จ้างงานคนพิการไม่ถึงเป้า เอกชนร้องปรับสูตรส่งเงินเข้ากองทุน
รายงานข่าวระบุว่า ภาคแรงงานยังคงได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างจากการระบาดของโควิด-19 ล่าสุดผู้ประกอบการภายใต้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้หารือร่วมกับคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการด้านแรงงาน ในประเด็นการ “ขาดแคลน” แรงงานคนพิการที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้
เนื่องจากพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต พ.ศ. 2550 คือ “ต้องจ้าง” จำนวนคนพิการที่มีคุณสมบัติตรงตามกฎหมายกำหนดที่ 1 : 100 นั้น
แต่เมื่อพิจารณาจากข้อมูลสถิติจำนวนคนพิการที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้คือคนพิการที่ได้รับการจ้างงานตามมาตรา 33 เพียง 39,878 คน คิดเป็น 45.79% ของจำนวนแรงงานคนพิการที่ต้องถูกจ้างทั้งหมดทั่วประเทศที่ 86,757 คน
ส่วนผู้ประกอบการที่ไม่รับคนพิการเข้าทำงานนั้น กฎหมายกำหนดให้ต้องส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2554 ส่วนการจ้างงานตามมาตรา 34 คิดเป็นจำนวนคนพิการ 13,103 คน คิดเป็น 15.10% และการจ้างงานตามมาตรา 35 เป็นจำนวนคนพิการ 13,951 คน คิดเป็น 16.08% เท่ากับว่ายังมีจำนวนคนพิการเหลืออีกราว 19,825 คน คิดเป็น 22.85% ที่ควรจะต้องมีการจ้างแรงงานต่อไป
แบกภาระเพิ่ม 16.61%
แหล่งข่าวจากกระทรวงแรงงานเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายใต้เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในขณะนี้ ส.อ.ท.ยังได้เสนอให้มีการปรับสูตรการคำนวณจำนวนคนพิการที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ที่กำหนดไว้ว่าหากนายจ้าง หรือเจ้าของสถานประกอบการที่ไม่ได้รับคนพิการเข้าทำงานให้ส่งเงินเข้ากองทุน โดยคำนวณจากอัตราต่ำสุดของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำคูณด้วย 365 วัน และคูณด้วยจำนวนคนพิการที่ไม่ได้รับเข้าทำงานตามมาตรา 33
อีกทั้งในกรณีที่ผู้ประกอบการไม่สามารถจ้างคนพิการได้นั้น ด้วยเหตุที่ว่า “ไม่มีคนพิการ” ที่เพียงพอกับความต้องการจ้างงานได้ตามเหตุผลดังกล่าวข้างต้นนั้น จะต้องรับภาระส่งเงินเข้ากองทุน “เพิ่มขึ้นกว่าต้นทุนจริง” ถึง 16.61% จากการนำจำนวนเต็มปีที่ 365 วัน มาคำนวณแทน 313 วัน ที่เป็นวันที่แรงงานคนพิการได้ทำงานจริงนั้นเป็นการเพิ่มภาระโดยใช่เหตุ และไม่เป็นธรรม
ที่สำคัญคือไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
“สถานการณ์ และภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาจากโควิด-19 เป็นเหตุผลที่ทำให้ภาคเอกชนที่ยังพอเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้ ไม่ต้องการแบกภาระเพิ่มขึ้นในเชิงธุรกิจมันมีความเสี่ยงอยู่แล้ว อีกทั้งในแต่ละภาคอุตสาหกรรมต่างมีปัญหาที่แตกต่างกันออกไป บางมาตรการที่ภาครัฐนำออกมาบังคับใช้อาจจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา ยกตัวอย่างกรณีของ ส.อ.ท.ถือว่าสะท้อนภาพปัญหาที่เราไม่ได้คิดว่ามันจะเป็นปัญหา ก.แรงงานคงต้องมองให้ครอบคลุมมากขึ้น”
ความเห็น-ข้อกังวลเอกชน
นอกจากนี้ยังมีความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสภาองค์กรนายจ้างแห่งประเทศไทยระบุว่า เห็นด้วยในการปรับหลักเกณฑ์การคำนวณใหม่ของ ส.อ.ท. ขณะที่สภาหอการค้าไทยบอกว่า เตรียมนำเรื่องนี้เข้าหารือกับสมาคมธนาคารเพื่อให้ได้มุมมองภาคเอกชนที่มีความหลากหลายมากขึ้น รวมถึงสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย เสนอให้พิจารณากลับไปเก็บเงินส่งเข้ากองทุนส่งเสริมฯ ตามมาตรา 34 ที่ 365 วันเช่นเดิม
ขณะที่ตัวแทนจากสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทยเสนอให้มีการตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อสรรหาคนพิการมาทำงาน ทั้งนี้ สมาคมยังระบุอีกว่า ไม่เคยได้รับแจ้งข้อมูลว่ามีการขาดแคลนแรงงานคนพิการแต่อย่างใด
ขณะที่กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการได้กล่าวถึงมาตรา 34 ว่า เป็นมาตรการเชิงลงโทษในกรณีที่ผู้ประกอบการที่ไม่สามารถจ้างงานคนพิการได้ ทั้งนี้ตามที่หลายหน่วยงานที่ได้แสดงความเห็นต่าง ๆ นั้น ขอให้มีการศึกษาเพิ่มเติมถึงข้อดี-ข้อเสีย ก่อนจะมีการพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป อีกทั้งจะต้องเพิ่มความเห็นจากนักวิชาการด้านนี้โดยเฉพาะด้วย
890 ล้านบาท พัฒนาคนพิการ
แหล่งข่าวยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างร่างแผนปฏิบัติการคนพิการด้านแรงงาน (Action Plan) สำหรับปีงบประมาณ 2564 ในรายละเอียดระบุว่า ภายใต้แผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2560-2564) รวม 5 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย
ยุทธศาสตร์ที่ 1 เสริมพลังคนพิการและองค์กรด้านคนพิการให้มีศักยภาพและความเข้มแข็งรวม 18 โครงการ วางเป้าหมายว่าจะมีคนพิการเข้าร่วม 19,340 คน ใช้งบประมาณอยู่ที่ 110 ล้านบาท
ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการ ไม่มีการเลือกปฏิบัติ เพื่อให้คนพิการเข้าถึงสิทธิได้จริง รวม 50 โครงการ เป้าหมายคนพิการเข้าร่วม 79,407 คน งบประมาณรวม 678 ล้านบาท
ตามมาด้วยยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างความเข้าใจและเจตคติเชิงสร้างสรรค์ต่อคนพิการและความพิการจำนวน 13 โครงการ คาดว่าคนพิการเข้าร่วม 21,870 คน งบประมาณรวม 78 ล้านบาท
ยุทธศาสตร์ที่ 4 สร้างสภาพแวดล้อมการบริการสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ 4 โครงการ คาดว่า คนพิการเข้าร่วม 350 คน งบประมาณรวม 11 ล้านบาท
และยุทธศาสตร์ที่ 5 ส่งเสริมการบูรณาการเครือข่ายและสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการอย่างยั่งยืน 7 โครงการ คาดว่า คนพิการเข้าร่วม 2,845 คน งบประมาณรวม 10 ล้านบาท ตลอดทั้งปี 2564 นี้ มีแผนงานโครงการรวมทั้งสิ้น 92 โครงการ เป้าหมายคนพิการเข้าร่วม 123,812 คน งบประมาณรวม 890 ล้านบาท (ไม่รวมกองทุนกู้ยืมเงินสำหรับคนพิการและผู้ดูแลคนพิการ)
ถกปรับสัดส่วนจ้างคนพิการ
แหล่งข่าวระบุเพิ่มเติมอีกว่า ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ในการประชุมคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภาได้มีการนำเสนอกระทรวงแรงงานให้ปรับลดสัดส่วน การจ้างงานคนพิการในหน่วยงานภาครัฐอยู่ที่ 2% โดยลูกจ้างที่ 100 คน ให้จ้างคนพิการ 2 คน (100 : 2) ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในภูมิภาคเอเชีย
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้มีหนังสือส่งไปถามความเห็นในหน่วยงานภาครัฐแล้ว ปรากฏว่าเห็นด้วยอยู่ที่ 44% และไม่เห็นด้วยอยู่ที่ 56% ภายหลังจากการถามความเห็นแล้ว ขั้นตอนต่อจากนี้คือนำเข้าหารือเพื่อพิจารณารายละเอียดต่อไป
………………………….
ลดหย่อนภาษี…เมื่อจ้างคนพิการ
ก่อนหน้านี้กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง มีมาตรการช่วยเหลือสำหรับผู้ประกอบการที่จ้างคนพิการเข้าทำงานคือมาตรการส่งเสริมเสถียรภาพของการจ้างงานให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก (SMEs) ที่คงการจ้างงานของลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตน และได้รับค่าจ้างไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน
โดยหักรายจ่ายค่าจ้างของเดือนเมษายน-กรกฎาคม ได้ 3 เท่า มาตรการขยายระยะเวลายื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษี มาตรการคืนสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการในประเทศ
แบ่งเป็นลดอัตราภาษีเงินได้ระยะที่ 1 จาก 3% ปรับลดเหลือ 1.5% ระหว่างวันที่ 1 เมษายน-30 กันยายน 2563 และขณะนี้อยู่ในระยะที่ 2 จาก 3% ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 2% ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2564 และมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพคืนภาษีให้รวดเร็วเพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ
พร้อมทั้งเร่งคืนภาษีให้ประชาชนและผู้ประกอบการอย่างรวดเร็ว
ในส่วนอื่น ๆ อย่างเช่น สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ปรับลดอัตราเงินสมทบจาก 5% เหลือ 0.5% ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรี โดยขยายเวลาไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และสำหรับผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปจะสามารถฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม-31 สิงหาคมของทุกปี