ์ กองจันทึก นักมานุษยวิทยาและนักกฎหมาย ซึ่งเป็นที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการฯกล่าวว่า ชาวมานิเป็นกลุ่มคนที่เก่าแก่ที่สุดและดั้งเดิมที่สุดในประเทศไทย และยังดำรงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ถือเป็นชนเผ่าพื้นเมืองและเป็นคนไทยติดแผ่นดิน ซึ่งต้องได้รับการรับรองจากรัฐในฐานะพลเมืองไทย เป็นหน้าที่ของนายทะเบียนท้องที่คือนายอำเภอทุ่งหว้า ต้องเพิ่มชื่อชาวมานิกลุ่มนี้เข้าสู่ระบบทะเบียนราษฎรอย่างคนไทย เพื่อให้ได้รับสิทธิและสวัสดิการจากรัฐเช่นเดียวกับคนไทยทั่วไป
นายสุรพงษ์กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯเพิ่งไปเยี่ยมเยือนชาวมานิที่อำเภอละงู จังหวัดสตูลเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 พบว่าทางอำเภอละงูได้รับแจ้งการเกิดและเพิ่มชื่อชาวมานิในเขตอำเภอละงู เข้าสู้ระบบการทะเบียนราษฎรครบถ้วนทุกคนแล้ว โดยกลุ่มล่าสุดดำเนินการเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา จำนวน 17 ราย ตนหวังว่าทางอำเภอทุ่งหว้าจะดำเนินการให้ชาวมานิครบถ้วนทุกคนเช่นเดียวกัน