คนพิการ สุดหดหู่!! โควิด ระลอก 3 ‘เงินหมด-อดตรวจ-ติดเชื้อรักษาตัวอยู่บ้าน’
โควิด-19 ระบาดนับเป็นระลอกที่ 3 ในประเทศไทย หนนี้สร้างปรากฏการณ์ผู้ป่วยรายใหม่และยอดผู้เสียชีวิตสูงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน จึงไม่แปลกที่คนไทยจะตื่นกลัว พากันไปตรวจคัดกรอง มีทั้งโรงพยาบาลของรัฐ หน่วยบริการตามพื้นที่ต่างๆ และโรงพยาบาลเอกชน ให้เลือกตรวจกันตามกำลังทรัพย์ หากตรวจพบเชื้อก็ทำการรักษา ทั้งในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม แม้จะติดๆ ขัดๆ อยู่บ้างเพราะช่วงนี้ผู้ป่วยเยอะ แต่ก็เป็นความปลอดภัยในชีวิตที่พอจะเลือกได้
ต่างจากคนกลุ่มนี้ ที่ตกงานมาเกือบปี ตอนนี้อยู่ในสภาพเงินขาดมืออย่างหนัก จะไปใช้สิทธิตรวจและรักษาฟรี ก็เดินทางยากลำบากเหลือเกิน จะไปตรวจและรักษาแบบใช้เงิน ยิ่งไม่ต้องพูดถึง
เพราะพวกเขาคือ “คนพิการ” อีกหนึ่งกลุ่มประชากรที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงในช่วงโควิด-19 ระลอก 3
เสาวลักษณ์ ทองก๊วย กรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติ เล่าว่า ตอนนี้คนพิการมีความเสี่ยงสูง เดิมส่วนใหญ่ไม่มีงานทำอยู่แล้ว ในส่วนที่มีงานทำก็ทยอยตกงานตั้งแต่ระบาดระลอกแรก ตั้งแต่งานในสถานประกอบการ นวดสปา ร้องเพลง ฯลฯ ทำให้ต้องเก็บตัวอยู่ในบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่คนพิการอาศัยอยู่กับพ่อแม่ผู้ปกครอง อีกส่วนอยู่รวมกันตามกลุ่มความพิการ
แน่นอนแม้คนพิการและครอบครัวจะพยายามปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค แต่ก็ยังมีการไปมาสู่ที่เลี่ยงไม่ได้ตามวิถีคนชนบท ขณะที่คนพิการบางคน พอจะออกไปประกอบอาชีพได้ เช่น ขายสลากกินแบ่งรัฐบาล อาจนำเชื้อโรคกลับมาติดคนในบ้านและในกลุ่มได้
ติดโควิดรักษาตัวอยู่บ้าน!!
“คนทั่วไปติดโควิดแล้วไปอยู่โรงพยาบาลสนาม รักษาฟรี มีอาหารให้กินด้วย แต่ภายใต้ระเบียบว่าการไปอยู่โรงพยาบาลสนามนั้น ผู้ป่วยต้องสามารถดูแลตัวเองได้ ทำให้เราเจอเคสคนพิการที่ติดเชื้อแล้ว ไม่สามารถอยู่โรงพยาบาลสนาม เพราะไม่สามารถดูแลตัวเองได้ เช่น หูหนวก ตาบอด บกพร่องทางสติปัญญา ทำให้ต้องกักตัวและรักษาตัวอยู่ที่บ้าน เสียค่าอาหาร บางคนเสียค่าเช่าที่พักอาศัย ไหนจะไม่มีอุปกรณ์ในการวัดระดับอุณหภูมิ วัดระดับออกซิเจน ยาสามัญต่างๆ นี่จึงเป็นช่องว่างของนโยบาย”
ด้วยประชากรพิการส่วนใหญ่อยู่ตามชนบท เธอตั้งคำถามดังๆ กับการให้คนพิการติดเชื้อแล้วกักตัวอยู่บ้านว่า “บ้านตามชนบทมีห้องแยกเหรอ เพราะบ้านตามชนบทเป็นลักษณะห้องใหญ่ห้องเดียว ทุกคนในบ้านนอนด้วยกันหมด แล้วเขาจะกักตัวอย่างไร ซึ่งจากที่ทราบตอนนี้คนพิการหลายคนเริ่มติดโควิดระลอกนี้แล้ว”
เธอเคยเสนอให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข กล้าที่จะมีมาตรการเร่งด่วนจัดตั้งโรงพยาบาลสนามทางเลือก มารองรับผู้ป่วยพิการและผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ โดยเป็นโรงพยาบาลสนามทางเลือกกระจายตามชุมชนต่างๆ ใช้ทรัพยากรชุมชนที่มีอยู่
เช่น ศูนย์คนพิการ ศูนย์ศึกษาในชุมชน ศูนย์ตามชุมชน ที่อยู่ระหว่างปิดเทอมหรือไม่ได้ดำเนินการ มารองรับผู้ป่วยเด็ก ผู้ป่วยพิการ ผู้ป่วยสูงอายุในชุมชนให้ได้พักพิงสัก 5-10 เตียง โดยมีเจ้าหน้าที่ อสม. หรืออาสาสมัครต่างๆ ที่ได้รับการอบรมมาตรฐานคอยดูแล เชื่อว่าจะเกิดประโยชน์ต่อเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการที่มีไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคนทั่วประเทศ
เข้าไม่ถึง “เงินเยียวยา-วัคซีน”
“ส่วนเรื่องวัคซีนที่เปิดให้ลงทะเบียนจองฉีดเป็นล็อตที่ 2 รอบนี้ให้เฉพาะผู้มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ก็อยากถามว่าแล้วคนพิการอยู่ลำดับไหน แล้วถ้าถึงคิวแล้วสถานที่ที่จะฉีด จะกระจัดกระจายตามชุมชนและเอื้อต่อคนพิการหรือไม่ ทั้งนี้ ห่วงว่าการเปิดลงทะเบียนผ่านหมอพร้อมระบบเดียว จะซ้ำรอยกับการลงทะเบียนรับเงินเยียวยาเราไม่ทิ้งกัน 5,000 บาทหรือไม่ เพราะเป็นการลงทะเบียนที่คนพิการหลายคน เช่น คนหูหนวก ตาบอด เข้าไม่ถึง เนื่องจากรูปแบบการลงทะเบียนไม่เอื้อต่อความพิการ เหล่านี้พอไม่เห็นการบริหารจัดการ ทำให้คนพิการมีความกังวลและเครียด”
อีกสิ่งที่คนทั่วไปอาจมองข้าม แต่กับกลุ่มคนพิการและเสาวลักษณ์มองเห็นชัดคือ ข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 แม้จะระบาดมาถึงระลอกที่ 3 แต่ข้อมูลยังกระจัดกระจาย ไม่มีการเรียงลำดับ ท่ามกลางข้อมูลมากมายที่มีทั้งจริงและเท็จ
“ในต่างประเทศอย่างอิสราเอล ที่ประกาศชัยชนะโควิด-19 รวมถึงนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา เขาจัดทำข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนสามารถจะเข้าถึงหลายรูปแบบและเข้าใจได้ง่าย ตั้งแต่รู้จักโรคอุบัติใหม่ ติดเชื้อแล้วต้องทำอย่างไร จนหายจากโรค ทั้งข้อมูลทางการแบบเต็มๆ ข้อมูลที่ใช้ภาษาอ่านง่ายเพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจ ข้อมูลที่สามารถนำไปปรินต์ขนาดใหญ่สำหรับคนสายตาเลือนราง ข้อมูลอักษรเบรลสำหรับคนตาบอด ข้อมูลภาษามือสำหรับคนหูหนวก เผยแพร่หลายช่องทาง เช่น เว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น คอลเซ็นเตอร์ วิทยุ แต่ของไทยยังไม่มีอย่างนี้ จะให้คนตาบอดอ่านอินโฟกราฟฟิกก็ไม่ใช่ หันไปปรึกษาใครก็ไม่ได้ ทั้งที่ ศบค.ควรเป็นศูนย์กลางข้อมูลเหล่านี้ เพราะธรรมชาติคนพิการไม่ได้เสพสื่อหลายช่องทาง เหมือนคนทั่วไป”
หันมาดูมาตรการเยียวยาของรัฐ ที่ผ่านมามีมาตรการให้เงินเยียวยา 1,000 บาท ถ้วนหน้าสำหรับผู้พิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ ไปเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2563 ซึ่งเสาวลักษณ์บอกว่า “หมดไปนานแล้ว” ส่วนเงินเยียวยาอื่นๆ ของรัฐ เช่น เราไม่ทิ้งกัน 5,000 บาท, เราชนะ 7,500 บาท แม้จะมีคนพิการบางส่วนได้รับ แต่ส่วนใหญ่คือคลิกแข่งไม่ทันคนทั่วไป ทำให้ขณะนี้คนพิการฝากชีวิตไว้กับ เบี้ยคนพิการ 800-1,000 บาทต่อเดือน เธอจึงอยากให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการเยียวยาคนพิการ
“ตอนนี้ลำพังตัวดิฉันเอง ซึ่งเป็นถึงกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติ ยังอยู่ยากเลย แล้วกับคนพิการบ้านๆ เขาจะทำอย่างไร เจ็บป่วยจะโทรไปสายด่วนตัวเลข 4 ตัว ให้ช่วยเหลือ ก็โทรติดต่อไม่ได้ แม้ภายหลังจะเปิดให้โทรข้ามเครือข่ายได้ ก็ต้องถามว่าเครือข่ายนั้นรองรับคนพิการ เช่น หูหนวก ตาบอด ที่พูดไม่ชัด หูตึงอย่างไร” เสาวลักษณ์กล่าวออกรส
เสนอให้เงินเยียวยาคนพิการ 3 พันบาท
ขณะที่ ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ร่วมยืนยันว่า ในสถานการณ์เช่นนี้คนทั่วไปยังบอกว่าหนักเลย ฉะนั้นกับคนพิการคือยิ่งหนัก
“ตอนนี้คนพิการอยู่บ้านเป็นหลัก ในส่วนคนพิการที่มีเงิน สามารถซื้ออาหารมากินได้ แต่คนพิการที่ไม่มีเงิน ต้องขอเขากิน หลายคนยังต้องเผชิญกับความรุนแรง การถูกทอดทิ้ง ซึ่งเราก็พยายามขอให้ชุมชนช่วยกันอยู่ อย่างน้อยๆ ขอให้ช่วยเรื่องอาหารการกินให้รอดไว้ก่อน”
ที่ผ่านมา มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ และสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ได้เปิดรับบริจาคอาหารแห้ง น้ำดื่ม และเงิน เพื่อช่วยเหลือคนตาบอด สามารถช่วยคนตาบอดได้กลุ่มหนึ่งทางภาคเหนือ แต่ ศ.วิริยะก็ยังห่วงคนตาบอดทุกภูมิภาค และคนพิการประเภทอื่นๆ ทั่วประเทศ อาจไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทั่วถึง จึงมองว่าหากรัฐให้เงินเยียวยาคนพิการเดือนละ 3 พันบาทต่อเดือน ก็จะช่วยให้คนพิการยังพอถูๆ ไถๆ รอดพ้นวิกฤตนี้ไปได้
ส่วนเรื่องคนพิการกับการตรวจคัดกรองและรับวัคซีนโควิด ศ.วิริยะกล่าวว่า ได้คิวมาเมื่อไหร่ก็ไป แต่หากจะให้ไปแย่งกับคนอื่นๆ คงไม่เอา เพราะลำพังเดินทางก็ยากลำบากอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ ส่วนตัวผมตัดสินใจไม่ฉีดวัคซีน เพราะปีนี้อายุ 69 ปีแล้ว และเพิ่งเกษียณจากการเป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมเชื่อว่าอยู่บ้านปลอดภัยกว่า
ตั้ง “ทีมเรามีเรา” ช่วยคนพิการเข้าถึงการรักษาโควิด
ด้าน สราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า พก.ไม่นิ่งนอนใจต่อปัญหาคนพิการ จึงได้จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ ภายใต้ชื่อว่า “ทีมเรามีเรา” ด้วยการให้เจ้าหน้าที่ของ พก.มอนิเตอร์สื่อออนไลน์ถึงโพสต์ขอความช่วยเหลือคนพิการต่างๆ เช่น โพสต์ว่าติดเชื้อโควิด-19 ไม่มีรถมารับพาไปรักษา ไม่มีเตียงรักษา เป็นต้น รวมถึงเคสที่ส่งมาจากศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วนโทร 1300 และสายด่วนคนพิการ โทร 1479 ก่อนเจ้าหน้าที่จะติดต่อสอบถามรายละเอียดการขอความช่วยเหลือ และนำไปสู่การช่วยเหลือดูแล หรือประสานส่งต่อรักษาพยาบาล
ส่วนกรณีคนพิการไม่สามารถเข้ารักษาโรงพยาบาลสนามได้นั้น นางสาวสราญภัทรกล่าวว่า จริงๆ มีเคสคนตาบอดที่ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสนามแถวๆ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรีเช่นกัน แต่กรณีนี้ พก.ได้หารือร่วมกับผู้บริหารโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ อ.หลวง จ.ปทุมธานี เพื่อหาแนวทางการจัดสรรพื้นที่ สำหรับการพักฟื้นในโรงพยาบาลสนาม รองรับกลุ่มคนคนพิการและสูงอายุ ในการจะเป็นต้นแบบให้โรงพยาบาลสนามอื่นๆ ไปปฏิบัติต่อไป
อธิบดี พก.ยังทิ้งท้ายว่า พก.ได้นัดหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับทราบลำดับการฉีดวัคซีนของคนพิการ และหารือขั้นตอนแนวทางร่วมกัน ซึ่งเชื่อว่าจะชัดเจนในเร็วๆ นี้
เปิดสถิติคนพิการทั่วประเทศ ปี 2564
เพื่อให้เห็นสถานการณ์ประชากรพิการ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้จัดทำรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านคนพิการในประเทศไทย ฉบับล่าสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 พบข้อมูลน่าสนใจ ดังนี้ มีคนพิการที่มาขึ้นทะเบียนรับบัตรประจำตัวพิการแล้ว 2,092,595 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 3.21 ของประชากรทั้งประเทศ แบ่งเป็นผู้ชาย 1.091 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 52.18 และผู้หญิง 1 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 47.82
โดยประเภทความพิการพบมากที่สุดคือ ทางเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย จำนวน 1.043 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 49.85 ของประชากรพิการทั้งหมด รองลงมาทางการได้ยินและสื่อความหมาย ร้อยละ 18.84 ทางการมองเห็น ร้อยละ 9.12 ทางจิตใจหรือพฤติกรรม ร้อยละ7.80 ทางสติปัญญา ร้อยละ 6.82 ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ภาคตะวันออก จำนวน 8.32 แสนคน หรือคิดเป็นร้อยละ 39.79 ของประชากรพิการทั้งหมด รองลงมาภาคเหนือ ร้อยละ 22.02 ภาคกลาง ร้อยละ 20.86 และต่ำสุดที่กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 4.66
เมื่อจำแนกอายุของคนพิการ ส่วนใหญ่เป็นผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 1.153 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 55.14 ของผู้พิการทั้งหมด รองลงมาเป็นวัยทำงาน ร้อยละ 40.97 โดยสาเหตุความพิการ พบเหตุผลที่แพทย์ไม่ระบุสาเหตุ จำนวน 1.041 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 49.77 ของประชากรพิการทั้งหมด ไม่ทราบสาเหตุ ร้อยละ 23.13 ภาวะเจ็บป่วย ร้อยละ 19.37 อุบัติเหตุ ร้อยละ 7.07 ขณะที่ระดับการศึกษา พบว่าคนพิการจบการศึกษาสูงสุดในระดับประถมศึกษา จำนวน 1.298 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 81.49 ของประชากรพิการทั้งหมด รองลงมามัธยมศึกษา ร้อยละ 11.34 แต่มีคนพิการที่สามารถจบการศึกษาระดับอุดมศึกษา จำนวน 2.3 หมื่นคน หรือคิดเป็นร้อยละ 1.50
ในด้านการทำงาน พบว่าคนพิการวัยทำงาน อายุ 15-59 ปี ซึ่งมี 8.5 แสนคนทั่วประเทศ ได้ประกอบอาชีพเพียง 2 แสนราย หรือคิดเป็น 24.17 ของประชากรพิการวัยแรงงาน ในจำนวนนี้พบทำอาชีพเกษตรกรรมมากที่สุด จำนวน 1 แสนคน หรือคิดเป็นร้อยละ 48.92 รองลงมารับจ้าง ร้อยละ 23.58
ขอบคุณ... https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_2709023