โรงเรียนทางเลือก VS โรงเรียนทางหลัก
#Alternative School VS Inclusive School
#เลือก(ที่จะ)ปฎิบัติ(ดี ) หรือ เลือกที่จะปฎิบัติอย่างทั่วถึง
#ช่วยเด็กหลัก 100 ทิ้งเด็กนับ10000
เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) เตรียมนำเสนอ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ)ประกาศจัดตั้ง โรงเรียนการศึกษาพิเศษ เรียกว่า”โรงเรียนออทิสติก”ต่อท้าย ชื่อจังหวัดที่จะจัดตั้ง โดยเริ่มการเตรียมการตั้งแต่งบประมาณปี 2565 ตั้งงบประมาณปี 2566 อย่างน้อย 4แห่งใน 4 ภาค นำร่องที่สุพรรณบุรี ตั้งอยู่อำเภอด่านช้าง ในเขตใกล้ป่าสงวนแห่งชาติ ชื่อว่า “โรงเรียนออทิสติก สุพรรณบุรี” มีแผนการรับนักเรียนตั้งแต่ อนุบาล ถึง มัธยมศึกษาปีที่ 6 รับเด็กแบบประจำและไปกลับ จากพื้นที่ 13 จังหวัดในเขตภาคกลาง โดยมีเหตุผลตามข่าวที่ปรากฎ ความแออัดของโรงเรียนการศึกษาพิเศษในปัจจุบัน ที่นักเรียนแน่นโรงเรียน ความต้องการโรงเรียนประจำสำหรับผู้ปกครองไม่มีทางเลือก หรือโรงเรียนเรียนร่วม หรือ Inclusive Education ไม่ตอบโจทย์ และอีกหลายๆเหตุผล
เรื่องแบบนี้ ในประเทศพัฒนาแล้ว เขาถกกันมาตั้งแต่ ปีคศ.1900แล้ว หรือ100ปีที่แล้ว ถึงข้อเด่น และข้อสังเกตต่างๆและเห็นตรงกันว่า ควรมีโรงเรียนประจำสำหรับเด็กออทิสติก เท่าที่จำเป็น แต่ให้เน้น การเรียนใกล้บ้าน การเรียนรวมเป็นหลัก
แม้แต่ใน CRPD หรืออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการขององค์การสหประชาชาติ ก็สนับสนุนหลักการการเรียนรวม Inclusive School มากกว่า Segregrated School มีงานศึกษาวิจัยมากมาย (The Strengths and Weaknesses of Segregated School Settings)
และในร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ที่รัฐบาลกำลังจะนำเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติ มาตรา 14( กำหนดว่า”การจัดการศึกษาสำหรับผู้ที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ให้มีโอกาสเข้าเรียนและร่วมกิจกรรมต่างๆในสถานศึกษาเดียวกับผู้เรียนทั่วไปได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นพิเศษ เพื่อการพัฒนาให้เต็มศักยภาพสูงสุดของแต่ละบุคคล โดยอาจจะแยกเป็นโรงเรียนเฉพาะ หรือ จัดให้มีระบบพิเศษขึ้นเป็นการเฉพาะในสถานศึกษาก็ได้” ซึ่งหมายถึง หลักการ คือการเรียนรวม และมีระบบพิเศษเฉพาะในโรงเรียนทั่วไป ซึ่งปัจจุบัน”มีระบบห้องเรียนคู่ขนาน”อยู่แต่ สพฐ ไม่ยกระดับและเพิกเฉยการพัฒนาระบบเรียนรวมเท่าที่ควร กรรมการ คณะกรรมการ กพฐ คงไม่รับทราบเรื่องนี้ เพราะอาจไม่มีข้อมูล ส่วนโรงเรียนเฉพาะ ให้จัดทำเท่าที่จำเป็น
มีประเด็นตรงที่ว่า การสร้างโรงเรียนเฉพาะทาง ใช้ทรัพยากร จำนวนมาก. ต้องมีการก่อสร้างอาคาร เท่าที่ทราบ แต่ละแห่งมีอาคารกว่า 20หลัง งบลงทุนแต่ละแห่งกว่า 100 ล้าน และงบดำเนินการ เช่น จำนวนบุคลากร อัตรากำลังแต่ละแห่งเต็มแผนก็หลายร้อยคน ดูแลเด็กได้แห่งละประมาณ 200 คน ทุกช่วงชั้น ในระยะ 5 ปี
หาก คณะกรรมการ กพฐ คิดว่า รัฐบาลประเทศไทย รวยพอก็ไม่เป็นไร “ลงทุนได้เลย แต่ที่น่าห่วงใยคือ สมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม(ไทย) สภาคนพิการทุกประเทศแห่งประเทศไทย ทำเรื่องให้กระทรวงศึกษาธิการ สนับสนุนการเรียนร่วมอย่างจริงจัง จนขยายไปนับหมื่นแห่ง แต่ปรากฎว่า สถานศึกษาหรือโรงเรียนเรียนรวมไม่เคยได้รับการจัดสรรงบประมาณอย่างเป็นธรรมเลย ทำให้คุณภาพการเรียนร่วมมีไม่เต็มที่ โรงเรียนบางแห่งต้องระดมทรัพยากรกันเอง เช่นผู้ปกครองร่วมจ่ายเงิน ขอรับบริจาค บางแห่งเลยไปถึง ใช้กลไกมาตรา 35 จ้างครูพี่เลี้ยงไปสอนเด็กในห้องเรียนก็มี ทั้งที่ไม่ตรงกับหลักการของกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายการศึกษาและกฎหมายคนพิการ แสดงถึงประสิทธิภาพในการจัดการ”เรียนรวม”ของ สพฐ ยังมีเครื่องหมายคำถาม? ทำไมในช่วงสถานการณ์นี้ จึงFocus จุดการสร้างโรงเรียนเฉพาะทาง โดยที่การศึกษาระบบหลักไม่มีลงทุนเรื่องการเรียนรวม และระบบห้องเรียนคู่ขนานระดับตำบล ระดับอำเภอ มีศูนย์การศึกษาพิเศษ ทุกอำเภอ ทำไมไม่เสริมพลังศูนย์การศึกษาพิเศษให้เข้มแข็ง ไปช่วยโรงเรียนในชุมชนให้จัดเรียนร่วมได้ ทำไมถึงไม่ทำ น่าคิด น่าตั้งประเด็น “ยึดเด็กเป็นสำคัญ หรือยึดเด็กเป็นตัวประกัน”ไปพรากเด็กออกจากครอบครัว ทำไมต้องทำแบบนั้น นักการศึกษาพิเศษ เมืองไทย คิดอย่างไรกันบ้าง ช่วยแสดงความคิดเห็นกันด้วย
ส่วนตัว ผมก็ร่วมทำบุญกับ”กองทุนบุญ โรงเรียนออทิสติก สุพรรณบุรี “10,000บาท เพราะเห็นความตั้งใจของทีมงาน และผู้ใหญ่ใจดีในจังหวัด แต่ใจลึกไปยังเป็นห่วงเรื่อง #เลือก(ที่จะ)ปฎิบัติ(ดี )
มากกว่า เลือกที่จะปฎิบัติอย่างทั่วถึง ของ กพฐ. หรือรัฐบาล
สองวันนี้มีโอกาส หารือ แกนนำ คณะกรรมการบริหาร สมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึมไทย และสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย มีความเห็นร่วมกันว่า “ขอให้พัฒนาระบบการเรียนรวมให้ดีและกว้างขวางทั่วถึง แล้วค่อยมาหารือกัน เรื่องสร้างโรงเรียนเฉพาะความพิการ ซึ่งองค์การคนพิการเห็นว่ายังจำเป็นต้องมีแต่น่าจะเป็นทางเลือกมากกว่าโดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบัน และมีมติให้ “ขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ” เพื่อให้ความคิดเห็น ไม่ใช่ปล่อยให้ระดับปฎิบัติการตัดสินตามความคิดของตัวเอง ควรรับฟังความคิดเห็นในเขิงกว้าง ทราบว่าขณะนี้ข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ หลายท่าน กำลังดำเนินการจัดหาที่ดินเพื่อเสนอให้มีการก่อสร้างโรงเรียน ไปกันใหญ่แล้ว
คงต้องถามท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ว่าคิดอย่างไร ท่านเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งใหม่ แต่มีการชงเรื่องเสนอ อ้างให้สอดคล้อง นโยบาย 12 ข้อของท่าน ซึ่งที่จริงเป็นนโยบายที่ดี
ชูศักดิ์ จันทยานนท์ นายกสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม(ไทย)
ขอบคุณ... https://bit.ly/3eEr9oC (ขนาดไฟล์: 121)