ผงะพบ"ผู้สูงอายุ-ผู้พิการ"รับเงินซ้ำซ้อนกว่า 1.5 หมื่นราย
เมื่อวันที่ 27 ม.ค. นางนิโลบล แววับศรี รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง ชี้แจงกรณีที่มีการเรียกเก็บเงินผู้สูงอายุคืน ว่า ตามระเบียบและอำนาจหน้าที่ กรมบัญชีกลางมีอำนาจแค่ตรวจสอบสถานะผู้รับเงินเท่านั้น ว่ารับเงินซ้ำซ้อนกันหรือไม่ แต่ไม่มีอำนาจเรียกเก็บเงินคืน เพราะไม่ใช่หน่วยงานต้นสังกัดที่จ่ายเงินให้กับผู้สูงอายุ ซึ่งหน่วยงานต้นสังกัดคือ อบต. หรือท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ดังนั้นหน่วยงานดังกล่าวจะเป็นฝ่ายตัดสินใจว่าจะเรียกคืนเงินหลังตรวจพบสถานะรับเงินซ้ำซ้อนหรือไม่ แต่เงินที่ผู้สูงอายุได้รับเป็นงบประมาณของรัฐ จึงมีความจำเป็นต้องจ่ายคืน ส่วนต้นตอของปัญหาที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเกิดความผิดพลาดของระบบตรวจสอบหลังการลงทะเบียนผู้สูงอายุหรือไม่นั้น ขั้นตอนดังกล่าวเป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่แรกเริ่มลงทะเบียนผู้สูงอายุในปี 2552 เพราะมีเจ้าหน้าที่รับลงทะเบียน และตอนกรอกข้อมูลจะมีข้อความแจ้งในเอกสารว่าต้องไม่เป็นผู้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์จากรัฐ เช่น รับเงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ผู้ไปลงทะเบียนรับทราบ แม้ว่ารับทราบแล้วประชาชนยังปกปิดข้อมูล พอส่งเอกสารเข้ากรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ก็จะมีการนำข้อมูลไปตรวจสอบซ้ำ ดังนั้นเรื่องนี้ต้องให้กรมส่งเสริมการปกครอง ชี้แจงว่าได้ตรวจสอบโดยสมบูรณ์แล้วหรือไม่
รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวอีกว่า จากปัญหาดังกล่าวทำให้ 2 หน่วยงานต้องจับมือทำงานร่วมกันในปี 2563 เพื่อนำฐานข้อมูลสวัสดิการสังคมของผู้รับเงินคนพิการและผู้สูงอายุมาตรวจเช็คกับกรมบัญชีกลาง ว่ามีสถานะรับเงินจากรัฐซ้ำซ้อนหรือไม่ ซึ่งการตรวจพบและเป็นข่าวในขณะนี้ ก็เป็นผลมาจากโครงการดังกล่าว และหากดูตัวเลขตอนนี้พบผู้มีสถานะรับเงินซ้ำซ้อนจากรัฐถึง 15,000 คน แต่ในจำนวนนี้พบว่ามีทั้งกระทรวงมหาดไทย ส่งเลขประชาชนมาผิด และบางรายเสียชีวิตไปแล้ว ดังนั้นในจำนวนดังกล่าวจะมีบางส่วนเท่านั้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะดำเนินการเรียกเก็บเงินคืน และถึงแม้จะได้รับเบี้ยผู้สูงอายุหรือคนพิการแล้ว แต่ก็ยังได้รับเงินบำนาญอยู่ตลอดชีพ เช่น ยายที่ จ.บุรีรัมย์ จะได้รับ 10,000 บาท ตลอดชีวิต
ด้าน นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ยืนยันว่า ไม่มีความผิดพลาดในขั้นตอนการลงทะเบียน เพราะเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อห้ามให้ชาวบ้านได้รับรู้แล้ว แต่ความผิดพลาดเกิดขึ้นที่ข้อกฎหมาย ซึ่งปรับแก้ใหม่เมื่อปี 2552 โดยระบุว่า หากรับเงินสวัสดิการจากรัฐแล้ว จะรับเงินผู้สูงอายุไม่ได้ หลังแก้กฎหมายอย่างกรณียายที่ จ.บุรีรัมย์ ที่รับเงินตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเปลี่ยนข้อกฎหมาย รัฐบาลไม่ได้เรียกเก็บเงินจากยาย แต่เรียกเก็บหลังจากปี 2552-2563 โดยเมื่อปี 2552 พบปัญหาว่า ระบบข้อมูล 2 หน่วยงานยังไม่เชื่อมโยงกันจึงตรวจสอบยาก ดังนั้นหากใครถูกเรียกคืนเงินก็ต้องจ่าย ถ้าลำบาก สามารถเจรจาขอยืดเวลาชำระหนี้ได้ และหากผู้รับเงินมั่นใจว่าไม่มีความผิด ก็สามารถฟ้องร้องได้เช่นกัน
ขอบคุณ... https://www.newtv.co.th/news/74972