เปิดโมเดลชุมชนต้นเเบบ ช่วยคนพิการสู้พิษโควิด
สถานการณ์โควิด-19 ที่ยังทวีความรุนแรงและแพร่ระบาด เป็นวงกว้างส่งผลกระทบต่อทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหา ปากท้อง มีแรงงานไม่น้อยถูกเลิกจ้างงาน สถานประกอบการ บางแห่งต้องปรับลดอัตรากำลังการจ้างงานลง ลดเวลาการทำงาน ส่งผลต่อรายได้ที่ลดลง ซึ่งกลุ่มผู้พิการเป็นอีกหนึ่งกลุ่มแรงงาน ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้อย่างหนัก มีผู้พิการต้องตกงานเกือบแสนคน ไม่มีรายได้ และขาดแคลนอาหาร
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมกับมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม เปิดตัว ชุมชนต้นแบบ "บ้านยางชุม-วังศิลาโมเดล" จ.สุรินทร์ เพื่อนำร่องการฝึกอาชีพ หาพันธมิตรจ้างงาน ให้ทุนทรัพย์ประกอบอาชีพ ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ หาคนกลางรับซื้อผลผลิตถึงบ้าน สร้างความมั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจในระยะยาว
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุน สุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า รายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านคนพิการในประเทศไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปี 2564 พบคนพิการวัยทำงานที่ยังไม่มีอาชีพ จำนวน 72,466 คน จากจำนวนคนพิการวัยทำงานทั้งหมดที่มีอยู่ในระบบ 857,253 คน ดังนั้น สสส. จึงได้ร่วมกับมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ดำเนินโครงการส่งเสริมอาชีพความมั่นคงทางอาหารสู่การพัฒนาชุมชนต้นแบบด้านสุขภาวะ เพื่อพัฒนาการจ้างงานคนพิการระยะยาวในวิกฤตโควิด-19 โดยใช้กลไกชุมชนด้านความมั่นคงทางอาหารมาจ้างงานเชิงสังคม ให้คนพิการทำงานที่บ้านและในท้องถิ่นของตัวเองได้ เช่น เกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ เพราะการจ้างงานลักษณะนี้คนพิการมีความรู้พื้นฐานเป็นทุนเดิม ทำให้ไม่ต้อง ปรับตัวจากการทำงานมาก และเป็นอาชีพที่สามารถทำงานที่บ้านและไม่ขาดแคลนอาหารในการบริโภค
"ที่ผ่านมา สสส. สนับสนุนเรื่อง การส่งเสริมโอกาสการมีงานทำ ทั้งเรื่อง การเตรียมความพร้อมของทั้งคนพิการ สถานประกอบการ และการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการผ่านการมีส่วนร่วมในชุมชน อยู่แล้ว สำหรับในวิกฤตโควิด-19 นี้ จึงถือเป็นโอกาสสร้างอาชีพแก่คนพิการ ซึ่งเป็นอีกกลุ่มประชากรที่ควรได้รับ ความเป็นธรรมทางสุขภาพในทุกมิติ ทั้งกาย จิต ปัญญา และสังคม เพราะการที่คนพิการสามารถประกอบอาชีพ และมีรายได้จากการทำงานเหมือนคนทั่วไป ทำให้เกิดความภูมิใจในตัวเอง และช่วยให้คนพิการมีพฤติกรรมทางสุขภาพที่ดีขึ้น เกิดการยอมรับจากสังคม"
นางภรณี อธิบายเพิ่มเติมว่า สำหรับโมเดลความมั่นคงทางอาหารและสนับสนุนอาชีพคนพิการ มีเป้าหมาย 3 อย่าง คือ 1. พัฒนาทักษะคนพิการให้มีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพที่ท้องถิ่นของตัวเองในภาวะวิกฤต 2. พัฒนาให้คนพิการทำงานตามแผนการประกอบอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ 3. พัฒนาเป็นพื้นที่นำร่อง เพื่อถอดบทเรียนการทำชุมชนต้นแบบด้านสุขภาวะ ระดับหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ ในอนาคต
ด้านนายอภิชาติ การุณกรสกุล ประธานมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ให้ข้อมูลว่า โครงการส่งเสริมอาชีพความมั่นคงทางอาหารสู่การพัฒนาชุมชนต้นแบบด้านสุขภาวะ สนับสนุนโดย สสส. จะเป็นการร่วมกันพัฒนาอาชีพไปยังคนพิการและครอบครัวในต่างจังหวัด ที่ตั้งใจพัฒนาเรื่องอาชีพและต้องการมีรายได้ในช่วงโควิด-19 ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้างหรือมีรายได้น้อยลง โดยบริษัทที่จ้างงานจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายเรื่องวัตถุดิบอุปกรณ์ในการประกอบอาชีพ และประสานเรื่องการจัดทำเอกสารและติดตามส่งรายงานให้บริษัทที่เข้าร่วมการจ้างงานเชิงสังคม ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550
สำหรับ คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องมีบัตรคนพิการ อายุ 20 - 70 ปี และผู้ดูแลจะต้องมีชื่อหลังบัตรคนพิการให้สามารถใช้สิทธิแทนคนพิการ เพื่อนำเงินไปเตรียมพื้นที่สำหรับการประกอบอาชีพ ซึ่งครอบครัวคนพิการส่วนใหญ่จะนิยมปลูกผัก สมุนไพร ผลไม้ และเลี้ยงสัตว์ โดยหลังจากผลผลิตถึงเวลาเก็บเกี่ยวก็จะถูกจำหน่ายหรือมีผู้ค้าเข้ามารับซื้อ ส่วนผลผลิตที่เหลือหรือแบ่งเก็บไว้ ครอบครัวคนพิการจะนำมาบริโภคเป็นอาหาร ซึ่งจะช่วยประหยัด ค่าใช้จ่ายในภาวะวิกฤตโควิด-19
ผลกำไรหรือรายได้ทั้งหมดที่ได้มาจากน้ำพักน้ำแรงของ คนพิการและครอบครัว บริษัทจะไม่เรียกรับเงินคืน เพราะต้องการสร้างอาชีพให้คนพิการในระยะยาวและสามารถต่อยอดไปถึงอนาคตได้ ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่แฟนเพจเฟซบุ๊ก คนพิการต้องมีงานทำ-มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม หรือโทรศัพท์สอบถามได้ที่ 02 279- 9385
ประธานมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม อัพเดทอีกว่า ตั้งแต่โควิด-19 ระลอกแรกเมื่อปี 2563 จนถึงปัจจุบัน โครงการได้ทำนำร่องกิจกรรมไปแล้วในพื้นที่บ้านยางชุม และบ้านวังศิลา อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ และเตรียมขยายพื้นที่เพิ่มไปยังจังหวัดต่าง ๆ ในอนาคต โดยมีโมเดลนำร่องจากที่นี่เป็นแบบอย่าง
ขอบคุณ... https://bit.ly/3yzfQGj