โควิดกระทบชีวิต ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่ม
ผลสำรวจพบสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มสูงขึ้น สสส. - ภาคีเครือข่ายยื่น 8 ข้อเสนอช่วยเหลือสตรี เด็ก และคนพิการ ที่ประสบความรุนแรง
วันนี้ (20 เม.ย.2564) นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากการสำรวจความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นในชุมชน ทั้งหมด 9 จังหวัด 40 อำเภอ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ราชบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ พิษณุโลก อุดรธานี อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี และสงขลา โดยทางคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พบความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน จากร้อยละ 34.6 ในปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 42.2 ในปี 2563 สะท้อนว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มสูงขึ้น
สอดคล้องกับผลสำรวจสุขภาพผู้หญิงและบุคคลในครอบครัวช่วงสถานการณ์โควิด-19 ขององค์การอนามัยโลก ปี 2563 ที่พบสาเหตุทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว 4 ปัจจัย ได้แก่ 1.คนในครอบครัวต้องอาศัยอยู่กับผู้กระทำความรุนแรงมากขึ้น 2.เกิดความเครียดสะสมในครอบครัวจากปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ 3.การเว้นระยะห่างทางสังคมจาก ญาติ พี่น้อง เพื่อน คนรู้จัก และ 4.ผู้ถูกกระทำความรุนแรงเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือเมื่อถูกละเมิด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถูกวิเคราะห์ว่าเป็นจุดเริ่มต้นปัญหาความรุนแรงในครอบครัว
นางภรณี กล่าวว่า สสส. ได้สนับสนุนกลไกป้องกันความรุนแรงร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคมและสมาคมส่งเสริมศักยภาพสตรีพิการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศ ให้ก้าวข้ามจากปัญหา เห็นศักยภาพตัวเอง และเข้ามามีส่วนช่วยเหลือผู้ประสบความรุนแรงรายอื่นต่อไป ผ่านกระบวนการสร้างเครือข่ายผู้ก้าวข้ามความรุนแรง ที่จะทำหน้าที่ประสาน ส่งต่อ และให้คำแนะทำทางกฎหมายกับผู้ถูกกระทำความรุนแรงได้รับการช่วยเหลือในกระบวนการยุติธรรม
จากนั้นจะรวบรวมสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดกับเด็กและผู้หญิงพิการ มาวิเคราะห์ จัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่สามารถปฏิบัติได้ เพื่อทำให้ทุกคนได้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและการบริการของรัฐ ที่ผ่านมายังพบว่าความรุนแรงไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้หญิงเพียงอย่างเดียว ยังมีเด็กและคนพิการจำนวนหนึ่งต้องเผชิญความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาที่พบคือ ผู้ถูกกระทำความรุนแรงกลุ่มนี้มักจะเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม เพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นในครอบครัว
ในปี 2564 ทางเครือข่ายมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคมและสมาคมส่งเสริมศักยภาพสตรีพิการ ได้ยื่นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านการบริการที่เป็นมิตรคำนึงถึงความต้องการผู้ประสบความรุนแรง 8 ข้อ ได้แก่ 1.ควรมีบทลงโทษทางอาญาต่อผู้ชายที่ไม่รับผิดชอบการกระทำ หรือหลอกลวงให้มีเพศสัมพันธ์ 2.ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบประชาสัมพันธ์บทบาทหน้าที่การให้ความช่วยเหลือของศูนย์ช่วยเหลือสังคม (1300) อย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง 3.ภาครัฐควรมีบริการทางเลือกที่ปลอดภัยให้กับเด็ก และสตรีที่ท้องไม่พร้อม 4.ภาครัฐจัดสรรงบประมาณและบูรณาการร่วมระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน โดยจัดสถานที่เลี้ยงเด็กให้กับครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว
5.รัฐจัดสรรงบประมาณจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเด็ก สตรี และคนพิการที่ประสบความรุนแรงทางเพศและความรุนแรงในครอบครัวเพื่อการดำเนินคดี 6.รัฐควรจัดบริการทางการแพทย์ บริการทางสังคม และการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกโดยคำนึงเด็ก และสตรีพิการ 7.ศูนย์ปฏิบัติการความรุนแรง กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (ศปก.สค.) ควรมีบริการที่เป็นมิตร เข้าใจ ไม่ซ้ำเติม สนับสนุนทางเลือกในการแก้ไขปัญหา แนะนำช่องทางการช่วยเหลือ โดยคำนึงถึงความต้องการของผู้ประสบความรุนแรงเป็นสำคัญ
และ 8.ควรมีการปรับปรุงระบบการบริการที่รวดเร็วในชั้นพนักงานสอบสวน การจัดหาล่าม ผู้เชี่ยวชาญในการสื่อสารให้กับเด็ก ผู้หญิง และคนพิการที่ประสบความรุนแรง ทั้ง 8 ข้อเสนอมีเป้าหมายขับเคลื่อนเรื่องการป้องกันความรุนแรงสำหรับคนทุกกลุ่ม