บุกสธ. แม่ร้องหลังรพ.ทำคลอดจนลูกพิการผ่าน 10 เดือนยังนิ่ง ไร้การเยียวยาไม่มีความคืบหน้า
แม่บุกร้อง สธ.หลังรพ.ทำคลอดจนลูกพิการ ไร้การเยียวยา ย้ำผลอัลตราซาวนด์ลูกสมบูรณ์ 100% เตรียมส่งเด็กรักษา พร้อมประสานแพทยสภา-สบส.ตรวจสอบ
เมื่อวันที่ 2 ก.ค.2567 น.ส.ปัทมา อายุ 46 ปี เดินทางมายื่นเรื่องร้องเรียนต่อนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข กรณีไปคลอดลูกที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งย่านคลองหลวง จ.ปทุมธานี แล้วลูกพิการ
เนื่องจากแจ้งกับ รพ.ว่าต้องการผ่าคลอด เพราะเคยมีประวัติคลอดลูกคนก่อนหน้านี้แล้วพบปัญหาเชิงกรานเล็ก ทำให้เด็กติด แต่ รพ.ให้คลอดเอง โดยมี นายกองตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้รับเรื่อง
น.ส.ปัทมากล่าวว่า เหตุเกิดคืนวันที่ 18 ส.ค.66 ได้มาคลอดบุตร โดยแจ้งกับทางพยาบาลว่าขอผ่าคลอด พอถึงหน้าห้องคลอดได้เซ็นทำหมัน เซ็นผ่าคลอดแล้ว พอเข้าห้องคลอด หมอประเมินก็ไม่ได้ให้ผ่าคลอด แต่ให้คลอดเอง ตนนอนเจ็บท้องอยู่นาน น้องก็ไม่มีวี่แววจะออก เลยขอร้องทางพยาบาลว่า
ผ่าคลอดให้เถอะ เขาก็บอกว่าผ่าให้ไม่ได้ มีการพูดไปมาหลายรอบ จนต้องยกมือไหว้ขอผ่าคลอด เพราะเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ก็มาคลอดลูกที่นี่ มีประวัติว่าลูกตัวติดมาครั้งหนึ่งแล้ว จนอยู่ในห้องคลอด 6 ชั่วโมง ซึ่งหมอใหญ่ก็บอกว่าอันตรายมาก จึงแจ้งกับพยาบาลว่าให้ไปค้นประวัติดูได้
ครั้งนี้ผ่าให้หน่อยได้หรือไม่ เขาก็บอกว่าผ่าให้ไม่ได้ เพราะว่าต้องคลอดเอง และคุณแม่คลอดมาหลายคนแล้ว ลูกออกได้ง่ายสบายๆ ลื่นปรื้ดๆ ก็เลยบอกว่า ให้จำคำพูดไว้ ถ้าลูกเป็นอะไรขึ้นมาต้องรับผิดชอบ
“เขาก็ดูแลรักษาเรา แต่สุดท้ายลูกก็ต้องเกิดคำถามว่าทำไมแขนเขาถึงใช้งานไม่ได้ ทุกวันนี้ทานนมต้องใช้เท้า 2 ข้างจับขวดนม อยากให้เขาเยียวยาเราบ้าง พูดกับเราบ้าง อย่างที่เขาแถลงมาวันนั้นว่าดำเนินการคืนค่าคลอดให้เรา จริงๆ เราขอค่าคลอดคืนตั้งแต่คลอดใหม่ๆ แล้ว เพราะทำลูกพิการ
แต่บอกว่าไม่มีนโยบายคืนค่าคลอด พอมาออกสื่อเกิดเรื่องก็บอกคืนค่าคลอดให้ แต่จนวันนั้นถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้ค่าคลอดคืน” น.ส.ปัทมา กล่าว
นายกองตรี ธนกฤต กล่าวว่า ผู้ร้องไปคลอดลูกที่ รพ.รัฐแห่งหนึ่งที่ไม่ได้สังกัด สธ. ปรากฏว่า ลูกมีปัญหาไม่สามารถขยับแขนขวาได้ ซึ่งผู้ร้องระบุว่า เคยมีประวัติคลอดบุตรมาครั้งหนึ่ง สภาพร่างกายกระดูกเชิงกรานเล็ก การคลอดธรรมชาติค่อนข้างลำบาก เลยพูดคุยกับหมอตั้งแต่ต้นแล้วว่า
การคลอดที่ผ่านมามีลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้น อยากให้หมอพิจารณาการคลอดครั้งใหม่นี้ เพราะเด็กมีขนาดตัวใหญ่ การคลอดน่าจะลำบาก ทั้งนี้ การคลอดนั้นโดยหลักแพทย์จะให้คลอดธรรมชาติ หากคลอดไม่ได้ก็จะเปลี่ยนมาเป็นผ่าคลอด วันนี้จึงเชิญ นพ.ประกิต สาระเทพ ผอ.กองตรวจราชการเขต
สุขภาพที่ 13 มาร่วมรับฟังการดูแลผู้คลอดว่าเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพหรือไม่ หากไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ก็จะส่งเรื่องไปยังแพทยสภา และเชิญทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) มาดูเรื่องมาตรฐานการให้บริการ
“คุณแม่ร้องขอให้มีคนกลางพูดคุยเจรจา เพราะผ่านมาร่วม 10 เดือน ยังไม่มีความคืบหน้าเจรจาความเสียหายที่เกิดขึ้นเลย จึงมาร้องเรียน เพื่อให้เราเป็นคนกลางพูดคุยกับ รพ. โดยจะเชิญ รพ.มาพูดคุยก่อน หาก รพ.มาพูดคุยด้วยคงไม่มีประเด็นอะไร นอกจากเรื่องความรับผิดชอบว่าจะดูแลอย่างไร
ส่วนเรื่องเด็กมีการวางแผนว่า สธ.อาจจะนำตัวน้องไปที่สถาบันประสาทวิทยา เพื่อให้หมอตรวจดูว่า เส้นประสาทขาดหรือไม่ การไม่เคลื่อนไหวของมือน้องจะมีแนวทางการรักษาอย่างไร การบาดเจ็บของน้องมาจากการคลอดหรือไม่ หรือเป็นโดยกำเนิด ก็จะรับตัวน้องไปดูแลต่อไป รวมถึงดูเรื่องการ
รักษาเยียวยาตามกฎหมายว่าจะช่วยเหลืออย่างไร ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย” นายกองตรี ธนกฤตกล่าว
น.ส.ปัทมากล่าวว่า มั่นใจว่าความผิดปกติของลูกเกิดจากการคลอดแน่นอน เพราะมีการอัลตร้าซาวนด์ตลอดตอนช่วงฝากครรภ์ โดยฝากครรภ์กับคลินิกย่านนวนคร ก็เห็นแขนขาน้องยกได้ ลูกมีความสมบูรณ์ 100% ใบอัลตราซาวนด์ก็ยังเก็บไว้อยู่ รู้ว่าลูกผิดปกติตอนที่ไปเห็น ตอนเช้าในตู้อบ เห็นว่า
ลูกมีรอยช้ำหนักมากที่แขนขา และที่หัวไหล่ ส่วนน้องจะกลับมาเป็นปกติไหม มีพาน้องไปตรวจ หมอบอกว่าก็ต้องดูก่อนว่าแขนน้อง และร่างกายน้องจะตอบรับอย่างไร ต้องใช้เวลา แต่ที่ฟังครั้งแรกก่อนผ่าตัด หมอเขาพูดว่าทำดีที่สุดแล้ว ได้แค่ไหนแค่นั้น ต้องสวดมนต์เยอะๆ
“แพทย์ที่ผ่าตัดเส้นประสาทน้องพูดว่า ให้สวดมนต์เยอะๆ ซึ่งก่อนผ่าสันนิษฐานว่าน่าจะขาด 5 เส้น แต่ผ่าแล้วพบว่าขาด 3 เส้น มีการผ่าตัดเอาเส้นประสาทจากขาขวามาต่อ ยังเหลือผ่าอีกรอบ มีนัดวันจันทร์หน้า ก็จะถามว่าผ่าอีกรอบจะหายไหม ถ้าหายก็จะผ่า ถ้าไม่หายก็ไม่ผ่า เพราะน้องเป็นแผลเป็น
ที่ขายาวมาก น้องเจ็บมากทรมานมาก ต้องอยู่ห้องผ่าตัด 8-9 ชั่วโมง ทั้งที่อายุแค่ไม่กี่เดือนเอง” น.ส.ปัทมากล่าว
ด้าน นพ.ประกิต สาระเทพ ผอ.กองตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 13 กล่าวว่า ต้องขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนการตัดสินใจจะผ่าคลอดหรือคลอดเอง ในทางการแพทย์จะแนะนำคลอดเองเป็นหลัก หากไม่มีภาวะเสี่ยงเพิ่มเติม เช่น มีประวัติเคยผ่าตัดคลอดมาก่อน หรือภาวะแทรกซ้อน
ตั้งครรภ์ อย่างความดันโลหิตสูงเกินไป เด็กผิดปกติติดเชื้อ เป็นต้น เราจะตัดสินใจผ่าคลอด ซึ่งเท่าที่ทราบจากคุณแม่ การคลอดครั้งนี้เกิดจากความไม่สมส่วนกันระหว่างขนาดตัวและเชิงกราน หมอพยายามทำทุกทางให้เด็กออกมาจนเกิดภาวะนี้ขึ้นมา
ถามว่ากรณีประวัติเคยคลอดลูกติด เชิงกรานเล็ก เป็นข้อบ่งชี้ที่จะนำมาพิจารณาผ่าคลอดในครั้งล่าสุดด้วยหรือไม่ นพ.ประกิตกล่าวว่า ต้องไปดูรายละเอียดว่าข้อมูลตอนนั้นเป็นอย่างไร ถ้าข้อมูลชัดเจนว่ามีความเสี่ยงต่อการคลอดก็ต้องเปลี่ยนวิธีการคลอด ต้องไปดูว่าข้อมูลตอนนั้นเองเป็นอย่างไร
ส่วนประวัติก่อนหน้านี้ก็ต้องไปดูว่า ลงประวัติละเอียดมากน้อยแค่ไหน แต่ส่วนหนึ่งอาจมีการประเมินว่า การคลอดครั้งที่แล้วสามารถคลอดเองได้ เลยนำมาสู่การให้คลอดเองในครั้งนี้หรือไม่ ตรงนี้ต้องไปดูข้อมูลอีกที
ขอบคุณ... https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_777777808276