กทม. ระดมความคิดออกแบบเปลี่ยนทางม้าลาย มอบความสะดวกให้ทุกคน ข้ามได้ปลอดภัย
โฆษกกทม. เตรียมทำทางม้าลายต้นแบบ ให้ความสะดวกประชาชน เหมาะกับผู้พิการมากขึ้น สามารถข้ามได้อย่างปลอดภัย หลังพบปัญหาหลายอย่าง
วันนี้ (18 ม.ค.) ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกของกรุงเทพมหานคร ได้โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก "เอิร์ธ พงศกร ขวัญเมือง - Earth Pongsakorn Kwanmuang" ในการระดมความคิดออกแบบทางม้าลายต้นแบบ หลังพบปัญหารถจักรยานยนต์จอดทับทางม้าลาย ไม่มีที่จอดระหว่างรอสัญญาณไฟจราจร และปัญหาอีกหลายๆ อย่าง โดยโฆษกกรุงเทพมหานคร ระบุข้อความว่า
ทางม้าลาย... ที่หยุดรถ! หรือ ที่คนเดินข้าม!
คนข้ามถนน...ต้องเดินหลบ เดินเลี่ยงแทรกระหว่างรถ ปัญหาหนึ่ง ที่ต้องระวังเวลาเดินข้ามทางม้าลาย ต้องเดินหลบรถ บางทีก็ต้องวิ่งตอนรถไม่มี หรือบางทีก็หาที่ข้ามถนนที่อื่น แม้ว่าจะไม่ใช่ทางม้าลาย
รถจักรยานยนต์... ก็จำเป็นต้องจอดคร่อมทางม้าลายบ้าง เพราะไม่มีที่จอดระหว่างรอสัญญาณไฟจราจร รถยนต์จอดติดขอบทางม้าลาย
จะจอดแทรกข้าง ๆ ก็กลัวถูกเฉี่ยว
รถยนต์...ก็ต้องจอดติดทางม้าลาย เพราะไม่มีอะไรบอกว่า ต้องเว้นที่ให้ จยย. (ยกเว้นบางแยกที่มีที่จอด จยย)
คนเดินข้ามทางม้าลาย ซึ่งอาจจะเป็นผู้พิการ ผู้สูงอายุ หรือแม้แต่ผู้ที่ต้องถือของเยอะๆ เดินยากมาก ต้องระวังบ้าง ต้องหลบบ้าง ต้องเดินนอกทางม้าลายบ้าง
สุดท้ายคำตอบที่ได้ ในการแก้ไขในปัญหานี้ ที่หลายๆคนแนะนำ ก็คือการแก้ “จิตสำนึก”
แต่ผมคิดว่า #การออกแบบเชิงโครงสร้างสาธารณูปโภค จำเป็นจะต้องทำควบคู่กับสิ่งนั้น
ผมจึงได้มาลงพื้นที่กับ
พี่ซาบะ Accessibility Is Freedom เข้าถึงและเท่าเทียม ตัวแทนกลุ่ม T4A
คุณแบงค์ โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure /
สำนักการโยธา
และสำนักจราจรและขนส่ง
และได้คำแนะนำจาก เฮ้ย นี่มันฟุตบาทไทยแลนด์
เพื่อมาหาทางออกแบบทางม้าลายที่อำนวยความสะดวกให้ทุกคน สามารถข้ามได้สะดวกและปลอดภัย
แต่การหาส่วนผสมที่ลงตัวนั้น จะต้องผ่านการทดลองออกแบบ และดูประสบการณ์ของผู้ใช้ (User eXperience :ux) สำหรับทางท้าลายต้นแบบที่เราต้องการจะออกแบบให้เป็นตัวอย่างก็คือ ทางม้าลายแยกอโศก ทำให้การจอดรถรอสัญญาณไฟจราจรที่ถูกวิธี ได้แก่
1. ขยายขนาดของทางม้าลาย ทำพื้นที่สีแดง และเขียนคำเตือน “พื้นที่จับปรับ” เพื่อไม่ให้รถ จยย. จอด
2. บริเวณเกาะกลาง ฝั่งอาคารเอ็กซ์เชนจ์ ทำทางลาดเพื่อให้คนที่ใช้วีลแชร์ สามารถข้ามทางม้าลายได้สะดวก
3. ทางม้าลายที่ใช้ข้ามแยกอาคารเอ็กเชนจ์ไปอินเตอร์เชนจ์ นำพื้นที่เกาะกลางถนนออก และทำเป็นทางม้าลาย เพื่อเลี่ยงทางเดินที่ตรงกับเสารถไฟฟ้า
4. บริเวณเกาะกลาง ฝั่งป้อมตำรวจ ปรับปรุงทางเท้าใหม่และทำทางลาด เพื่อให้คนที่ใช้วีลแชร์สามารถใช้ได้สะดวก
5. เพิ่มทางม้าลาย โดยทำพื้นสีแดง บริเวณหน้าป้อมตำรวจ ฝั่งแนวรถไฟฟ้า เพื่อให้สามารถเดินข้ามทางม้าลายได้แนวตรงยาวจนถึงอีกฝั่งหนึ่ง โดยนำป้ายบอกทางและสิ่งของที่ไม่จำเป็นออก
5. เพิ่มไฟส่องสว่าง บริเวณทางม้าลายฝั่งห้างสรรพสินค้า Terminal 21
6. เลือกใช้สีทางม้าลายที่ชัดและติดทนนานมากกว่าเดิม
เมื่อรูปแบบเสร็จแล้วจะขอนำแบบมาให้ทุก ๆ คนดู เพื่อช่วยแนะนำ
แต่ถ้าใครมีไอเดียหรือผ่านทางแยกนี้เป็นประจำ ก็ช่วยแนะนำมาในโพสต์นี้ได้เลยนะครับ