สปสช. เตรียมเพิ่มหน่วยบริการ ม. 3 ดูแลสุขภาวะทางจิต-บุคคลออทิสติก โดยองค์กรภาคปชช.
บอร์ด สปสช. เตรียมเพิ่มหน่วยบริการเป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่นตาม มาตรา 3 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ฟื้นฟูสุขภาวะทางจิต และศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพบุคคลออทิสติก โดยองค์กรภาคประชาชน เผยมีศูนย์บริการคนพิการและองค์กรเอกชน เตรียมขอขึ้นทะเบียนแล้วกว่า 27 แห่งทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2567 รศ.ภญ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นประธาน ได้รับทราบความคืบหน้า “การกําหนดให้ศูนย์บริการคนพิการทั่วไปและศูนย์บริการคนพิการอื่น” เป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่นตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรณีการดูแลและฟื้นฟูสุขภาวะทางจิต และกรณีการฟื้นฟูสมรรถภาพบุคคลออทิสติก โดยองค์กรภาคประชาชน
ทั้งนี้ สปสช. ได้ออกประกาศกําหนดให้ศูนย์บริการคนพิการทั่วไปที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้การรับรอง และศูนย์บริการคนพิการอื่นๆ ที่เข้าเกณฑ์ตามที่ สปสช. กำหนด เป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่น ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาตั้งแต่ปี 2562 และในปี 2567 นี้ทางคณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุข ของ สปสช. ได้ เห็นชอบ “มาตรฐานการดูแลและฟื้นฟูสุขภาวะทางจิตโดยภาคประชาชน” และ “มาตรฐานการฟื้นฟูสมรรถภาพบุคคลออทิสติก” โดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เพื่อใช้ในการขยายศักยภาพการให้บริการโดยองค์กรคนพิการฯ เพื่อเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพิ่มเติม
สำหรับในส่วนของการดูแลและฟื้นฟูสุขภาวะทางจิต จะเป็นการให้บริการส่งเสริมป้องกันและฟื้นฟูสมรรถภาพเชิงรุก เช่น ประเมิน, ให้คำปรึกษา, การให้ความรู้ด้านการดูแล, สร้างการรับรู้ในชุมชน, ประสานงาน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพในระบบฯ รวมถึงการติดตามหลังการได้รับบริการในระบบ มุ่งเน้นไปที่กลุ่มเป้าหมายที่มีปัญหาสุขภาวะทางจิตหรือพฤติกรรม ในทุกกลุ่มวัย ให้เข้าถึงบริการฟื้นฟูสุขภาวะทางจิตที่เป็นการฟื้นฟูสมรรถภาพที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ให้บริการจะต้องผ่านการอบรมหลักสูตรที่กรมสุขภาพจิตกำหนด เช่น หลักสูตรการให้บริการเพื่อนร่วมประสบการณ์ด้านจิตเวช (Peer Support) หรือ หลักสูตรการดูแลคนพิการทางจิตใจและพฤติกรรม หรือหลักสูตรอบรมผู้ให้บริการดูแลและฟื้นฟูสุขภาวะทางจิตโดยภาคประชาชน หรือหลักสูตรอื่นๆ ตามที่กรมสุขภาพจิตรับรอง
ทั้งนี้ปัจจุบันมีศูนย์บริการคนพิการและองค์กรเอกชนที่มีความพร้อมเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการด้านการดูแลและฟื้นฟูสุขภาวะทางจิตตามมาตรา 3 ในปี 2567 จำนวน 7 แห่ง
รศ.ภญ.ดร.ยุพดี กล่าวต่อว่า ในส่วนของการฟื้นฟูสมรรถภาพบุคคลออทิสติก จะเน้นไปที่กลุ่มคนพิการประเภท 7 คือ บุคคลออทิสติก โดยหน่วยบริการที่ผ่านการขึ้นทะเบียนตามมาตรา 3 จะให้การประเมินและส่งต่อ เมื่อพบกลุ่มเป้าหมายในชุมชน เพื่อสนับสนุนให้เข้ารับบริการในระบบสุขภาพ การรับส่งต่อกลุ่มเป้าหมายจากโรงพยาบาลมารับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยองค์กรคนพิการ ทั้งระหว่างรอการประเมินจากแพทย์ (ไม่เกิน 6เดือน) รวมทั้งเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพลำดับต่อไป เช่น การประเมิน,ให้คำปรึกษา,แนะนําให้ความรู้การเข้าถึงสิทธิ,สร้างการรับรู้ในชุมชน,เยี่ยมบ้าน,ประสานงาน เป็นต้น ขณะเดียวกัน โดยปัจจุบันมีศูนย์บริการคนพิการทั่วไปที่เตรียมเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการด้านออทิสติก ตามมาตรา 3 ปี 2567 จำนวน 20 แห่ง
“หากมีการขึ้นทะเบียนองค์กรเหล่านี้ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้แล้ว จะส่งผลให้คนพิการในกลุ่มเป้าหมาย ทั้งคนที่มีปัญหาสุขภาพจิตและบุคคลออทิสติก มีโอกาสเข้ารับบริการดังกล่าวเพื่อเพิ่มโอกาสฟื้นฟูสมรรถภาพมากยิ่งขึ้น” รศ.ภญ.ดร.ยุพดี กล่าว