ศธ.สร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา ส่งเสริมผู้เรียนพิการสู่การเปลี่ยนผ่านการศึกษาสายอาชีพ

ศธ.สร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา ส่งเสริมผู้เรียนพิการสู่การเปลี่ยนผ่านการศึกษาสายอาชีพ

“ศธ.” สร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา ส่งเสริมผู้เรียนพิการสู่การเปลี่ยนผ่านการศึกษาสายอาชีพ พึ่งพาตนเองได้ในสังคม

วันที่ 24 มิถุนายน 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานเปิดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างทักษะชีวิตสำหรับผู้เรียนพิการ สู่การเปลี่ยนผ่าน (ปฐมนิเทศนักศึกษาพิการ ประจำปีการศึกษา 2567) และแสดงผลงานด้านการจัดการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา โดยมี นายยศพล เวณุโกศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวรายงายการดำเนินงาน พร้อมกันนี้มี นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารระดับสูงสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นักศึกษา หน่วยงานภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน จำนวน 481 คน เข้าร่วม และ Online ทางเพจ Facebook ประชาสัมพันธ์สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ณ วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี

ศธ.สร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา ส่งเสริมผู้เรียนพิการสู่การเปลี่ยนผ่านการศึกษาสายอาชีพ

พลตำรวจเอก เพิ่มพูน กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีความมุ่นมั่น ตั้งใจในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพื่อสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาให้กับผู้เรียนทุกคน ยกระดับการศึกษาสู่ความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต ภายใต้แนวทางการทำงาน “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” โดยเชื่อมั่นว่าผู้เรียนทุกคนจะมีความสุข ถ้าได้รับโอกาสทางการศึกษาที่เสมอภาคกัน จึงได้กำหนดนโยบายลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ให้สามารถเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) เรียนฟรีมีงานทำ ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง มุ่งสู่สังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิตผู้เรียน และประชาชนได้เรียนตามความสนใจและความถนัดของตนเอง โดยเฉพาะผู้พิการที่อยู่ในกลุ่มเปราะบาง จำเป็นต้องได้รับโอกาสในการเข้าถึงทางการศึกษาและการฝึกทักษะวิชาชีพ เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้สามารถพึ่งพาตนเอง ใช้ชีวิตในสังคม และเกิดความมั่นคงของชีวิตได้ เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่าของสังคม

ศธ.สร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา ส่งเสริมผู้เรียนพิการสู่การเปลี่ยนผ่านการศึกษาสายอาชีพ

ด้านนายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ. กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ดำเนินการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา นำนโยบายรัฐบาลและนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ สู่การขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาอาชีวศึกษา 8 วาระงานพัฒนาอาชีวะ โดยวาระงานที่ 1 “ส่งเสริมการเรียนรู้อาชีวศึกษาทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime)” ขยายโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาอาชีวศึกษา (Vocational for All) โดย สอศ. ได้จัดจัดตั้งศูนย์การศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาภาค จำนวน 10 ศูนย์ และศูนย์ส่งเสริมการจัดการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาจังหวัด จำนวน 77 จังหวัด

จากการดำเนินงานดังกล่าว สอศ. ได้จัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างทักษะชีวิตสำหรับผู้เรียนพิการสู่การเปลี่ยนผ่าน และแสดงผลงานด้านการจัดการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา เพื่อส่งเสริมผู้เรียนพิการในมิติต่างๆ โดยภายในงานจัดให้มีนิทรรศการการดำเนินงานศูนย์บริหารงานการศึกษาพิเศษ (ศพอ.) นิทรรศการ 5 เมืองอาชีพ ได้แก่

เมืองผ้าและผลิตภัณฑ์ เมืองศิลปะ เมืองอาหาร เมืองสุขภาพ และเมืองอุตสาหกรรม นิทรรศการนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์เพื่อคนพิการและนิทรรศการสถานศึกษาเฉพาะทาง เช่น วิทยาลัยสารพัดช่าง (วช.) สุรินทร์ เฉพาะทางความพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย และทางสติปัญญา, วช.เชียงใหม่ เฉพาะทางทางความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างการ และทางสติปัญญา เป็นต้น ซึ่งมีกลุ่มคนพิการทั้ง 7 ประเภท ได้แก่ พิการทางการเห็น พิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย พิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย พิการจิตใจหรือพฤติกรรม พิการทางสติปัญญา พิการทางการเรียนรู้ และพิการทางออทิสติก ร่วมแสดงผลงานและสาธิตอาชีพด้วย

“ในปีการศึกษา 2567 มีคนพิการจำนวน 1,853 คน ได้เข้าศึกษาในสถานศึกษาสังกัด สอศ. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้น 2 % จากปีการศึกษา 2566 เพื่อให้คนพิการและประชาชนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษได้รับการ (Up Skill, Re Skill) มีหลักสูตร 86 หลักสูตร มีคนพิการผ่านการฝึกอบรมแล้วกว่า 2,000 คน สอศ. ให้ความสำคัญกับคนพิการที่เป็นประชาชนกลุ่มเปราะบางในสังคม เพื่อไม่ให้กลุ่มคนเหล่านี้ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และยังเป็นกลุ่มเป้าหมายต่อพัฒนาการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งเชื่อมั่นว่าหากกลุ่มคนเหล่านี้ได้รับการขัดเกลาและพัฒนาให้มีศักยภาพเพียงพอแล้ว จะสามารถเป็นกำลังคนของประเทศที่มีประสิทธิภาพ หวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมในครั้งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนภาพลักษณ์ของอาชีวศึกษาในการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการสู่สังคม และช่วยสร้างโอกาส ความเสมอภาคสำหรับคนพิการให้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาสายอาชีพมากยิ่งขึ้น”

ทั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากศูนย์บริหารงานการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา ศูนย์การศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาภาค ศูนย์ส่งเสริมการจัดการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาจังหวัด สถานศึกษาเฉพาะทางความพิการ สถานศึกษาที่จัดการเรียนการสอนคนพิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านคนพิการ

ขอบคุณ... https://www.naewna.com/local/812427

ที่มา: naewna.com/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 25 มิ.ย. 67
วันที่โพสต์: 25/06/2567 เวลา 14:33:50 ดูภาพสไลด์โชว์ ศธ.สร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา ส่งเสริมผู้เรียนพิการสู่การเปลี่ยนผ่านการศึกษาสายอาชีพ