ติดโควิด-19 ไม่มีใครดูแล 'เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ' ทำอย่างไรดี?

ติดโควิด-19 ไม่มีใครดูแล 'เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ' ทำอย่างไรดี?

เปิดขั้นตอนเยียวยาจาก พม. หากเกิดกรณีติดโควิด-19 แล้วไม่มีใครดูแล "เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ" ที่อยู่บ้านเดียวกัน จะต้องทำอย่างไร?

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันประเทศไทยยังคงพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ขณะเดียวกันตัวเลขผู้เสียชีวิตยังอยู่ในระดับสูง จากข้อมูลของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อล่าสุด (7 มิ.ย.2564) พบเพิ่มใหม่ถึง 2,419 ราย ทำให้ผู้ป่วยสะสมจากระลอกใหม่นี้สูงถึง 151,023 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 33 ราย

ทั้งนี้ปัจจุบันทุกคนได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตัวเองอย่างเต็มที่ ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง รวมถึงการล้างมือหรือการใช้เจลแอลกอฮอล์ แต่หากเกิดกรณีแม้ป้องกันตัวเองแล้ว แต่เกิดติดโควิด-19 ขึ้น แล้วคนในครอบครัว โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ จะทำอย่างไรดี?

ล่าสุดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้เปิดสายด่วน 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง ในการบริการสถานที่รองรับในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล สำหรับกลุ่มเปราะบางที่เป็นเด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ ที่เดือดร้อนขาดผู้ดูแล และได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงยังมีการจัดเตรียมสถานที่รองรับทั่วประเทศเช่นกัน แต่ขึ้นอยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัด

พม.ช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายไว้ 4 กลุ่ม

1.เด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการที่ได้รับความเดือดร้อน ไม่มีผู้ดูแล เนื่องจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เป็นผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19

2.เด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการที่หายจากโควิด-19 แล้ว และกลับมาอยู่ในครอบครัว แต่มีความเครียด วิตกกังวล

3.เด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการที่ถูกทิ้งไว้ลำพังไม่มีผู้ดูแล

4.เด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการที่ไม่ได้อยู่บ้านเดียวกับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 แต่ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เป็นผู้ส่งเสียเลี้ยงดู

ช่วยเหลืออะไรบ้าง?

ทั้งนี้ พม.จะจัดหาที่พักอาศัยให้ พร้อมทั้งอาหาร 3 มื้อ เครื่องอุปโภคบริโภค เช่น เครื่องนอน ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น รวมถึงการให้คำแนะนำ ปรึกษา จัดกิจกรรมนันทนาการตามความเหมาะสม กับนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา และนักพัฒนาสังคม หรือผู้เชี่ยวชาญผ่านระบบออนไลน์ และหากมีอาการเจ็บป่วยจะมีการประสานส่งต่อโรงพยาบาล

พม.เตรียมสถานที่รองรับที่ไหนบ้าง?

1.กรณีเด็ก จะมีการแยกชาย-หญิง

- สถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี กทม. (เฉพาะเด็กผู้หญิง)

- สถานสงเคราะห์เยาวชนมูลนิธิมหาราช จังหวัดปทุมธานี (เฉพาะเด็กผู้ชาย)

- สถานแรกรับเด็กชายปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี (เฉพาะเด็กผู้ชาย)

- สถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านบางละมุง จังหวัดชลบุรี (รับเด็กชายและหญิง)

- สถาบันพระประชาบดี อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี

2.กรณีผู้สูงอายุ จะมีการแยกชายหญิง

- ที่พักคนเดินทางดินแดง กทม.

- บ้านสร้างโอกาส อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี

- ศูนย์ฝึกอบรมผู้สูงอายุบางละมุง จังหวัดชลบุรี

3.กรณีคนพิการ

- ศูนย์พัฒนาและฝึกอาชีพคนพิการพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ

ขั้นตอนการช่วยเหลือ

1.รับเรื่อง สายด่วน 1300

- รับแจ้งข้อมูลผู้รับบริการ (มีเอกสารรับรองทางการแพทย์จากหน่วยงานสาธารณสุข) กลั่นกรองข้อมูล โดยสอบข้อเท็จจริง ซักประวัติ แผนการรักษา สภาพปัญหา และความต้องการช่วยเหลือ เป็นต้น

- แจ้งรายละเอียดการเตรียมความพร้อมของผู้รับบริการก่อนเข้าสถานรองรับ พม.

- ประสานส่งต่อไปยังทีมประสานงานกลางของแต่ละกลุ่มเป้าหมาย

2.ประสาน-ส่งต่อ

- เจ้าหน้าที่ทีมประสานงานกลางรับการประสานข้อมูลจากสายด่วน 1300

- วิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงของผู้รับบริการ จากแบบขอรับความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อเข้าสถานรองรับ พม.

- ตรวจสอบสถานะความพร้อมของสถานรองรับ พม.

- นำส่งผู้รับบริการจากหน่วยงานสาธาณสุข หรือที่พักอาศัยเพื่อเข้ารีบการดูแลในสถานรองรับ พม.

3.ช่วยเหลือดูแล

- กรอกข้อมูลตามแบบประเมินตนเองของผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ของ พม.

- แนะนำการปฏิบัติตนในสถานรองรับและทำความเข้าใจกับผู้รับบริการถึงข้อตกลงในการอยู่ร่วมกัน

- คัดกรองเบื้องต้น และให้ผู้รับบริการ อาบน้ำ ชำระร่างกายให้สะอาด ก่อนเข้าอาคารพัก

- กรณีก่อนกลับบ้าน จะมีการประเมินสุขภาพร่างกายและจิตใจ

- มีการติดตามผลการช่วยเหลือผู้รับบริการภายหลังจำหน่ายจากสถานรองรับ พม.

ขอบคุณ... https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/942112

ที่มา: bangkokbiznews.com/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 7 มิ.ย.64
วันที่โพสต์: 9/06/2564 เวลา 10:16:52 ดูภาพสไลด์โชว์ ติดโควิด-19 ไม่มีใครดูแล 'เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ' ทำอย่างไรดี?