สิทธิ ความเข้าใจและความเท่าเทียม คือสิ่งที่ขาด.. คนพิการไม่ได้ต้องการความสงสาร

สิทธิ ความเข้าใจและความเท่าเทียม คือสิ่งที่ขาด.. คนพิการไม่ได้ต้องการความสงสาร

เมื่อเร็วๆ นี้ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย จัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลอง เดือนประวัติศาสตร์สตรี (Women History Month) ในเดือนมี.ค. โดยได้เชิญ นลัทพร ไกรฤกษ์ บรรณาธิการเว็บไซต์ thisable.me เว็บข่าวสารข้อมูลเพื่อคนพิการ และ วรรณี เหมุทัย พยาบาลวิชาชีพ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติก จังหวัดขอนแก่น มาบรรยายให้น้องๆ ที่มีอาการออทิซึมที่เข้ารับการอบรมและพัฒนาทักษะในการเรียนรู้ด้านต่างๆ ทั้งทางจิตใจ บุคลิกภาพ การเข้าสู่สังคม และงานอาชีพ ได้ฟังที่ ร้านธีรา เบก รูม เอกมัย ซอย 10 กรุงเทพ

ร้านธีรา เบก รูม แห่งนี้ เป็นคาเฟ่หนึ่งในศูนย์ฝึกทักษะอาชีพ สเตปส์ วิท ธีรา ที่เปิดขึ้นมาเพื่อฝึกฝนผู้มีภาวะออทิซึม ให้สามารถเติบโตไปในสังคม พร้อมทักษะการทำงานเลี้ยงดูตัวเองได้เหมือนบุคคลอื่นๆ ในสังคม ภายนอกที่ดูเหมือนคาเฟ่ทั่วไป แต่เมื่อเข้ามาข้างในจะพบกับศูนย์ฝึกทักษะอาชีพของผู้มีภาวะออทิซึมตั้งแต่ชั้นล่างถึงชั้นสาม พนักงานในคาเฟ่เป็นน้องๆ ผู้มีภาวะออทิซึม ทำงานได้คล่องแคล่ว โชว์ฝีมือแบบบาริสต้าร้านดัง

สิทธิ ความเข้าใจและความเท่าเทียม คือสิ่งที่ขาด.. คนพิการไม่ได้ต้องการความสงสาร

ผู้บรรยายทั้ง 2 ท่าน แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานกับน้องๆ ออทิสติก พร้อมบอกเล่าเรื่องราว ที่เคยได้่รับทุน International Visitor Leadership Program (IVLP) ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ไปดูงานเกี่ยวกับผู้พิการที่สหรัฐ เมื่อปี 2562 เรียกความสนใจจากผู้ฟังไม่น้อย โอกาสของคนพิการในประเทศไทยกับประเทศอื่น แตกต่างกันเพียงใด และมีวิธีใดที่จะทำให้โอกาสของผู้พิการเท่าเทียมกับผู้อื่น

นลัทพร ไกรฤกษ์ บรรณาธิการเว็บไซต์ thisable.me หนึ่งในผู้ที่มีความผู้พิการ เปิดมุมมองอีกด้านที่หลายคนอาจไม่เคยนึกถึงเมื่อพูดถึงคนพิการ

นลัทพร เล่าให้ฟังว่า ดีใจมากที่เห็นพนักงานทำงานในคาเฟ่แห่งนี้ทำงานได้โดยไม่ต้องขายความน่าสงสารอย่างที่เมืองไทยชอบทำ ในหลายๆ งานที่ผู้พิการทำในประเทศไทย พ่วงไปกับการขายความน่าสงสาร หรือขายภาพความยากลำบาก ว่าเขาเป็นคนด้อยโอกาส เพราะฉะนั้นคุณต้องสนับสนุนเขา

“หนูคิดว่าการทำธุรกิจแบบนั้นมันไม่ยั่งยืน มันไม่สามารถเป็นธุรกิจจริงๆ ได้ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่คนไม่สงสารแล้ว หรือของคุณไม่ได้อร่อย เขาก็จะไม่มาซื้อด้วยความสงสารตลอดไป หนูรู้สึกว่ามันไม่เป็นจริง เพราะฉะนั้นเลยดีใจมากที่เห็นร้านนี้มีคนที่ทำงาน คนที่มีความพิการทางสติปัญญา สามารถทำงานได้เหมือนกับพนักงานทั่วไป คนเข้ามากินเพราะว่ามันอร่อย ไม่ได้มากินเพราะเขาน่าสงสาร สิ่งเหล่านี้อยากให้เกิดขึ้นเยอะๆ ค่ะ”

นลัทพร เล่าย้อนไปถึงตอนที่ไปศึกษาดูสภาพชีวิตของคนในสหรัฐอเมริกา ที่นั่นจะเห็นคนพิการทำงานในร้านต่างๆ อยู่ทั่วไป เราไม่ได้รู้สึกสงสารเขา แต่เราอยากได้รับบริการจากเขา สิ่งนี้คือความยั่งยืน

คนพิการในสหรัฐอเมริกาเขาหวงสิทธิของตัวเองมาก คนพิการรู้ว่าตัวเองมีสิทธิอะไร รู้ว่าใครจะต้องไม่มาละเมิดสิทธิเขา และเขาค่อนข้างตระหนักเรื่องสิทธิของตัวเอง หากคนที่มีร่างกายสมบูรณ์ขับรถมาจอดในที่คนพิการอาจกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต ไม่เหมือนที่บ้านเราที่อาจจะมีแค่การถ่ายรูปโพสต์ลงในโซเชียลได้แค่นั้น โดยที่ผู้จอดรถทับที่คนพิการไม่มีความผิดตามกฎหมาย

วรรณี เหมุทัย รักษาการผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลออทิสติก จังหวัดขอนแก่น เล่าถึงปัญหาของผู้มีภาวะออทิซึม ในประเทศไทย มองว่าแนวทางความช่วยเหลือของประเทศไทยเดินมาดีแล้ว แต่ยังมีความล่าช้า ความเข้าใจของคนทั่วไปยังน้อย หากมีการสร้างความเข้าใจของประชาชนในระบบการเรียนรู้ในโรงเรียนตั้งแต่แรกเริ่มก็จะช่วยได้มาก

“เข้าใจเรื่องความพิการ คนพิการไม่ได้ต้องการความช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการความเข้าใจด้วย ถ้าเรียนรู้ตั้งแต่เล็กๆ ว่าคนพิการไม่ได้เลวร้าย เกิดมาแล้วเขามีศักยภาพเท่าๆ คนอื่นนะ เพียงแต่ต้องเพิ่มโอกาสให้เขาเข้าถึงได้เหมือนคนอื่นๆ แค่นั้นเอง” วรรณี กล่าว

แนวทางของประเทศไทยมาถูกทางแล้ว แต่ยังช้า ตอนนี้เริ่มมีการกระจายความรู้ บุคคลากรไปอยู่ตามต่างจังหวัด ให้แนวคิดว่า จริงๆ ไม่ต้องส่งผู้มีภาวะออทิซึมเข้ามาเรียนในเมือง ให้เรียนที่นู้น ให้อยู่กับชุมชน อยู่กับครอบครัว มันจะดีกว่า

“ยกตัวอย่าง เด็กออทิสติกคนหนึ่ง อยู่ในอำเภอหนึ่ง โตในอำเภอ เรียนในอำเภอ มีครูการศึกษาพิเศษในอำเภออยู่ตรงนั้น มีร้านกาแฟ หน้าร้านเล็กๆ มีงานที่เขาทำได้เองที่อำเภอ คนๆ นั้นจะปลอดภัย เพราะคนในอำเภอรู้จักเขาหมด เรียนรู้นิสัยเขาหมด เขาก็จะอยู่ได้ รัฐมาถูกทางแล้ว”

สำหรับปีนี้ ศูนย์ฝึกทักษะอาชีพ สเตปส์ วิท ธีรา ยังเปิดโอกาสมอบทุนให้กับผู้มีภาวะออทิซึม ที่ขาดโอกาส เข้ารับการฝึกทักษะ เป็นปีแรก ผู้สนใจสามารถติดต่อขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0814439381 หรือที่เฟซบุ๊กเพจ stepwiththeera

ขอบคุณ... https://www.khaosod.co.th/monitor-news/news_6277239

ที่มา: khaosod.co.th/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 5 เม.ย.64
วันที่โพสต์: 8/04/2564 เวลา 10:34:52 ดูภาพสไลด์โชว์ สิทธิ ความเข้าใจและความเท่าเทียม คือสิ่งที่ขาด.. คนพิการไม่ได้ต้องการความสงสาร