ยังมีหวัง! แม้ตาบอดก็มองเห็นได้ หลังทดลองฝังรากสมองเทียมในลิงสำเร็จ
สถาบันประสาทวิทยาเนเธอร์แลนด์ประกาศผลสำเร็จการทดลองฝังรากสมองเทียมในลิงเพื่อรักษาอาการตาบอด เป็นอีกหนึ่งความหวังของผู้พิการทางสายตาทั่วโลก ที่จะได้มีโอกาสกลับมามองเห็นได้อีกครั้ง
นักวิจัยได้พัฒนารากสมองเทียมที่มีอิเล็กโทรด (ขั้วไฟฟ้า) 1,024 เส้น ซึ่งเป็นตัวนำกระแสไฟฟ้าเข้าและออกจากสมอง และฝังไว้ในเปลือกสมองส่วนการมองเห็น (Visual Cortex) ของลิงแสม 2 ตัว ด้วยการส่งสัญญาณไฟฟ้าไปยังสมองของลิง จะสามารถสร้าง "ฟอสฟีน" ซึ่งเป็นจุดแสงที่สมอง "มองเห็น" หรือรับรู้ได้ และสามารถใช้จุดแสงเหล่านั้นในการสร้างภาพเสมือนของรูปทรงและวัตถุได้
ปีเตอร์ รูล์ฟเซมา นักวิจัยกล่าวว่า ทีมงานต้องการแสดงให้เห็นว่า เราสามารถสร้าง "การมองเห็นวัตถุ" ได้โดยการกระตุ้นด้วยไฟฟ้าไปยังสมองโดยตรง ลิงแสมที่ได้รับการฝังรากสมองเทียม ถูกทดลองพฤติกรรมหลายอย่าง และพบว่า พวกมันสามารถใช้ "การมองเห็นเทียม" ในการจดจำรูปร่างและรับรู้เส้นจุดที่เคลื่อนไหว รวมถึงมองเห็นตัวอักษรด้วย
ทีมวิจัยเชื่อว่า ในอนาคตเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถใช้จำลองการมองเห็นในคนผู้พิการทางสายตาได้ แต่อาจเฉพาะผู้ที่เคยมองเห็นมาก่อนแล้วตาบอดภายหลัง
รูล์ฟเซมา กล่าวว่า เมื่อดวงตาของผู้คนหยุดทำงานและสูญเสียการมองเห็น เยื่อหุ้มสมองส่วนการมองเห็นจะขาดการป้อนข้อมูล "สิ่งที่เราทำคือ เราไม่ได้แก้ไขที่ดวงตาซึ่งทำงานผิดปกติ แต่ถ่ายทอดภาพเข้าไปในเปลือกสมองโดยตรง" ทั้งยังเสริมว่า "ถ้าถูกกระตุ้นด้วยอิเล็กโทรด คุณจะเห็นแสงหนึ่งจุด หากกระตุ้นด้วยรูปแบบ เราก็จะสามารถสร้างรูปแบบของจุดขึ้นมาได้ และจากรูปแบบเหล่านี้ ก็จะกลายเป็นภาพที่มีความหมาย จุดยังสามารถใช้เพื่อสร้างตัวอักษรได้ด้วย"
ในอนาคตบุคคลผู้พิการทางสายตาสามารถพกแว่นตาที่มีกล้อง ก่อนจะแปลภาพเป็นรูปแบบการกระตุ้นด้วยไฟฟ้า ส่งไปยังอิเล็กโทรด และกระตุ้นให้สมองสร้างภาพที่กล้องมองเห็นขึ้นมา "จากนั้นอิเล็กโทรดจะกระตุ้นสมอง และบุคคลนั้นจะสามารถมองเห็นได้ว่า อาจจะมีรถกำลังมา หรือคนที่กำลังเดินผ่านไป" เขากล่าวพร้อมเสริมว่า เขาหวังว่าเทคโนโลยีนี้จะพร้อมทดลองใช้กับมนุษย์ภายในปี 2023
นักวิจัยจากทั่วโลกมองว่าฝังรากสมองเทียมนั้นเป็นวิธีที่เป็นไปได้จริง ทอม เมอร์ซิก โฟลเกล ผู้อำนวยการศูนย์วงจรประสาทและพฤติกรรม กล่าวว่า "แสดงให้เห็นว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ไม่ใช่มนุษย์สามารถตอบสนองต่อรูปแบบการกระตุ้นที่ซับซ้อนในเยื่อหุ้มสมองในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน เมื่อเห็นภาพแบบปกติ"
ทั้งยังกล่าวเสริมอีกว่า "แม้ว่าเราจะไม่มีทางรู้ว่าสัตว์อื่นรับรู้อะไร แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าการกระตุ้นด้วยไฟฟ้าส่งผลให้เกิดการรับรู้ภาพ ซึ่งการศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงนี้ช่วยเพิ่มหลักฐานที่เพิ่มขึ้นซึ่งเชื่อมโยงกิจกรรมของประสาทและความรู้สึก และยังปูทางไปสู่การปลูกถ่ายสมองที่ช่วยเสริมการทำงานของสมองเมื่อสมองได้รับความเสียหาย"