อุดช่องว่างดิจิทัล ช่วยพลิกชีวิตคนพิการ
แม้เทคโนโลยีจะพัฒนาก้าวไกลไปถึงยุค 5G แต่ทุกวันนี้กลุ่มผู้พิการมีข้อจำกัดในการใช้งานออนไลน์ สำหรับผู้พิการทางสายตาเข้าไม่ถึงข้อมูลผ่านทางอินเตอร์เน็ต เนื่องจากเว็บไซต์ที่มีอยู่ส่วนใหญ่ไม่รองรับการใช้งานของคนตาบอด จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขไทยมีผู้พิการทางสายตา 2 ล้านคน พบว่า เว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนไม่เอื้ออำนวยแก่ผู้พิการและผู้สูงอายุให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้เหมือนคนทั่วไป ไม่รวมอุปสรรคการเข้าถึงสิทธิความช่วยเหลือและบริการต่างๆ เพราะไม่มีโทรศัพท์มือถือ ขาดเงิน และเข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ท ทำให้เสียโอกาส ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง นี่เป็นเศษเสี้ยวของ’ช่องว่างทางดิจิทัล’
งานวิจัยล่าสุดจากโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาแนวทางการขับเคลื่อนงานลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลและระบบสื่อเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะ โดยมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่แถลงต่อสังคม เมื่อวันก่อน สำรวจ 3 กลุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วย เด็กนักเรียนในโรงเรียน กลุ่มผู้สูงอายุ และคนพิการ เพื่อศึกษาสถานการณ์ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล นำไปสู่การพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายสร้างความเสมอภาคทางดิจิทัล พบผลสำรวจที่ไม่น่าละเลย
ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวว่า คนพิการส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ร้อยละ 42 รายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 5,000-10,000 บาท ร้อยละ 32 รายได้ต่ำกว่าเดือนละ 5,000 บาท ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปและไม่ได้ทำงาน คนพิการมีโทรศัพท์มือถือของตนเองและใช้อินเตอร์เน็ทบนมือถือร้อยละ 90 รองลงมาใช้อินเตอร์เน็ทความเร็วสูงที่บ้าน จากข้อมูลเข้าถึงอินเตอร์เน็ทระดับดี แต่ศูนย์ดิจิทัลชุมชนที่จะช่วยเหลือหรือบริการด้านดิจิทัลไม่ครอบคลุมพื้นที่
ส่วนเนื้อหาข้อมูลที่คนพิการคิดว่าสำคัญจำเป็นต่อการใช้ชีวิต 5 อันดับแรก ได้แก่ ข้อมูลวิธีการใช้ประโยชน์จากอินเตอร์เน็ท ตามด้วยข้อมูลด้านการดูแลสุขภาพ ,ข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะอาชีพและการหางาน ,ข้อมูลการซื้อขายสินค้าออนไลน์อย่างปลอดภัย และข้อมูลภัยออนไลน์ ส่วนผู้สูงอายุสนใจข้อมูลบริการภาครัฐและสวัสดิการของรัฐ ขณะที่เด็กๆ ก็สนใจข้อมูลด้านการศึกษาและการท่องเที่ยว วิจัยชี้รัฐต้องพัฒนาเนื้อหาข้อมูลเหลานี้ให้พร้อมใช้งาน เข้าถึงได้ทุกคน นอกจากนี้ กลุ่มคนพิการต้องการความช่วยเหลือในการจ่ายค่าอินเตอร์เน็ตและอุปกรณ์มากที่สุด
“ ทั้งคนพิการ คนสูงวัย เห็นว่าอินเตอร์เน็ทมีประโยชน์ต่อชีวิตยุคนี้ ใช้สืบค้นข้อมูลจำเป็น สนใจใช้ช่องทางออนไลน์ทำธุรกรรมการเงิน และมีความกังวลมากถึงมากที่สุด เมื่อไม่สามารถใช้งานหรือเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ วิจัยพบการถูกละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลหรืออัปโหลดข้อมูลส่วนตัว รูปภาพและวิดีโอบนสื่อออนไลน์ต่างๆ ที่ไม่ปลอดภัย ที่น่ากังวลเด็กตระหนักเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลน้อยกว่ากลุ่มอื่น เห็นได้จากการแชร์ตำแหน่ง เช็คอินสถานที่ไปเสี่ยงถูกติดตาม หรือเคยถูกเอาภาพ วิดีโอส่วนตัวไปใช้ไม่เหมาะสม ถูกหลอกลงทุน ปัจจุบันเด็กตกเป็นเหยื่อภัยออนไลน์เพิ่มขึ้น ทั้งไซเบอร์บูลลี่ คุกคามทางเพศออนไลน์ คนพิการยังกังวลเรื่องมิจฉาชีพออนไลน์มีมาก รัฐต้องสร้างระบบความปลอดภัย “ ดร.ศรีดา กล่าว
สำหรับความช่วยเหลือที่ทั้ง 3 กลุ่มต้องการ 3 อันดับ กก.ผจก.มูลนิธิอินเตอร์เน็ทฯ บอกว่า ค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงดิจิทัล อุปกรณ์ในการเข้าถึงดิจิทัล และการฝึกอบรมทักษะความสามารถใช้ดิจิทัลอย่างปลอดภัยสร้างสรรค์และรู้เท่าทัน ส่วนคนพิการยังต้องการความสนับสนุนช่วยเหลือด้านอุปกรณ์พิเศษในการเข้าถึงและใช้งานดิจิทัล ตัวช่วยเพื่อให้เข้าถึงและเข้าใจเนื้อหาข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นล่ามภาษามือหรือข้อความบรรยายรูปภาพสำหรับคนหูหนวก เสียงบรรยายภาพหนังสือเสียงหรือเบรลล์สำหรับคนตาบอด ก่อนที่จะไปถึงเว็บไซต์ตามมาตรฐานสากลที่ทุกคนเข้าถึงได้ WCAG – Web Content Accessibility Guidelines รวมถึงอุปกรณ์พิเศษสำหรับคนเฉพาะกลุ่ม พิการทางร่างกาย สายตาเลือนลาง ผู้สูงอายุ
“ ในโลกแห่งความจริงมีการผลักดันอารยสถาปัตย์ หรือ Universal Design การออกแบบโดยคำนึงถึงข้อจำกัดทุกคน ทั้งคนพิการ เปราะบาง ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ ไม่ต่างจากในโลกเสมือนจริงที่ต้องออกแบบพัฒนาเว็บไซต์ แพลตฟอร์มออนไลน์ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและได้ใช้ประโยชน์อย่างเท่าเทียม “ ดร.ศรีดา ย้ำ
นายชัชชัย วิจิตรจรรยา เลขานุการสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หน่วยงานภาครัฐ อย่าง กสทช.มีโครงการช่วยเหลือผู้พิการ คนด้อยโอกาส ให้เข้าถึงการใช้อินเตอร์เน็ตทั่วถึงผ่านการทำจุดบริการเชื่อมต่อเข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ฟรีไวไฟ ที่บ้านผู้ใหญ่ โรงเรียน วัด องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด โครงการลักษณะนี้ไม่เหมาะกับกลุ่มผู้พิการ ที่มีข้อจำกัดเรื่องการเดินทาง ทำให้ไม่เกิดประโยชน์สูงสุด สัญญาณอินเตอร์เน็ตอยู่ในอากาศ ควรมุ่งทำให้โครงข่ายอินเตอร์เน็ทความเร็วสูงเข้าถึงทุกหมู่บ้าน คนพิการนั่งอยู่บ้านสามารถใช้งานอินเตอร์เน็ตได้ และมีส่วนลดในการใช้บริการผ่านเครือข่ายต่างๆ เพื่อให้มีศักยภาพในการชำระค่าบริการมากขึ้น
“กลุ่มคนพิการต้องใช้โทรศัพท์มือถือและเทคโนโลยีในการดำเนินชีวิตเหมือนคนทั่วไป ปัจจุบันรัฐจับมือเอกชนออกแพ็กเกจอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงเฉพาะกลุ่มคนพิการ แต่การช่วยเหลือคนพิการกลับนำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมาเป็นขีดจำกัดถึงจะได้รับสิทธิ นี่คือ ความเหลื่อมล้ำ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่ใช่คนพิการทุกคนจะมี อย่างคนตาบอดส่วนใหญ่เป็นตัวแทนขายลอตเตอรี่ มีเงินหมุนเวียนเยอะ แต่รายได้จริงน้อยมาก กำไรเต็มที่เฉลี่ย 9,000 บาทต่อเดือน แต่รายได้ทั้งปีไม่เข้าเกณฑ์รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อยากให้ กสทช. ทบทวนหลักเกณฑ์นี้เพื่อสร้างความเสมอภาค เสนอให้พิจารณาจากความพิการ มิฉะนั้น คนตาบอดจะตกขบวนอีกมาก “ นายชัชชัย กล่าว
ตัวแทนคนตาบอดบอกด้วยว่า ต่อให้หน่วยงานรัฐจะแจกคูปองหรือมอบส่วนลดให้คนพิการไปซื้อคอมพิวเตอร์ มือถือ หรือมีโครงข่ายอินเตอร์เน็ทไปถึงบ้าน แต่จะไม่เกิดประโยชน์เลย ถ้าไม่สอนทักษะการใช้สมาร์ทโฟนให้คนตาบอด หรือคนพิการประเภทอื่นๆ โครงการอบรมจำเป็นเพื่อสร้างทักษะพื้นฐานและทักษะใหม่ๆ ที่จำเป็นต่อการใช้งานออนไลน์ สมาคมฯ จัดอบรมทักษะด้านนี้ต่อเนื่อง คนตาบอดใช้โทรศัพท์รุ่นเดียวกับคนทั่วไป เพียงแต่มีซอฟต์แวร์ระบบเสียงในโทรศัพท์ ทำให้สามารถอ่านหน้าจอ แต่ปัญหาปัจจุบันยังไม่มีการพัฒนาเว็ปไซต์ที่รองรับการใช้งานผู้พิการ แม้แต่เว็บไซต์ที่ระบุผ่านมาตรฐานสากล WCAG ก็ไม่สามารถใช้งานได้จริง ทำให้เข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารไม่ได้ การพัฒนาเว็บไซต์ให้ทุกกลุ่มเข้าถึงจะเป็นเรื่องที่ดี อีกทั้งสมาคมฯ เสนอให้นำมาตรฐาน WCAG บรรจุหลักสูตรการศึกษาต่างๆ ระดับอุดมศึกษา เพื่อแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำ อยากให้เห็นถึงความสำคัญ การเข้าถึงดิจิทัลจะเพิ่มต้นทุนชีวิตให้คนพิการ
ด้านนายวัชรินทร์ ชวลี กรรมการสมาคมหูหนวกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ หน่วยรัฐเคยมีโครงการให้คนพิการเช้าอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ปัจจุบันคอมพิวเตอร์ตกรุ่น ไม่รองรับการใช้งาน ทำให้คนพิการไม่สามารถใช้งานได้ ทำให้เสียโอกาสหลายด้าน เกิดความไม่เสมอภาคทางดิจิทัล อยากเสนอให้รัฐพัฒนาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ แล็ปท็อป สมาร์ทโฟน แท็บแลต ที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน มีความหลากหลายสอดคล้องกับความต้องการใช้งานในราคาที่เข้าถึงได้ การเข้าถึงดิจิทัลสร้างการเปลี่ยนแปงในชีวิตไดเ คนพิการในไทยมี 5 ล้านคน เฉพาะคนหูหนวก มีทั้งกลุ่มวัยรุ่น กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มหูหนวกเฉพาะทาง
ทั้งนี้ งานวิจัยมีข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อสร้างความเสมอภาคทางดิจิทัล ประกอบด้วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลคุณภาพสูงครอบคลุมทั่วประเทศ พัฒนาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์และสื่อเพื่อเข้าถึงประโยชน์ดิจิทัล จัดให้มีกองทุนช่วยเหลือในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากดิจิทัลอย่างสะดวก พัฒนาเนื้อหาที่สำคัญ จำเป็นตรงความต้องการใช้งานทุกกลุ่ม พัฒนาทักษะความสามารถของบุคคลและองค์กรเพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน และพัฒนาระบบนิเวศสื่อเอต่อการเข้าถึงดิจิทัล ซึ่งข้อเสนอทั้งหมดจะส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง