หยุดตีตราด้อยค่า...เหยื่อความรุนแรง : โควิด-19 ส่งผลกระทบ “กลุ่มเด็กและสตรีพิการ”
ความรุนแรงในครอบครัว ตั้งแต่ปี 2559 ถึงเมษายน 2563 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 1,400 ราย/ปี หรือเฉลี่ย 4 ราย/วัน สถิติจาก ศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.)
ขณะที่ผลสำรวจความชุกความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัว ปี 2563 โดย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล พบความรุนแรงด้านจิตใจสูงสุด 41.2% ทางร่างกาย 4.3% และทางเพศ 2.3%
สอดคล้องกับผลสำรวจสุขภาพผู้หญิงและบุคคลในครอบครัวช่วงสถานการณ์โควิด-19 ขององค์การอนามัยโลก ปี 2563 พบสาเหตุความรุนแรงในครอบครัวมาจาก 4 ปัจจัย ได้แก่ 1.คนในครอบครัวต้องอาศัยอยู่กับผู้กระทำความรุนแรงมากขึ้น 2. ความเครียดสะสมจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ 3.การเว้นระยะห่างทางสังคม และ 4.ผู้ถูกกระทำความรุนแรงเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือเมื่อถูกละเมิด
และหากโฟกัสหนึ่งในกลุ่มเปราะบางของสังคม กลุ่มเด็กและสตรีพิการ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสภาวะที่ต้องพึงพิงคนในครอบครัว หรือผู้ดูแล เป็นอีกกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง ไม่ให้ตกเป็น “ผู้ถูกกระทำ” หรือ “เหยื่อ” ความรุนแรงในครอบครัว
ข้อมูล กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ระบุจำนวนคนพิการที่ได้รับการออกบัตรประจำตัวคนพิการมี 2,092,595 คน คิดเป็นร้อยละ 3.21 ของประชากรทั้งประเทศ ในจำนวนดังกล่าวเป็นเพศหญิง 1,000,750 คน คิดเป็นร้อยละ 47.82 โดยความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกายมีมากที่สุด 1,043,192 คน รองลงมาทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย 394,259 คน และทางการมองเห็น 190,767 คน ส่วนคนพิการวัยเด็กและวัยศึกษา 0-21 ปี มี 146,106 คน เป็นคนพิการทางสติปัญญามากที่สุด 46,833 คน
“กลุ่มคนพิการถูกจัดวางให้อยู่ระดับล่างสุดอยู่แล้ว จึงมักถูกกระทำด้วยความรุนแรง รองรับความเครียด อารมณ์ ตั้งแต่การทำร้ายร่างกาย ข่มขืน บูลลี่ สถิติปีที่แล้วเท่าที่ติดตามผ่านการนำเสนอข่าวมีเป็นร้อย เพิ่มแบบมีนัยสำคัญจากปีก่อนๆที่ยังไม่มีโรคโควิด-19 ที่น่าห่วงคือจำนวนที่เพิ่มขึ้นแล้วยังไม่รู้มีจุดจบตรงไหน ไม่รู้แต่ละเคสที่ปรากฏเป็นข่าวได้รับการติดตามแก้ปัญหาจนถึงที่สุดหรือไม่อย่างไร โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรม ที่แม้แต่คดีบุคคลทั่วไปเรายังเห็นถึงช่องว่างความไม่เข้าใจและช่องว่างทางอำนาจ ที่ใช้ในการเลือกปฏิบัติ ทำให้หลายคดีเงียบหายหรือต้องใช้เวลายาวนาน ยิ่งผู้ถูกกระทำเป็นกลุ่มคนพิการ จะลุกขึ้นต่อสู้จนถึงที่สุดได้มากน้อยเพียงใด ความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศทั้งในเด็กหญิงและสตรีพิการ ส่วนใหญ่เกิดจากคนในครอบครัว โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เพราะคนเหล่านี้ไม่มีทางออก จึงระบาย กับเด็กหรือสตรีพิการซึ่งอ่อนแอที่สุดในบ้าน นอกจากนี้ยังมีความรุนแรงรูปแบบอื่นๆ ทั้งด้วยวาจา คำพูดด่าทอ เฆี่ยนตี กักขัง ล่ามโซ่ ไม่ให้ไปเรียนหนังสือ ห้ามทำในสิ่งที่ลูกคนอื่นทำ บางคนล่ามจนเสียสติ หรือถึงขั้นเสียชีวิตก็มี” น.ส.เสาวลักษณ์ ทองก๊วย คณะกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการ หนึ่งในสตรีพิการทางการเคลื่อนไหว สะท้อนภาพ “กลุ่มเด็กและสตรีพิการ” ที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง
น.ส.เสาวลักษณ์ กล่าวด้วยว่า กลไกปกป้องคุ้มครองและสร้างความตระหนักรู้เป็นสิ่งสำคัญในการดูแลกลุ่มคนพิการ เมื่อเกิดเหตุแล้วต้องเร่งปกป้องคุ้มครองโดยเร็วที่สุด หน่วยงานคุ้มครองต้องแยกผู้ถูกกระทำออก และมีบทลงโทษผู้กระทำ ไม่ใช่มุ่งเน้นแต่ความเป็นครอบครัวที่ยังต้องฟูมฟัก ขณะที่มองผู้ถูกกระทำเป็นเพียงคนพิการไม่ต้องสนใจ การให้คนพิการได้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและระบบสาธารณสุขอย่างทันท่วงที โดยมีทีมสหวิชาชีพเข้ามาดูแลเป็นสิ่งสำคัญ อีกสิ่ง ที่ต้องให้ความสำคัญคือการศึกษา โดยเฉพาะโรงเรียนเรียนร่วม ไม่ใช่ถูกแยกให้ไปรวมกันในโรงเรียนการศึกษาพิเศษ ด้วยมุมมองที่เห็นว่าคนพิการเรียนอะไรยากๆไม่ได้ เมื่อเร็วๆนี้มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคมได้จัดเวทีสะท้อนปัญหาความรุนแรงทางเพศและทางครอบครัว
สู่การขับเคลื่อนนโยบายที่เป็นมิตร ตัวแทนคนพิการได้มีข้อเสนอแนะถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ควรมีบท ลงโทษทางอาญาต่อผู้ชายที่ไม่รับผิดชอบการกระทำ หรือหลอกลวงให้มีเพศสัมพันธ์ ภาครัฐควรมีบริการทางเลือกที่ปลอดภัยให้กับเด็กและสตรีที่ท้องไม่พร้อม จัดสรรงบประมาณจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเด็ก สตรี และคนพิการที่ประสบความรุนแรงทางเพศและความรุนแรงในครอบครัวเพื่อการดำเนินคดี จัดบริการทางการแพทย์ บริการทางสังคม และจัดสิ่งอำนวยความสะดวกโดยคำนึงถึงเด็ก และสตรีพิการ อีกทั้งควรมีบริการที่เป็นมิตร เข้าใจ ไม่ซ้ำเติม เป็นต้น
“เราต้องทำให้คนพิการเป็นคน ไม่ใช่ทำให้พิการแล้วพิการอีกด้วยระบบที่ไปซ้ำเติม กุญแจสำคัญอันเดียวคือ สิทธิการเข้าถึงในฐานะเป็นประชากรของประเทศ เป็นสิทธิที่มองเห็นความเป็นพลเมือง ไม่ใช่คนพิการที่ด้อยคุณค่า” น.ส.เสาวลักษณ์ ย้ำความสำคัญถึงสิทธิคนพิการ
ด้าน น.ส.สราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดี พก. กล่าวว่า ความรุนแรงที่เกิดกับเด็กหญิงและสตรีพิการที่ผ่านมามีเป็นระยะ ยิ่งช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 คาดว่าน่าจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น เนื่องจากคนอยู่บ้านมากขึ้น และมีปัจจัยความเครียดจากภาวะเศรษฐกิจ สังคมที่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรงได้ ทั้งนี้ พก.ได้ขับเคลื่อนแผนการพัฒนาสตรีพิการที่มุ่งเน้นการเข้าถึงสิทธิอย่างเท่าเทียม ภายใต้ยุทธศาสตร์ 4 เสริม คือ เสริมพลังให้เข้าถึงสิทธิสวัสดิการ เสริมสร้างสุขภาวะ เสริมภูมิคุ้มกันและปกป้อง และเสริมความเข้มแข็งในศักยภาพและการมีส่วนร่วม โดยบูรณาการทุกภาคส่วนทำงานเชิงรุกเพื่อให้คนพิการได้อยู่ร่วมในสังคมอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะการเข้าถึงสิทธิทั้งการสาธารณสุข การศึกษา และกระบวนการยุติธรรม ผ่านการสร้างความรู้ ความเข้าใจ อาศัยเครือข่ายองค์กรคนพิการ อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) และชุมชนในพื้นที่ รวมไปถึงการปกป้องเฝ้าระวังความรุนแรงทุกรูปแบบ เมื่อเกิดเหตุต้องได้รับการดูแลคุ้มครองอย่างทันท่วงที ผู้พบเห็นเหตุความรุนแรงนอกจากการแจ้งเหตุผ่าน พก.เครือข่ายต่างๆ ยังมีแอปพลิเคชัน เพื่อนครอบครัว @linefamily และ www.เพื่อนครอบครัว.com ที่ สค.พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยแก้ปัญหาครอบครัว รวมทั้งศูนย์ช่วยเหลือสังคม พม.1300
ทีมข่าวการพัฒนาสังคม ขอเป็นอีกเสียงที่กระตุ้นทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญถึงการดูแลปกป้อง คุ้มครอง และการเข้าถึงสิทธิของกลุ่มคนพิการทุกประเภท โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่คนพิการ ก็ทุกข์กายและใจไม่น้อยไปกว่าคนปกติ แต่กลับยิ่งถูกทำร้ายจากคนปกติเพิ่มมากขึ้น
หยุดซ้ำเติม “กลุ่มเด็กและสตรีพิการ” ด้วยการตีตราหรือเลือกปฏิบัติ เพียงมองเห็นความไม่สมบูรณ์ทางสรีระภายนอก มาลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนมีเสมือนกันเสียที.