เหรียญทอง “พาราลิมปิก ? โอลิมปิก” เจาะช่องโหว่ “ค่าของเงิน (อัดฉีด)” สะท้อน “ค่าของคน”

เหรียญทอง “พาราลิมปิก ? โอลิมปิก” เจาะช่องโหว่ “ค่าของเงิน (อัดฉีด)” สะท้อน “ค่าของคน”

ต้องมองคนเท่ากัน!! เปิดใจตัวแทนคนพิการ หนึ่งในแรงผลักสำคัญที่หนุนความเท่าเทียม ชี้ คนพิการ = คนปกติ เก็บคะแนนจัดอันดับโลก-สร้างชื่อเสียงไม่ต่างกัน ชี้ เรียกร้องรัฐไม่คืบหน้า ขอความเป็นธรรมเพิ่มเงินอัดฉีดนักกีฬาคนพิการ เทียบเท่ากับ นักกีฬาปกติ!!

จบไปแล้วอย่างสวยงาม กับมหกรรมกีฬา “พาราลิมปิก เกมส์ 2020” ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น หลังทัพนักกีฬาไทยได้รับชัยชนะจากการแข่งขัน โดยคว้าได้ทั้งเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง มาฝากพี่น้องชาวไทย 18 เหรียญ

5 เหรียญทอง จาก พงศกร แปยอ นักวีลแชร์เรซซิ่ง คนเดียว 3 เหรียญ (100, 400, 800 เมตร) อธิวัฒน์ แพงเหนือ วีลแชร์เรซซิ่ง 100T54, บอคเซีย ทีม BC1-2 (วิษณุ ฮวดประดิษฐ์, สุบิน ทิพย์มะนี, วัชรพล วงษา, วรวุฒิ แสงอำภา)

เหรียญทอง “พาราลิมปิก ? โอลิมปิก” เจาะช่องโหว่ “ค่าของเงิน (อัดฉีด)” สะท้อน “ค่าของคน”

5 เหรียญเงิน จาก อธิวัฒน์ แพงเหนือ วีลแชร์เรซซิ่ง 400 เมตร T54, ประวัติ วะโฮรัมย์ วีลแชร์เรซซิ่ง 1,500 เมตร T54, พรโชค ลาภเย็น บอคเซีย บุคคล บีซี 4, วัชรพล วงษา บอคเซีย บุคคล บีซี 2, สุจิรัตน์ ปุกคำ แบดมินตัน หญิงเดี่ยว คลาส WH1

และ 8 เหรียญทองแดง จาก สายสุนีย์ จ๊ะนะ วีลแชร์ฟันดาบ เอเป้ คลาสบี, รุ่งโรจน์ ไทยนิยม เทเบิลเทนนิส บุคคลชาย คลาส 6, ภูธเรศ คงรักษ์ วีลแชร์เรซซิ่ง 1,500 เมตร และ 5,000 คลาส T54, ทีมชาย คลาส 3 เทเบิลเทนนิส (อนุรักษ์ ลาววงษ์, ยุทธจักร กลิ่นบานชื่น, ถิรายุ เชื้อวงษ์), ขวัญสุดา พวงกิจจา เทควันโด คลาส K44 น้ำหนักไม่เกิน 49 กก., สายชล คนเจน วีลแชร์เรซซิ่ง 800 เมตร T54, แบดมินตัน หญิงคู่ คลาส WH 1-2 (สุจิรัตน์ ปุกคำ, อำนวย เวชวิฐาน)

ทว่า แม้จะได้เหรียญชัยชนะมาอย่างน่าภาคภูมิ แต่ใครจะรู้ล่ะว่าพวกเขายังคงไม่ได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกับคนทั่วไป

“เม่น-ปริญญา ช่วยเกตุ คีรีรัตน์” หรือ เม่น ไทยแลนด์ ส.ส.คนแรกในประวัติศาสตร์ที่เป็นผู้พิการ และอดีตนักกีฬาเทเบิลเทนนิส (ปิงปอง) ทีมชาติไทย เจ้าของเหรียญเงินจากการแข่งขันเอเชียนพาราเกมส์ 2018 ที่ประเทศอินโดนีเซีย ได้สำเร็จ เปิดใจกับ ทีมข่าว MGR Live ถึงการออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อัดฉีดเงินให้กับนักกีฬาคนพิการ ในอัตราที่เท่าเทียมกันกับนักกีฬาที่มีร่างกายปกติ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้แก่บุคคลผู้สร้างความภาคภูมิใจให้ประเทศ

โดยเขามองเห็นว่า สำหรับนักกีฬาคนพิการ กว่าที่จะมีโอกาสเข้าร่วมแข่งขันกีฬา มีความพยายามและการสร้างชื่อเสียงให้ประเทศที่ไม่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นกีฬาโอลิมปิก, เอเชียน หรือพาราลิมปิกเกมส์

เหรียญทอง “พาราลิมปิก ? โอลิมปิก” เจาะช่องโหว่ “ค่าของเงิน (อัดฉีด)” สะท้อน “ค่าของคน”

“ที่เราพยายามผลักดันในเชิงหลักการ ว่า คนเท่ากัน ต้องได้รับการดูแลจากภาครัฐอย่างเท่าเทียมกัน เราไม่ได้มาเรียกร้องความสงสาร เหมือนที่บางคนเขาคิดว่า เราต้องมาสาธยาย คนพิการเขาลำบากยังไง ผมบอก ผมไม่อยากพูดเรื่องนี้ ผมว่าเราเข้าใจกันได้ว่า คนพิการเห็นได้เขาลำบากยังไง

จริงๆ ค่าเหรียญที่นักกีฬาคนพิการสู้ เราสู้ในเชิงของค่าเหรียญที่มาของภาครัฐ ในส่วนของภาคเอกชน เราไม่อยากไปเรียกร้อง ไม่อยากไปอะไรกับเขา เพราะว่ามันเป็นสิทธิของเขา แต่ภาครัฐมันเป็นหน้าที่หลักที่รัฐจะต้องให้ความสำคัญ ให้ความเท่าเทียม ในความเป็นคนของเรา

1 คน 1 ชีวิต แต่นักวีลแชร์เขาก็มีลูก มีแฟน มีพ่อแม่ต้องดูแลเหมือนกัน ยกตัวอย่าง ปิงปอง เขาไม่มีมือ แต่เขาก็มีลูก เขาก็มีเมีย แล้วที่ผมไปโพสต์ในทวิตเตอร์ มีคนรีทวิต 5 หมื่นกว่า ผมเอาประวัติของ วะโฮรัมย์ (ภูธเรศ คงรักษ์) ว่า เขาได้ 7 เหรียญทองจากการเข้าแข่งในรายการระดับโลก 5 ครั้งซ้อน ได้ 7 เหรียญทอง เขายังได้รับเงินพิการ 800 บาท ไม่มียศ ไม่มีตำแหน่ง ไม่มีอะไรทั้งนั้น

แต่ล่าสุด น้องเทนนิส (พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ) นักเทควันโด ไปแข่งมาครั้งเดียว ได้เหรียญทอง กลับได้ยศเป็นนายร้อย ผมมองว่า มันเป็นเรื่องการให้ความสำคัญกับความเป็นคนในสังคมนี้ พอกดทับเรื่องของความเป็นคนแล้ว ก็นำไปสู่การกดทับในเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการสร้างสังคมสงเคราะห์ อุปถัมภ์ ที่เรามีปัญหาอยู่ ณ วันนี้”

ทว่า นักกีฬาคนพิการจะต้องมีแพทย์มาจัดระดับความพิการ เพื่อให้มีความได้เปรียบเสียเปรียบน้อยที่สุด และยังต้องออกไปเก็บคะแนนจัดอันดับโลก เพื่อให้ได้สิทธิเข้าไปแข่งขัน เหมือนนักกีฬาทั่วไป

แต่สิ่งที่แตกต่างออกไป คือ นักกีฬาที่ได้เหรียญทองจากพาราลิมปิก จะได้เงินสนับสนุน 7.2 ล้านบาท เหรียญเงิน 4.8 ล้านบาท และเหรียญทองแดง 3 ล้านบาท ขณะที่นักกีฬาปกติจะได้เงินรางวัลสูงกว่าเกือบเท่าตัว จึงเกิดความไม่เป็นธรรมในค่าตอบแทนรางวัลของนักกีฬา

“คนเหล่านี้จะได้มาเล่นในนามทีมชาติ หรือจะออกไปแข่งในนามทีมชาติ นั่นหมายความว่า เขาต้องออกไปเก็บคะแนน เหมือนกับนักกีฬาปกติเลย เขาออกไปเก็บคะแนนเพื่อจัดอันดับโลกเหมือนกัน แต่จากการที่เขาได้เหรียญรางวัลน้อย หรือครึ่งหนึ่ง ตอนที่ผมได้หารือไปในระดับเอเชีย นักกีฬาปกติจะได้ 2 ล้านบาท แต่คนพิการได้เงิน 1 ล้านบาท คือ มันเป็นอย่างนี้จากอดีต จนถึงวันนี้เลยครับ

ซึ่งหลังจากที่ผมได้หารือไป ทางคณะกรรมการกองทุนฯ เขาก็ได้ไปปรับของนักกีฬาคนพิการ ในระดับอาเซียน คือ จาก 1 แสนบาท เป็น 2 แสนบาท แต่ของคนปกติจาก 2 แสน ก็ปรับเพิ่มไปอีกเป็น 3 แสน มันก็ไม่เท่ากันอยู่ดี

เมื่อเราไปเอาเรื่องของค่าเหรียญ เอามาคูณสองในระดับเอเชีย ผมเอามาคูณสอง ยังไม่ได้เท่าของคนปกติเลย ของคนปกติได้ 11 เหรียญทอง แต่ของคนพิการได้ 20 กว่าเหรียญทอง ในตอนนั้น ผมเอามาคูณสองยังได้น้อยกว่าคนปกติเลย”

แน่นอนว่า ทัศนคติในด้านลบต่อผู้พิการ คือ ปัญหาใหญ่ของสังคม เพราะเท่ากับเป็นการปิดกั้นโอกาสทั้งที่พวกเขามีศักยภาพมากพอไม่แพ้คนปกติทั่วๆ ไป แถมยังต้องใช้ความพยายามมากกว่าด้วยซ้ำ ซึ่งในโลกของกีฬาสะท้อนเรื่องนี้ออกมาอย่างชัดเจน เพราะมีเวทีให้พวกเขาได้ส่งเสียง แสดงความสามารถออกมาอย่างเต็มที่

“หลักๆ ที่ผมพยายามผลักดัน คือ เรื่องความเท่าเทียม ค่าเหรียญ เพราะมันเห็นชัด ผมเอาตัวเลขตรงนี้มาเปรียบเทียบมันจะเห็นชัด และเป็นเรื่องของสวัสดิการ หลังจากที่เขาไปเล่นแล้ว กลับมาแล้วไม่ได้เหรียญ คนเหล่านี้จะว่างงาน ไม่มีงาน ไม่มีอาชีพ ซึ่งคนพิการจะไปประกอบอาชีพ มันก็ยาก”

ทั้งนี้ เขายังเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขข้อเสนอ และเงื่อนไขในกองทุนอุดหนุนเพื่อปรับเงินสนับสนุนสำหรับนักกีฬาพาราลิมปิก และนักกีฬาปกติให้ได้รับอย่างเท่าเทียมกัน

เพราะความสำเร็จ รวมทั้งชื่อเสียงที่นักกีฬาได้รับจากการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ ยังช่วยให้สังคมมองเห็นความสำคัญและเปิดพื้นที่ให้พวกเขาเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

“จากล่าสุดที่ผมหารือมา ได้มีการปรับแก้ในระดับอาเซียน คือ เพิ่มจากคนพิการ 1 แสน เป็น 2 แสน แล้วไปเพิ่มของคนปกติด้วย จาก 2 แสน เป็น 3 แสน มันก็เป็นช่องว่างอยู่ดี

จริงๆ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องยาก แค่จัดการกับระเบียบ ที่สำคัญ ที่ผมไปหารือในสภาฯ มันมีเพื่อนๆ นักกีฬาคนหูหนวก ทำหนังสือมาที่ผม ว่า ของเขาจากกีฬาในระดับเดียวกัน สมมติในระดับโลกเหมือนกัน ของเขาจะได้ 1 แสน นักกีฬาปกติ 12 ล้าน นักกีฬาคนพิการอย่างผม 7.2 ล้าน แต่นักกีฬาหูหนวกได้ 1 แสนบาท มันไม่ได้อยู่ที่ระเบียบ มันอยู่ที่ใครเป็นคนออก ถ้าผมเป็นคนออก ผมให้เท่ากันเลย แต่ประเด็นคนที่คิดแบบนี้ มันไม่ได้มีอำนาจตรงนั้น

อันนี้เป็นเรื่องของการกดทับทางสังคม และกดทับทางเศรษฐกิจไปด้วย เพราะฉะนั้นผมก็เรียกร้องในเชิงหลักการ ไม่ได้เรียกร้องให้มันเกินไป และไม่ได้เรียกร้องความสงสาร”

แม้จะมีการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีนโยบายช่วยเหลือคนพิการในด้านต่างๆ สุดท้ายแล้วดูเหมือนว่าพวกเขายังคงไม่ได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกับคนทั่วไป และถึงตอนนี้ต้องติดตามว่าจะมีการปรับแก้ตรงไหนอย่างไรบ้าง

“ทางออกเรื่องนี้ คือ ให้เราเห็นว่าคนเหมือนกัน มันไม่มีอย่างอื่นเลย แค่เรามองคนเหมือนกัน แม้กระทั่งว่า คนนี้เขานั่งวีลแชร์ เขาจะชีวิตได้ไหม เดินทางได้ไหม แม้กระทั่งการเดินทาง ถ้าเราคิดว่าคนเหมือนกัน เราจะมองว่าคนนั่งวีลแชร์เขาจะออกมาใช้ชีวิตได้ไหม ถ้าเราทำบันได แล้วเราทำไปทางราบ ทุกคนใช้เส้นทางนี้ได้ มันเป็นการเคารพในความเป็นคนเหมือนกัน”

ขอบคุณ... https://mgronline.com/live/detail/9640000089548

ที่มา: mgronline.com/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย 9 ก.ย.64
วันที่โพสต์: 13/09/2564 เวลา 11:57:50 ดูภาพสไลด์โชว์ เหรียญทอง “พาราลิมปิก ? โอลิมปิก” เจาะช่องโหว่ “ค่าของเงิน (อัดฉีด)” สะท้อน “ค่าของคน”