รองผู้ว่าฯสระแก้ว ร่วมพิธีลงเสาเอกอาคารสำนักงานสมาคมส่งเสริมการศึกษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในประเทศไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2563 นายณัฏฐชัย นำพูลสุขสันต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เป็นประธานในพิธียกเสาเอกอาคารสำนักงานสมาคมส่งเสริมการศึกษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในประเทศไทย ณ เลขที่ 255-256 หมู่ 10 ต.วัฒนานคร อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว เป็นพื้นที่ตรงข้ามกับบ้านนายกสมาคมส่งเสริมการศึกษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในประเทศไทยนายศิลปชัย วัชรชวกุล ในหมู่บ้านการ์เด้นท์โฮม ซอย 5 เพื่อใช้เป็นพื้นที่ดำเนินกิจกรรมต่างๆเพื่อยกระดับและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนพิการทั่วประเทศ ทั้งด้านการศึกษาอาชีพ เศรษฐกิจ สถานภาพทางสังคม และอื่นๆ
นายศิลปชัย กล่าวรายงานว่า สมาคมส่งเสริมการศึกษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในประเทศไทย จดทะเบียนก่อตั้ง เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2550 โดยอาศัยพื้นที่บ้านของ นายอำคา เศษโถ ผู้มีจิตอันเป็นกุศลเลขที่ 78 ม.10 ต.ฟากห้วย อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ซึ่งต่อมาได้ย้ายมาอาศัยในพื้นที่ของสมาคมคนตาบอดจังหวัดสระแก้ว เลขที่ 90/303 ม.10 ต.วัฒนานคร อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว วันนี้เป็นโกาสอันดีที่เราได้มีลงเสาเอกเพื่อการก่อสร้างสมาคมฯของเราเอง ตามวัตถุประสงค์ เพื่อประสานงานและร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ ทั้งในภาครัฐและเอกชนทั้งในและนอกประเทศ เพื่อส่งเสริมการศึกษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในประเทศไทย ดำเนินกิจกรรมต่างๆเพื่อยกระดับและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนพิการทั่วทั้งประเทศ ด้านการศึกษาอาชีพ เศรษฐกิจ สถานภาพทางสังคม และอื่นๆ
ทั้งนี้สถานการณ์ด้านผู้พิการจังหวัดสระแก้ว มีจำนวนเพิ่มขึ้น ทั้งจากการที่สังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนของผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ และจำนวนคนพิการที่เพิ่มขึ้นจากปัญหาสุขภาพและอุบัติเหตุอีกทั้งคนพิการยังประสบปัญหาด้านโอกาสทางการศึกษา แม้ว่าจังหวัดสระแก้วจะมีสถาบันการศึกษาในทุกระดับ แต่ยังมีข้อจำกัดของการจัดการศึกษาของคนพิการ ทั้งด้านบุคลากร หลักสูตร วิชาที่สอน สื่ออุปกรณ์การเรียนที่ตรงตามความต้องการของแต่ละประเภทความพิการ รวมถึงปัญหาการไม่มีงานทำของคนพิการที่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจของโลก และในประเทศผันผวน ส่งผลกระทบในการประกอบอาชีพของคนพิการเกิดความไม่แน่นอน จึงเป็นเหตุผลจำเป็นที่สมาคมฯ ต้องมีสำนักงานเป็นของตนเองเพื่อให้เป็นไปตามสังคมโลกที่มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างแพร่หลาย การส่งเสริมสังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ ซึ่งสมาคมฯเองอยู่ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและสลับซับซ้อนนี้
การก่อสร้างสำนักงานจะเป็นศูนย์รวมของความช่วยเหลือ ภายใต้นโยบาย "4 ปี 4 ล้าน สร้างงาน สร้างการศึกษา ” จะทำหน้าที่ในการให้บริการและประสานงานเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับองค์กรคนพิการและส่วนงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ ในงานคนพิการทุกด้านแบบบูรณาการ จะเป็นสถานที่ในการจัดกิจกรรมและบริการ เพื่อส่งเสริมให้คนพิการได้รับการพัฒนาด้านสุขภาพ จิตใจ และสังคม เป็นศูนย์ส่งเสริมอาชีพ การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และการถ่ายทอดภูมิปัญญา อีกทั้งการที่จังหวัดสระแก้วเป็นพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจชายขอบระหว่างแดนมิตรประเทศซึ่งเป็นโอกาสของคนพิการในจังหวัดที่จะมีอาชีพและมีงานทำ ในอนาคตจะเป็นสถานที่สำหรับเตรียมความพร้อมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับคนพิการ และหน่วยงานต่างๆ ในการประสานความร่วมมือ เพื่อก้าวสู่ศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประชาคมอาเซียน และอื่นๆเช่น เป็นศูนย์เรียนรู้และข้อมูลที่แท้จริงเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจตรงกันในการรับบริการและการให้บริการ,เป็นศูนย์ต้นแบบคลังปัญญา แหล่งรวบรวมข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ ให้คนพิการได้ศึกษานำไปพัฒนาตนเอง ครอบครัว และสังคม ,เป็นศูนย์ประสานงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวิชาการ และปฏิบัติในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศและระหว่างประเทศ ตามเป้าหมายเป็นสถานที่ที่คนพิการ หรือองค์กรคนพิการ อื่น และหน่วยงานทุกภาคส่วนใช้เป็นสถานที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน
ทั้งนี้ เพื่อมุ่งเน้นการร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการจังหวัดสระแก้ว แบบบูรณาการในทุกมิติ ทั้งมิติด้านสุขภาพ มิติด้านการศึกษาและเทคโนโลยี มิติด้านอาชีพ การมีงานทำ มิติด้านสังคม และการเข้าถึงสิทธิ เพื่อให้คนพิการอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี มั่นคงปลอดภัยตลอดจนเข้าถึงสิทธิอย่างเสมอภาค และเท่าเทียม ตามแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2560 – 2564 ที่ได้กำหนดวิสัยทัศน์ “คนพิการเข้าถึงสิทธิได้จริง ดำรงชีวิตอิสระในสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันอย่างยั่งยืน” ภายใต้ยุทธศาสตร์แห่งความเท่าเทียม
นายณัฏฐชัย นำพูลสุขสันต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า ในฐานะที่ตนดูแลและทำงานใกล้ชิดกับผู้พิการหรือที่อาจถูกมองว่าเป็นปัญหาทางสังคมมาตลอด การรวมตัวตั้งสมาคมและสามารถสร้างอาคารเป็นของกลุ่มตัวเองได้ถือว่าชื่นชมยกย่อง ซึ่งจะทำให้สังคมมองคนกลุ่มนี้ว่าเป็นปัญหาลดน้อยลงไป ศูนย์ฯจะเกิดขึ้นได้ ตามที่นายกสมาคมฯกล่าวพูดให้ฟัง น่าชื่นชมมาก ควรที่กลุ่มอื่นๆควรนำไปเป็นเยี่ยงอย่าง ความคิดรวมตัวกันเพื่อความเขมแข็ง และมองให้เป็นศูนย์การศึกษาของคนรุ่นถัดไป ซึ่งความพิการ มีถึง 9 ประเภท เช่น พิการทางสอง ตั้งแต่กำเนิดบ้าง หรือพิการจากการถูกกับระเบิดเพราะเราเป็นจังหวัดติดกับชายแดนเพื่อนบ้าน ดังนั้นเราจึงต้องผ่านระบบการพัฒนาที่ไม่ใช่ระบบปกติ เมื่อเป็นศูนย์ฯที่จะรวมเอาน้องๆเด็กๆรุ่นถัดไปที่เกิดมาไม่สมบูรณ์เหมือนพวกเราเข้ามาเพื่อได้รับการพัฒนาตั้งแต่ต้น เชื่อว่าจะทำให้ปัญหาต่างๆลดลง "ผมคาดหวังอย่างยิ่งว่าบทบาทตรงนี้ จะทำให้เกิดภาพความอุ่นใจของครอบครัวที่มีเด็กผู้พิการมั่นใจว่าสมาชิกของเขาจะได้รับการดูแลจากกลุ่มที่เข้าใจพวกเขามากๆอันเป็นความรู้สึกเดียวกัน พวกเขาจะมีความสุขและภูมิใจมากขึ้นว่าเขาไม่ได้เป็นภาระของสังคม"
อย่างไรก็ตามทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนอกจากจังหวัดและองค์กรต่างๆในจังหวัดแล้ว เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สถาบันการศึกษามีศูนย์การศึกษาพิเศษ ทุกคนเห็นความสำคัญของปัญหาผู้พิการ ดังนั้นหากได้รับการดูแลตั้งแต่ต้นสิ่งที่เป็นปัญหาก็จะไม่เป็นปัญหา ทำให้พวกเขาสามารถยืนอยู่บนขาตัวเองได้และยิ่งมีการรวมตัวกันความเข้มแข็งก็จะเกิดขึ้น ส่วนทางด้านเงินทุนกลุ่มพวกเขากลุ่มนี้ก็มีเงินทุนอยู่แล้วที่จะช่วยดูแล
"ทุกครั้งที่มีการร้องขอจากสายธารนี้ ผู้ที่นั่งเป็นกรรมการทุกคนจะรู้สึกว่าหากเอาไปแล้วเป็นประโยชน์เขาก็จะให้ด้วยความยินดีมาก ซึ่งคนสระแก้วที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันมีอยู่มาก มีหลายๆภาคส่วนที่ต้องการช่วยเหลือคนกลุ่มนี้อยู่แล้ว จังหวัดเราพร้อมที่จะเป็นสื่อกลางให้ด้วยอยู่แล้วจะพยายามนำเสนอภาคส่วนที่มีศักยภาพที่จะช่วยดูแลครับ"รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้วกล่าวยืนยัน พร้อมระบุว่า สำหรับจำนวนผู้พิการที่จ.สระแก้ว มีอยู่ประมาณหนึ่งหมื่นเก้าพันกว่าคน อาจจะเป็นเพราะเป็นจังหวัดชายแดน บางครั้งความพิการเกิดจากกับระเบิดบ้างก็มีจำนวนไม่น้อย อย่างไรก็ตามศูนย์นี้จะเป็นแหล่งเรียนรู้ตามความมุ่งหมายของท่านนายกสมาคมฯและเป็นเยี่ยงอย่างที่ดีมากที่ได้ทำอะไรเพื่อเป็นประโยชน์ของกลุ่มตัวเอง