จากเด็กตาบอดสู่ศาสตราจารย์ผู้ให้! “วิริยะ” เปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง ฝึกอาชีพ-สร้างงานให้ผู้พิการมีรายได้

จากเด็กตาบอดสู่ศาสตราจารย์ผู้ให้! “วิริยะ” เปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง ฝึกอาชีพ-สร้างงานให้ผู้พิการมีรายได้

รายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา พาคุณผู้ชมไปรู้จัก “วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์” ที่แม้โชคชะตาจะพาให้ตาบอด แต่ด้วยความมุมานะ จึงเติบโตเป็นถึง "ศาสตราจารย์" ทั้งยังต่อสู้ผลักดัน กม.เพื่อให้ผู้พิการได้รับสิทธิที่พึงมี ไม่เท่านั้นอาจารย์ยังตั้งมูลนิธิฯ เพื่อฝึกอาชีพ-สร้างงานให้ผู้พิการอีกด้วย

หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า “วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์” ศาสตราจารย์ผู้พิการทางสายตา หรือตาบอดคนนี้ คือผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ ที่ทำให้ผู้พิการเมืองไทยได้รับเบี้ยยังชีพเบี้ยคนพิการจากรัฐ!!

ไม่เท่านั้น อาจารย์ยังต่อสู้ผลักดันจนมีกฎหมายที่บังคับให้บริษัทเอกชนที่มีลูกจ้าง 100 คน ต้องจ้างผู้พิการเข้าทำงาน 1 คน ช่วยให้คนพิการได้เข้าถึงโอกาสในการทำงานเช่นเดียวกับคนปกติ นอกจากนี้อาจารย์ยังตั้งมูลนิธิเพื่อฝึกอาชีพและสร้างงานให้คนพิการอีกด้วย

เปิดชีวิต “ศ.วิริยะ” นักสู้เพื่อผู้พิการ ...จากเด็กตาดี ต้องตาบอดแบบไม่ทันตั้งตัว!!

“ผมเป็นคน อ.คง จ.นครราชสีมา ผมเป็นลูกพ่อค้า พ่อแม่เป็นคนจีน ตอนเด็กผมชอบชีวิตชาวนา ชอบเลี้ยงวัวควาย ช่วยเพื่อนเรื่องเกี่ยวข้าว แต่พ่อไม่ชอบ พ่อบอกเสมอว่า ต้องฝึกค้าขาย ค้าขายเท่านั้นที่จะทำให้เรามีเงินทอง”

จากเด็กตาบอดสู่ศาสตราจารย์ผู้ให้! “วิริยะ” เปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง ฝึกอาชีพ-สร้างงานให้ผู้พิการมีรายได้

“ผมมาประสบอุบัติเหตุตาบอดตอนอยู่ มศ.3 เป็นช่วงที่ทุ่มเทดูหนังสืออย่างหนัก เพื่อสอบเข้าเตรียมอุดม มศ.4–มศ.5 แต่พอดี ตาผมเหลือบไปเห็นของที่อยู่ที่กล่องเครื่องมือทดลองวิทยาศาสตร์ผม ผมก็ไปเล่นเข้า มันเลยระเบิดขึ้นมา มารู้ทีหลังว่า เด็กอื่นเขาไปเล่นวัตถุระเบิดนี้ มันไม่ระเบิด เขามาดูทีวีที่บ้าน เขาเลยปาวัตถุระเบิดนี่เข้าไปที่กล่อง”

แม้จะรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลนานหลายเดือน แต่ก็ไม่ช่วยให้ตากลับมามองเห็น

“ตอนนั้นเสียใจมาก เพราะผมคิดไม่ออก ว่าเอ๊ะตาบอด แล้วเราจะทำอะไร พ่อก็ปลอบใจไม่ต้องกังวล เดี๋ยวจะพาไปเรียนการดูหมอ คนตาบอดดูหมอแม่นอยู่ที่ศาลเจ้าพ่อเสือ แต่พี่ชายบอก มีโรงเรียนสอนคนตาบอด ผมบอก ถ้าอย่างนั้นไปโรงเรียนดีกว่า”

เกือบไม่มีโอกาสเรียน เพราะตอนนั้นอายุ 15 แล้ว เกินเกณฑ์ที่ทางโรงเรียนจะรับ

“วันที่ผมไปโรงเรียน พอดีไปพบกับมิสเจนีวีฟ คอลฟิลด์ ซึ่งท่านเป็นสตรีตาบอดชาวอเมริกัน ผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพพอดี พอท่านทราบว่า การเรียนผมดี ท่านเลยเห็นว่า ผมควรจะเรียนหนังสือ ไม่ควรไปฝึกอาชีพ”

หลังจบจากโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ อาจารย์วิริยะได้เรียนต่อที่โรงเรียนเซ็นต์คาเบรียล ก่อนไปต่อที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ซึ่งโชคดีที่อธิการโรงเรียนเซ็นต์คาเบรียลช่วยประสานอธิการโรงเรียนอัสสัมชัญฯ ทำให้อาจารย์มีโอกาสได้เรียน

จากเด็กตาบอดสู่ศาสตราจารย์ผู้ให้! “วิริยะ” เปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง ฝึกอาชีพ-สร้างงานให้ผู้พิการมีรายได้

หลังเรียนจบ อาจารย์วิริยะไม่เพียงสอบเอ็นทรานซ์ติดคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) แต่เมื่อจบการศึกษา ยังสามารถสอบเป็นอาจารย์ที่ มธ.ได้อีกด้วย นับเป็น “ข้าราชการผู้พิการคนแรก” ของไทยเลยทีเดียว!!

ขณะเป็นอาจารย์ ยังได้ทุนไปเรียนเรื่องภาษีอากรที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจารย์วิริยะได้ไปสมัครเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยชื่อดังของโลกควบคู่ไปด้วย เพราะต้องการกลับมาต่อสู้เพื่อสิทธิและคุณภาพชีวิตที่ผู้พิการในเมืองไทยควรได้รับ

“เราสมัครไปที่ฮาร์วาร์ด เขาให้อยู่ใน waiting list เพราะเราไม่ได้จบโทเฟิลมา ผมเลยขอเจรจากับคณบดี คณบดีที่ฮาร์วาร์ด ลอว์ สคูล ก็ยินดีให้เข้าพบ ท่านก็รู้ผมจะมาคุยเรื่องให้รับเข้าเรียน ท่านเลยตั้งคำถามมาว่า มีเหตุผลอะไรที่ฮาร์วาร์ดต้องรับผมเข้าเรียน คำถามเดียว”

“ผมก็เตรียมไว้แล้ว ผมบอก ฮาร์วาร์ดให้ทุนคนเอเชียหลายประเทศรวมไทยด้วย มาเรียนที่นี่ เพื่อกลับไปต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศนั้น ผมบอก อันนี้ผมไม่ได้เอาทุนของฮาร์วาร์ด แต่รัฐบาลให้ทุนผมมา ผมเรียนกฎหมายนี่เสร็จ ผมก็ไปต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนที่ประเทศผม เพราะประเทศผมเขาไม่ให้คนพิการเป็นโน่นเป็นนี่ สารพัดอย่าง ท่านก็รู้ดีอยู่แล้ว ท่านบอก โอเค ฉันรับเธอ ผมเลยเรียนอยู่ที่ฮาร์วาร์ด 2 ปี ก็จบหลักสูตร LLM กลับมา และซิทอินเรื่องภาษี”

จากเด็กตาบอดสู่ศาสตราจารย์ผู้ให้! “วิริยะ” เปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง ฝึกอาชีพ-สร้างงานให้ผู้พิการมีรายได้

นอกจากเป็นอาจารย์และนักกฎหมายแล้ว อาจารย์วิริยะยังเคยมีบทบาทในสภา เช่น เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนผลักดันกฎหมายหลายฉบับ เกี่ยวกับสิทธิที่ผู้พิการพึงได้รับ

“อาจารย์ต่อสู้เรื่องกฎหมายมายาวนานมาก จนกฎหมายออกมาสำเร็จ เป็นเบี้ยยังชีพ เบี้ยคนพิการ ซึ่งอาจารย์ก็ไม่ยอมรับเบี้ยเหล่านั้น แกบอกว่า ถ้าเราอยู่ในภาวะที่ช่วยเหลือตัวเองได้ เราเป็นฝ่ายต่อสู้ เราก็ไม่ควรจะรับเบี้ยนี้ น่าจะให้ผู้ที่อ่อนแอกว่า แกไม่รับนะ”

“และได้ต่อสู้เรื่องการจ้างงานด้วย ที่ว่า บริษัทมีพนักงาน 100 คน ต้องจ้างงานผู้พิการ 1 คน ไม่เช่นนั้นต้องส่งเงินเข้ากองทุน(ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ) แล้วอาจารย์ก็ออกกฎหมายบังคับว่า ถ้าใครไม่จ่ายเงินเข้ากองทุน ก็ต้องโดนอายัติบัญชี ก็เลยทำให้เงินหลั่งไหลเข้ากองทุนเป็นเงินหมื่นกว่าล้าน”

“อาจารย์เลยคิดว่า น่าจะมีศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการ เพราะเงินกองทุนนี้จะให้แต่ค่าอบรม แต่ไม่ทำศูนย์ฝึกอาชีพให้ ก็เลยเป็นการเริ่มต้นรณรงค์ที่อาจารย์ไปปั่นจักรยาน คิดดูปั่นเกือบพันกิโล ปั่นจากกรุงเทพฯ ไปเชียงดาว โดยมีคนตาดีนำหน้า และอาจารย์ปั่นอยู่ข้างหลัง ปั่นจักรยานสองตอน เพื่อรณรงค์หาเงินมาสร้างศูนย์ฝึกอาชีพ”มณี นามศิริพงศ์พันธุ์ ภรรยาอาจารย์วิริยะ

จากเด็กตาบอดสู่ศาสตราจารย์ผู้ให้! “วิริยะ” เปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง ฝึกอาชีพ-สร้างงานให้ผู้พิการมีรายได้

เมื่อเล็งเห็นว่า ผู้พิการควรได้รับโอกาสในการฝึกอาชีพ และทำงาน เพราะคนจะยอมรับผู้พิการก็ต่อเมื่อมีงานทำ อาจารย์วิริยะจึงได้ตั้ง “มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ” ขึ้นใน กทม.เมื่อปี 2542

เปลี่ยน “ภาระ” ให้เป็น “พลัง” สร้างงานให้ผู้พิการ!!

“บทบาทของมูลนิธิเราเน้นอย่างเดียวเลย ฝึกอาชีพ เราต้องสร้างงานให้คนพิการ เพราะคนพิการจะมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ คนจะยอมรับเรา เมื่อมีงานทำ ไม่มีงานทำ ก็มองเราเป็นภาระ พอมีงานทำ เขามองเราเป็นพลัง ผมเลยต้องใช้สโลแกน ‘เปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง’

“แหม่ม (มิสเจนีวีฟ คอลฟิลด์ ผู้ก่อตั้ง รร.สอนคนตาบอดกรุงเทพ) สอนเราตลอด ให้เชื่อศรัทธาความสามารถของเรา และทำงานท้าทายขึ้นไปเรื่อยๆ คุณภาพชีวิตเราก็จะยกระดับขึ้นไป เราต้องเห็นเคราะห์เป็นโอกาส ปัญหาอุปสรรคทั้งหลายมันคือโอกาสของเรา ถ้าเราสามารถเอาชนะปัญหาอุปสรรคได้มากเท่าไหร่ โอกาสเราก็มากเท่านั้น”

อาจารย์วิริยะใช้แบรนด์ “ยิ้มสู้” ในการขับเคลื่อนเพื่อคนพิการ ซึ่งอาจารย์บอกว่า คำว่า “ยิ้มสู้” มาจากชื่อเพลงพระราชนิพนธ์ของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่พระราชนิพนธ์เพื่อให้กำลังใจคนตาบอดเมื่อปี 2495 คนตาบอดจึงมักนำคำว่า “ยิ้มสู้” มาใช้ในหลายๆ เรื่อง เพื่อรำลึกถึงพระองค์ท่าน

สำหรับอาจารย์วิริยะ ได้ทำร้าน “ยิ้มสู้คาเฟ่” เพื่อให้คนพิการทางการได้ยินหรือหูหนวก ได้ฝึกอาชีพด้านทำอาหารและเครื่องดื่ม พร้อมทำงานจริง มีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว

นอกจากนี้อาจารย์ยังซื้อที่ดินที่ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม และที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เพื่อฝึกอาชีพด้านเกษตรกรรมแก่ผู้พิการในต่างจังหวัด ภายใต้ชื่อ “ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน” สิ่งที่สอน ได้แก่ การปลูกผักสลัด การเพาะเห็ด การเลี้ยงจิ้งหรีด การปลูกเมล่อน ฯลฯ ผู้พิการที่ผ่านการอบรม ไม่เพียงไปต่อยอดทำอาชีพของตนเองได้ แต่หากต้องการทำงานกับบริษัทเอกชน ทางมูลนิธิฯ ก็พร้อมเป็นตัวกลางประสานงานให้

หากถามว่า หลายสิบปีที่ทำเพื่อผู้พิการมา อาจารย์วิริยะรู้สึกอย่างไร? อาจารย์บอกว่า ภูมิใจที่ได้ใช้ชีวิตในการทำประโยชน์ให้ผู้อื่น เพราะมิสคอลฟิลด์ (ผู้ก่อตั้ง รร.สอนคนตาบอดกรุงเทพ) สอนเสมอว่า “เมื่อช่วยเหลือตนเองได้แล้ว อย่าลืมช่วยคนอื่นต่อไปเหมือนท่าน” ชีวิตเราเลยเจริญรอยตามท่าน

ถ้าไม่มี “มิสคอลฟิลด์ คงไม่มีผมในวันนี้”!!

“ผมว่า คนที่เป็นต้นแบบที่ดี และปลูกฝังความเชื่อที่ดี สำคัญมาก ถ้าผมไม่พบมิสคอลฟิลด์ และถูกปลูกฝังความเชื่อที่ดี ผมคงไม่มีวันนี้ ผมยังดีใจที่ตาบอด ถ้าตาไม่บอด ผมก็คงค้าขายอยู่ที่บ้าน”

ติดตามรับชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ได้ ทุกวันเสาร์ เวลา 09.00-09.30 น. ทางสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ( IPM ช่อง 64 / PSI ช่อง 211 )

หรือรับชมรายการย้อนหลังได้ที่เพจ ฅนจริงใจไม่ท้อ https://web.facebook.com/KonJingJaimaitor/ (ขนาดไฟล์: 0 )

หรือยูทูบฅนจริงใจไม่ท้อ https://www.youtube.com/channel/UCsb4sLqdHs35km4u (ขนาดไฟล์: 758)

ขอบคุณ... https://mgronline.com/news1/detail/9640000021299

ที่มา: mgronline.com/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 4 มี.ค.64
วันที่โพสต์: 5/03/2564 เวลา 11:03:45 ดูภาพสไลด์โชว์ จากเด็กตาบอดสู่ศาสตราจารย์ผู้ให้! “วิริยะ” เปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง ฝึกอาชีพ-สร้างงานให้ผู้พิการมีรายได้