สะพานแห่งกาลเวลา : ดวงตาเทียม โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์
วิทยาศาสตร์และวิทยาการก้าวหน้าไปเร็วมาก โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ ความเป็นความตายของมนุษย์เรา หลายอย่างรุดหน้าไปอย่างที่เราคาดไม่ถึง
นักวิทยาศาสตร์อเมริกันเพิ่งประกาศผลสำเร็จในการนำเอาตัวอ่อนมนุษย์ที่ผ่านการผสมแล้ว ซึ่งแช่แข็งไว้เมื่อ 27 ปีก่อน มาปลูกถ่ายไว้ในมดลูกของสตรีในอีก 27 ปีต่อมา แล้วยังสามารถเจริญเติบโตคลอดออกมาเป็นเด็กหญิงสมบูรณ์แบบคนหนึ่ง ในครอบครัวของคู่สามีภรรยาที่มีปัญหามีลูกยากและต้องการมีลูกกับเขาด้วย
นั่นเป็นการแสดงศักยภาพของเทคโนโลยีแช่แข็งในปัจจุบันที่อาจมีบทบาทต่อสังคมมนุษย์ในอนาคตสูงยิ่ง
หากเราประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนี้เข้ากับเทคโนโลยีการผสมเทียมนอกมดลูก แล้วพัฒนา “ครรภ์เทียม” เลี้ยงดูตัวอ่อนมนุษย์นอกมดลูกขึ้นมาสำเร็จในอนาคต
นั่นอาจหมายความผู้หญิงไม่จำเป็นต้องตั้งครรภ์ ไม่จำเป็นต้องอุ้มท้องอีกต่อไป
อาจมีใครสักคนหรือหลายคน สามารถเล่นบท “พระเจ้า” สร้างเด็กๆ ขึ้นมาให้เป็น “ลูกหลาน” ของทุกคนได้โดยง่าย ขึ้นอยู่กับว่าเราจะต้องการหรือไม่และต้องการมีลูกๆ เหล่านั้นเมื่อใด
ภาวะเจ็บป่วยและบกพร่องของร่างกายมนุษย์ก็เช่นเดียวกัน เทคโนโลยีช่วยสร้างแขนเทียม ขาเทียม ที่สามารถ “บังคับด้วยคลื่นสมอง” ของเราเอง เพื่อชดเชยส่วนที่ขาดหายไปของร่างกายได้มากขึ้นเรื่อยๆ
อีกไม่นาน เทคโนโลยีก้าวหน้าเหล่านี้ก็อาจแพร่หลาย ลดความซับซ้อน และราคาถูกลงจนทุกคนสามารถเป็นเจ้าของได้
ถึงตอนนั้น แต่ละคนคงมีชีวิตยืนยาว และสมบูรณ์พร้อมมากขึ้นเรื่อยๆ
ความพิการของร่างกายอีกอย่างหนึ่งที่แวดวงเทคโนโลยีพยายามหาหนทางแก้ปัญหามานานหลายสิบปีแล้ว ก็คือ ความพิการทางสายตา ที่เป็นปัญหาของผู้คนไม่น้อยกว่า 40 ล้านคนทั่วโลก
ล่าสุดทีมวิจัยของสถาบันประสาทวิทยาแห่งเนเธอร์แลนด์ (เอ็นไอเอ็น) นำโดยศาสตราจารย์ ปีเตอร์ โรล์ฟเซมา ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการเอ็นไอเอ็น ประสบความสำเร็จในการบุกเบิกสร้าง “ดวงตาเทียม” ขึ้นมาอย่างน่าสนใจ
หลักการทำงานของดวงตาเทียมของเอ็นไอเอ็นนั้นเป็นหลักการเดียวกันกับแนวคิดเมื่อหลายสิบปีก่อน ที่ใช้วิธีส่งสัญญาณไฟฟ้าอ่อนๆ กระตุ้นสมองในส่วน “วิชวลคอร์เท็กซ์” หรือเยื่อหุ้มสมองด้านหลังที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการมองเห็นภาพ ให้ “เห็น” ภาพเป็นจุดประ ต่อเนื่องกันเป็นโครงสร้างของภาพ หรือฟอสฟีนส์
ทำนองเดียวกับที่เม็ดสี หรือพิกเซลจำนวนนับล้านๆ เม็ด ประกอบกันขึ้นเป็นภาพดิจิทัลนั่นเองครับ
แต่ “ตาเทียม” ที่เอ็นไอเอ็นพัฒนาขึ้นนั้น มีความละเอียดกว่ามาก แม้จะเป็นเพียงงานขั้นต้นเพื่อพิสูจน์หลักการทำงานนี้ก็ตาม
โรล์ฟเซมาอธิบายการทำงานของตาเทียมนี้เอาไว้ใน เจอร์นัล ออฟ ไซน์ซ เมื่อไม่นานมานี้ว่า ประกอบด้วยการผ่าตัดฝัง อิเล็กโทรดจำนวน 1,024 ตัวไว้ที่สมองส่วนวิชวลคอร์เท็กซ์ ของลิงทดลอง 2 ตัว ทำหน้าที่เปลี่ยนภาพที่มองเห็นให้เป็นกระแสไฟฟ้า เพื่อกระตุ้นสมองส่วนดังกล่าวให้มองเห็น “พิกเซลเทียม” คือจุดขนาดเล็กๆ ที่เรียงต่อกันขึ้นเป็นรูปร่างของสิ่งที่เห็น
จำนวนของพิกเซลขึ้นอยู่กับจำนวนของอิเล็กโทรด และพิกเซลยิ่งมาก ภาพที่เห็นยิ่งคมชัดครับ
ในกรณีของการฝัง 1,024 ตัว นี้ โรล์ฟเซมาบอกว่าสามารถช่วยให้เกิดการมองเห็นที่ละเอียดมากพอที่จะจำแนก ตัวเลข หรือตัวอักษร ได้ดี
หากนำมาประยุกต์ใช้ในคนซึ่งพิการทางสายตา ก็อาจจำเป็นต้องติดตั้งกล้องรับสัญญาณภาพไว้แทนดวงตา (อาจเป็นในรูปของแว่นตา) แล้วเชื่อมต่อสัญญาณดังกล่าวเข้ากับอิเล็กโทรด ที่จะแปรสัญญาณภาพเป็นกระแสไฟ สำหรับใช้กระตุ้นวิชวลคอร์เท็กซ์ เท่านี้ก็ทำให้คนตาบอดกลับมามองเห็นได้อีกครั้ง แม้จะไม่สมบูรณ์เหมือนเมื่อก่อน และยังเป็นภาพสีเดียวคือ โมโนโครม แต่ก็ดีพอต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้
โรล์ฟเซมาบอกว่าในอนาคต เทคโนโลยีการเชื่อมต่อแบบไร้สายจะเข้ามาแทนที่ต้นแบบนี้ ขนาดอิเล็กโทรดที่เล็กลงก็อาจทำให้ได้พิกเซลมากขึ้นและมีสีสันขึ้น และอาจติดตั้งอยู่ภายนอกไม่จำเป็นต้องผ่าตัดฝังไว้อีกต่อไปก็เป็นได้
นี่คือบทพิสูจน์อีกประการของคำกล่าวที่ว่า ในอนาคต มนุษย์ กับ เครื่องจักรกล จะขยับเข้าใกล้กันมากยิ่งขึ้น
หลงเหลือเพียงเส้นแบ่งบางๆ เส้นเดียว ที่เรียกว่า อารมณ์ ความรู้สึก และจริยธรรม เท่านั้นเอง