"อนุสรี"เปิด'ใจดีฟาร์ม พนัสนิคม'สร้างอาชีพผู้พิการ

"อนุสรี"เปิด'ใจดีฟาร์ม พนัสนิคม'สร้างอาชีพผู้พิการ

“อนุสรี” ลุยเมืองชล เปิด “ใจดีฟาร์ม พนัสนิคม” สร้างอาชีพผู้พิการ ลดการพึ่งพา เกื้อหนุนสังคม

เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. น.ส. อนุสรี ทับสุวรรณ โฆษกคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ลงพื้นที่ จ.ชลบุรี เปิด “ใจดีฟาร์ม พนัสนิคม” ณ กลุ่มใจดีฟาร์ม เลขที่ 14 หมู่ที่ 7 ต.หมอนนาง อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี เยี่ยมองค์กรที่ส่งเสริมอาชีพปลูกเมล่อนให้กับกลุ่มคนพิการตามมาตรา 35 โดยมีนายนพลิศ เสริมศักดิ์ศศิธร นายกเทศมนตรีตำบลหมอนนาง พร้อมด้วยนายสิบหมื่นชัย โพธิสินธุ์ จัดหางานจังหวัดชลบุรี และหน้าส่วนราชการในจังหวัดชลบุรี ร่วมให้การต้อนรับ

น.ส.อนุสรี กล่าวว่า การส่งเสริมอาชีพคนพิการเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาคนพิการให้มีคุณภาพที่ดีขึ้นได้อย่างเข้มแข็งและมีความยั่งยืน ซึ่งการดำเนินงานของใจดีฟาร์มนั้นเป็นที่น่าสนใจ เพราะเป็นการดำเนินการโดยคนพิการที่มีข้อจำกัดด้านร่างกาย แต่กลับสามารถสร้างผลิตภัณฑ์เมล่อนระดับคุณภาพออกสู่ตลาดที่เป็นตลาดระดับบน เป็นผลิตภัณฑ์ที่สมบูรณ์จากผู้ที่ไม่สมบูรณ์ แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งและความร่วมมือกันของคนพิการในการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายใจดีฟาร์ม ช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนพิการในหลายจังหวัด สร้างโอกาสในการมีอาชีพและมีงานทำ ซึ่งสร้างผลกระทบในเชิงสังคมให้กับกลุ่มคนพิการ ในการตระหนักถึงคุณค่าในตนเอง ลดภาระการพึ่งพา ได้รับการยอมรับจากสังคม เป็นการคืนคนพิการเข้าสู่สังคมได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

สำหรับใจดีฟาร์ม พนัสนิคม เป็นหนึ่งในเครือข่ายของ ใจดีฟาร์ม จากเครือข่าย 3 แห่งคือ จ.ชัยนาท นครสวรรค์ และชลบุรี มีการจัดตั้งกลุ่มอาชีพและใช้สิทธิการจ้างงานคนพิการ ตามมาตรา 35 เพื่อทำฟาร์มเมล่อน โดยกลุ่มฯ มีสมาชิก 13 คน ประกอบด้วยคนพิการและผู้ดูแลคนพิการ พื้นที่ที่ก่อสร้างโรงเรือนปลูกเมล่อน 2 โรง และอาคารที่ทำการกลุ่ม ได้มีการทำทางลาดเพื่อความสะดวกในการทำงานของคนพิการ และสร้างห้องน้ำคนพิการ ด้านการพัฒนาศักยภาพคนพิการในด้านการผลิต กลุ่มมีการส่งสมาชิกไปศึกษาดูงานจากใจดีฟาร์มหันคา จ.ชัยนาท รวมทั้งมีผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกเมล่อนเข้ามาเป็นที่ปรึกษาและฝึกการเพาะปลูกเมล่อนให้กับสมาชิก ด้านการบริหารจัดการกลุ่ม

ทั้งนี้ การดำเนินงานตามมาตรา 35 เป็นการนำเอาสิทธิคนพิการที่ได้รับการจ้างงานมารวมกัน ซึ่งเป็นการลงทุนร่วมกันของคนพิการในการทำธุรกิจการเกษตร เมื่อกลุ่มมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิต รายได้ที่ได้รับจะมีการคิดคำนวณต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการผลิต เงินในส่วนของทุนจะเก็บไว้เพื่อการลงทุนต่อไป ในส่วนที่เป็นกำไรจะนำไปแบ่งปันเป็นเงินปันผลให้กับสมาชิกเท่าๆกัน สำหรับคนพิการที่มาทำงานในฟาร์มนอกจากเงินปันผลที่ได้รับตามสิทธิแล้วยังจะได้รับค่าตอบแทนจากการทำงานด้วย ส่วนการดำเนินการส่งเสริมอาชีพแบบกลุ่มตามมาตรา 35 นั้น ได้ส่งเสริมให้คนพิการเรียนรู้ พัฒนาตนเอง สร้างอาชีพและสร้างธุรกิจได้ในระยะยาวแม้จะไม่ได้รับการสนับสนุนตามาตรา 35 แล้ว ก็จะยังคงสามารถดำเนินการต่อได้อย่างยั่งยืน เพื่อช่วยให้คนพิการลดภาระของครอบครัวและสังคม สามารถพึ่งพาตนเองได้ มีความภาคภูมิใจในตนเอง และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี.

ขอบคุณ... https://www.dailynews.co.th/politics/747956

ที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 20 ธ.ค.62
วันที่โพสต์: 23/12/2562 เวลา 10:15:19 ดูภาพสไลด์โชว์ "อนุสรี"เปิด'ใจดีฟาร์ม พนัสนิคม'สร้างอาชีพผู้พิการ