เปิดสถิติสงกรานต์ คนถูกแต๊ะอั๋งกว่า 32% คนพิการก็ไม่เว้น ก่อเป็นปัญหาไม่แพ้เมาแล้วขับ

เปิดสถิติสงกรานต์ คนถูกแต๊ะอั๋งกว่า 32% คนพิการก็ไม่เว้น ก่อเป็นปัญหาไม่แพ้เมาแล้วขับ

เมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์สงกรานต์ ประจำปี 2568 “สงกรานต์เลี่ยงดื่ม เพิ่มพื้นที่สุข สนุก เคารพสิทธิ” พร้อมทำกิจกรรมขบวนแห่กลองยาวเชิญชวนร่วมงาน “สงกรานต์เลี่ยงดื่ม เพิ่มพื้นที่สุข สนุก เคารพสิทธิ” และแจกสื่อรณรงค์ เมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา

นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ปี 2567 กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ร่วมกับเครือข่าย สำรวจความเห็นประชาชนต่อเทศกาลสงกรานต์ 4,011 คน พบเคยถูกประแป้งที่ใบหน้า 57.79% มีเด็กอายุต่ำว่า 18 ปีถูกประแป้งที่หน้า 76.77% ส่วนถูกแต๊ะอั๋ง/ลวนลาม 32.43% ถ้าแยกเฉพาะผู้พิการ พบว่าถูกประแป้ง 56.79% ถูกแต๊ะอั๋ง/ลวนลาม 50.62% เช่น จับมือ/แขน/เบียดเสียด 61.45% ลูบไล้ร่างกาย 37.19% จับแก้ม 34.47% มองแทะโลมทำให้อึดอัด ไม่ปลอดภัย 22.45% ถูกแซว/ล้อเลียนส่อไปในเรื่องเพศ 21.54% และถูกสัมผัส/ล้วงอวัยวะอื่น ๆ 16.55%

“ผลสำรวจสะท้อนว่า เราต้องสร้างกระแสให้สังคมเข้าใจเรื่องการให้เกียรติ เคารพในสิทธิเนื้อตัวร่างกาย ไม่ฉวยโอกาสลวนลาม หรือคุกคามทางเพศ และไม่ใช้ความรุนแรง ผู้ถูกกระทำสามารถขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง หน่วยงานในพื้นที่ เช่น ตำรวจ หรือสายด่วน 191 ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) กระทรวง พม. ผ่านสายด่วน 1300 และ ผ่าน Line :@esshelpme เพื่อหยุดพฤติกรรมการกระทำผิด และไม่ให้ไปกระทำซ้ำกับผู้อื่น” ปลัด พม. กล่าว

เปิดสถิติสงกรานต์ คนถูกแต๊ะอั๋งกว่า 32% คนพิการก็ไม่เว้น ก่อเป็นปัญหาไม่แพ้เมาแล้วขับ

นางก่องกาญจน์ ทักษ์หิรัญฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า สสส. ยังคงร่วมกับภาคีเครือข่ายฯ รณรงค์สนับสนุนให้จัดกิจกรรมเล่นน้ำอย่างสร้างสรรค์ ปลอดภัยไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปัจจุบันมีพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัยกว่า 100 พื้นที่ มีถนนตระกูลข้าว (ปลอดเหล้า) 60 แห่ง รวมถึงได้สื่อสารรณรงค์ผ่านภาพยนตร์โฆษณารณรงค์ช่วงเทศกาลสงกรานต์แคมเปญ “ดื่มแล้วขับ นับเป็นฆาตกร” เพื่อให้หยุดพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ “เมาแล้วขับ” ก่อนที่จะต้องมีคน “ร้องขอชีวิต” ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจพฤติกรรมการดื่มสุราของคนไทย ปี 2564 แม้มีแนวโน้มลดลงเหลือ 28% แต่ยังมีเยาวชนเป็นนักดื่มมากถึง 1.9ล้านคน การดื่มแล้วขับมีส่วนทำให้เกิดอุบัติเหตุบนถนน

“ข้อมูลจากศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปรียบเทียบปี 2566-2567 พบการเกิดอุบัติเหตุ 2,044 ครั้ง ลดลง 159 ครั้ง คิดเป็น 7.22% ผู้บาดเจ็บ 2,060 คน ลดลง 148 คน คิดเป็น 6.70% ผู้เสียชีวิต 287 คน เพิ่มขึ้น23 คน หรือ 8.71% นี่คือเหตุผลที่ สสส. ต้องร่วมกับภาคีเครือข่ายรณรงค์อย่างหนัก และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสงกรานต์ปีนี้ จะเป็นสงกรานต์เลี่ยงดื่ม เพิ่มพื้นที่สุข สนุก เคารพสิทธิ สร้างค่านิยมที่ดีของสังคมเพื่อสืบสานประเพณีสงกรานต์ตามวิถีไทยดีงามให้คงอยู่ต่อไป” นางก่องกาญจน์ กล่าว

น.ส.อังคณา อินทสา มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากการสำรวจความเห็นเกี่ยวกับปัญหาในช่วงเทศกาลสงกรานต์จากกลุ่มตัวอย่าง 2,552 คน ของมูลนิธิฯและเครือข่ายพบว่าผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงสงกรานต์ยังเป็นประเด็นสำคัญ คือ ถูกก่อกวนจากคนเมา 26.4% พฤติกรรมก้าวร้าวของคนเมาทำให้หวาดกลัว 19.7% ปัญหาเมาแล้วขับ 16.7% ทะเลาะกันในครอบครัว 11.5%ถูกคนเมาลวนลาม 10.8% และถูกคนเมาทำร้ายร่างกาย 3.8%

ดังนั้น มูลนิธิฯ จึงมีข้อเสนอในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่สร้างสรรค์ ปลอดภัยสำหรับทุกคน ดังนี้ 1.เจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองต้องบังคับใช้กฎหมายอาญาเรื่องการลวนลามทางเพศ และ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเข้มข้น เช่น ไม่ขายเกินเวลา ไม่ขายให้คนอายุต่ำกว่า 20 ปี ไม่ขายให้คนเมา ไม่ขายในที่ห้ามขาย เป็นต้น 2.ผู้จัดงานต้องประชาสัมพันธ์กฎหมายเกี่ยวกับการลวนลามทางเพศ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และแนวทางปฏิบัติเมื่อเกิดการกระทำผิด สนับสนุนให้ประชาชนในพื้นที่จัดสงกรานต์สร้างสรรค์ ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการคุกคามทางเพศ 3.ผู้พบเห็นต้องไม่นิ่งเฉยต่อเหตุการณ์ และเข้าไปแทรกแซงเพื่อหยุดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ในพื้นที่จัดกิจกรรมเล่นน้ำต้องมีจุดรับแจ้งเหตุให้ความช่วยเหลือ มีแผนเผชิญเหตุให้ชัดเจน และ 4.ครอบครัว สถาบันการศึกษาควรปลูกฝังเรื่องทัศนคติการเคารพเนื้อตัวร่างกายของผู้อื่น เพราะยังมีความเชื่อที่ผิดว่าสงกรานต์เป็นช่วงเวลาทองของการฉวยโอกาส ซึ่งไม่ถูกต้อง และไม่ว่าเทศกาลใดหรือผู้เสียหายจะแต่งตัวแบบไหน เราก็ไม่มีสิทธิไปละเมิดใคร

ด้าน นายนำโชค กระจ่างศรี อดีตเยาวชนศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า ในช่วงวัยรุ่นตนและเพื่อนต่างรอคอยเทศกาลสงกรานต์เพราะจะได้ปลดปล่อย ทำอะไรก็ได้ ทั้งกิน ดื่ม เที่ยว และในใจยังคิดจะฉวยโอกาส โดยไม่ได้เข้าใจ หรือสนใจเรื่องสิทธิเนื้อตัวร่างกายหรือการเคารพให้เกียรติคนอื่น คิดว่าคนที่มาเล่นสงกรานต์คือคนที่พร้อมจะโดน ดังนั้นสงกรานต์จึงกลายเป็นเทศกาลที่ไปหาเหยื่อ เก็บแต้ม เริ่มตั้งแต่ประแป้ง ถึงเนื้อถึงตัว ไปจนถึงการมีเพศสัมพันธ์ อย่างไรก็ตาม ตนเพิ่งจะมาปรับเปลี่ยนมุมมองความคิดและพฤติกรรมในเรื่องการเคารพสิทธิผู้อื่น การให้เกียรติผู้หญิงและทุกเพศสภาพเพราะถูกขัดเกลาจากบ้านกาญจนาภิเษก นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ และครูทุกคน หลังจากที่ก่อคดีและถูกลงโทษติดคุกเด็กในช่วงวัยรุ่น

“ผมและแฟนได้รับการอบรม ทำกิจกรรมในบ้านกาญจนาฯ ทำให้ได้ซึมซับเรื่องความเท่าเทียมกัน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ การเคารพในสิทธิเนื้อตัวร่างกาย เห็นคุณค่าในตัวเอง มองไปถึงอนาคตพร้อมๆ กัน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก เป็นเรื่องใหม่ที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน มันส่งผลกับชีวิตคู่และครอบครัวของผมมากๆ ทุกวันนี้ผมและภรรยา มีลูก มีครอบครัวที่อบอุ่น ไม่เคยใช้ความรุนแรงและมีความสุขดีหากมีโอกาสก็จะไปทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับสังคมเสมอในนามกลุ่มผู้ถูกเจียรไน ก็แอบคิดตลอดเวลาว่าถ้าระบบการศึกษาของไทยได้บ่มสอนแบบที่บ้านกาญจนาภิเษกขัดเกลา เจียรไนพวกเรา ปัญหาสังคมคงลดลงไปมาก สงกรานต์นี้อยากจะบอกเพื่อนๆ น้องๆ ว่าเหล้าเลี่ยงได้ก็เลี่ยงเถอะ สนุกแบบมีสติดีกว่า และควรเคารพให้เกียรติผู้อื่น มีเวลาทำกิจกรรมดีๆ คืนความสุขให้คนที่เรารัก ให้ครอบครัว” นายนำโชค

ขอบคุณ... https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_5133808

ที่มา: matichon.co.th/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 17 เม.ย. 68
วันที่โพสต์: 17/04/2568 เวลา 14:01:55 ดูภาพสไลด์โชว์ เปิดสถิติสงกรานต์ คนถูกแต๊ะอั๋งกว่า 32% คนพิการก็ไม่เว้น ก่อเป็นปัญหาไม่แพ้เมาแล้วขับ