เปิดยอด 'กลุ่มเปราะบาง' เด็ก คนพิการ สูงวัย ฯ ได้รับผลกระทบโควิด
พม. เปิดเผยยอด 'กลุ่มเปราะบาง' กว่า 66,000 คน ทั่วประเทศ ได้รับความช่วยเหลือ สงเคราะห์ ส่งต่อ โดยเฉพาะ เด็ก เยาวชน คนพิการ ผู้สูงอายุ เดือดร้อนจากโควิด-19
วันนี้ (31 ส.ค. 64) ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว ถนนกรุงเกษม กรุงเทพฯ นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เปิดเผยว่า ด้วยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการบริหารภาวะวิกฤติโควิด-19 กระทรวง พม. เพื่อเป็นศูนย์กลางด้านข้อมูลและการช่วยเหลือ "กลุ่มเปราะบาง" ทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ คนเร่ร่อน ไร้บ้าน และผู้ด้อยโอกาส
รวมทั้งผู้ป่วยติดเตียง ที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนและความยากลำบากจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมทั้งการสื่อสารสังคม การรายงาน และติดตามผลการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางจนสิ้นสุดกระบวนการ
โดยทำงานเชื่อมโยงกับศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร. 1300 ที่ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้งได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการบริหารภาวะวิกฤติโควิด- 19 ระดับจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อประสานการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่อย่างครอบคลุม
กลุ่มเปราะบาง 6.6 หมื่นคน
นางพัชรี กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค. 64 จนถึงวันที่ 30 ส.ค. 64 กระทรวง พม. ได้ดำเนินการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางที่เป็นผู้ป่วย โควิด-19 และประสบปัญหาทางสังคมทั่วประเทศ รวมจำนวน 66,048 ราย โดยทำงานประสานความร่วมมือกับ กระทรวงสาธาณสุข สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร ภาคเอกชน มูลนิธิต่างๆตลอดทั้งสื่อมวลชน แบ่งเป็นในพื้นที่ กทม. 8,670 ราย และส่วนภูมิภาค 57,378 ราย โดยแบ่งเป็น
1. เด็กและเยาวชน 11,489 ราย
2. คนพิการ 14,842 ราย
3. ผู้สูงอายุ 9,697 ราย
4. ผู้ป่วยติดเตียงและป่วยเรื้อรัง 1,153 ราย
5. คนเร่ร่อนและคนไร้ที่พึ่ง 2,355 ราย
6. สตรีตั้งครรภ์ 126 ราย
7. ผู้ประสบปัญหาทางสังคมอื่นๆ 26,386 ราย
กระบวนการช่วยเหลือ สงเคราะห์ ส่งต่อ
สำหรับการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางตามภารกิจ กระทรวง พม. มีการดำเนินการที่สำคัญ ดังนี้
1. กระบวนการสังคมสงเคราะห์ ได้แก่
1.1) การให้คำปรึกษา 20,064 ราย
1.2) ประสานส่งกลับภูมิลำเนา 475 ราย
1.3) ประสานส่งต่อ 3,374 ราย
1.4) การมอบเครื่องอุปโภคและบริโภค 215,205 ชุด
1.5) การช่วยเหลือเป็นเงิน 62,562,278 บาท
2. ประสานกระบวนการสาธารณสุข ได้แก่
2.1) การตรวจเชื้อ 2,792 ราย
2.2) การรักษา 2,238 ราย
2.3) ฉีดวัคซีน 17,022 ราย
2.4) จัดหาที่พักชั่วคราวและศูนย์พักคอย 1,430 ราย
ช่องทางขอความช่วยเหลือ
นางพัชรี กล่าวเพิ่มเติมว่า หากประชาชนกลุ่มเปราะบางที่กำลังประสบปัญหาทางสังคมและได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบของโรคโควิด-19 สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่
1) ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร. 1300 บริการ 24 ชั่วโมง
2) สายด่วนคนพิการ โทร. 1479 บริการ 24 ชั่วโมง
3) สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทั่วประเทศ
4) อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ในพื้นที่