10 เทรนด์ที่คนไทยต้องปรับตัว ในยุค..นิวนอร์มอล
Euromonitor International หน่วยงานจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลชั้นนำของโลก เปิดเผยเทรนด์ในการใช้ชีวิตของผู้บริโภคทั่วโลก ภายหลังการระบาดของโควิด-19 ที่ผู้คนจะเข้าสู่ยุคนิวนอร์มอล นั่นหมายถึง ชีวิตที่ไม่ปกติเหมือนเดิมอีกต่อไป
เทรนด์ในยุค New Normal ที่ผู้บริโภคต้องปรับตัว...
Beyond Human ในยุค New Normal หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์จะถูกใช้ทำงานแทนมนุษย์มากขึ้น ทำให้การใช้แรงงาน และทักษะที่มนุษย์เคยทำได้จะลดลง เราจะมี Smart Home Appliances หรือเครื่องใช้ในบ้านที่ฉลาดยิ่งกว่าเดิม รวมถึงผู้ช่วยเสมือนจริง (Virtual Assistant) ที่ช่วยให้เราจัดการงานในบ้านและงานที่บริษัทได้ไปพร้อมๆกัน และตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นไป ฟังก์ชันการสั่งงานด้วยเสียง (Voice Activation) จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น
Catch Me in Seconds เป็นระบบที่จะต้องหาวิธีสื่อสารกับลูกค้าในระดับที่เป็นส่วนตัว (Personal) และส่งผลกระทบทางอารมณ์ (Emotional) มากขึ้น เพื่อรักษาลูกค้าไว้ พฤติกรรมที่ไม่มีเวลาของผู้บริโภค อาจไม่ใช่อุปสรรคการได้ข้อมูลหรือเข้าถึงข้อมูล เพราะยิ่งเวลาน้อย ความต้องการรู้ข้อมูลจะมากขึ้นเรื่อยๆ ธุรกิจที่จะได้ใจลูกค้า คือ ธุรกิจที่สามารถสื่อสารกับลูกค้าได้รวดเร็ว กระชับ และได้ประโยชน์สูงสุด
Frictionless Mobility การเดินทางที่ยืดหยุ่น ที่สามารถตอบโจทย์ให้เข้ากับตัวเองได้มากขึ้น ไปถึงจุดหมายเร็วที่สุด ในราคาประหยัดที่สุด ซึ่งรวมถึงวิธีง่ายๆ อย่างการขี่จักรยาน สกูตเตอร์ และการแชร์รถยนต์ร่วมกัน จะเป็นเทรนด์ใหม่ในการเดินทางของผู้คน รวมถึงฟังก์ชัน Real-Time Update ที่สามารถปรับเปลี่ยนแผนได้ตลอดเวลา การเดินทางโดยรถสาธารณะที่แออัดยัดเยียด อาจมีให้เห็นน้อยลงและค่อยๆหมดไป เมืองใหญ่หลายเมืองกำลังเตรียมการเพื่อเอื้อให้ประชาชนปั่นจักรยานและเดินไปไหนมาไหน โดยไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทางจักรยานถูกสร้างเพิ่มในหลายเมือง เช่น มิลาน ลอนดอน เม็กซิโกซิตี ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า เป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษที่ตลาดรถยนต์จะถูกสั่นคลอน
Inclusive for All ระบบที่ให้ความสำคัญต่อความหลากหลายที่ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการต่างๆได้ ธุรกิจควรต้องหาวิธีแสดงให้เห็นว่า กลุ่มผู้พิการ หรือกลุ่มผู้สูงวัย ก็สามารถเข้าถึงได้ แม้ร่างกายจะไม่พร้อมเหมือนคนอื่นๆก็ตาม Minding Myself สุขภาพจิตและ “ระดับความสุข” จะได้รับความใส่ใจและสนใจมากขึ้นจากผู้คน และวิธีกำจัดความเครียดแบบดั้งเดิม เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ อาจเป็นที่นิยมน้อยลง แต่วิธีที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติและไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายจะได้รับความนิยมมากขึ้น ผลิตภัณฑ์ที่น่าจะได้รับความสนใจมากขึ้น ได้แก่ สิ่งที่ช่วยลดความเครียด ช่วยให้นอนหลับดีขึ้น สิ่งที่ช่วยบำรุงอารมณ์ และช่วยในการทำงานของสมอง ตั้งแต่ปี 2020 จะเห็นคุณสมบัตินี้ในธุรกิจต่างๆ มากขึ้น ไม่ใช่แค่ธุรกิจด้านสุขภาพ Private Personalization ผู้บริโภคอาจต้องการแชร์ข้อมูลส่วนตัวบางอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งบริการที่ตรงใจ โจทย์ยากของธุรกิจคือ ทำอย่างไรจะสร้างความเชื่อใจ และหาวิธีให้ผู้บริโภคยอมแชร์ข้อมูลมากขึ้น Multifunctional Homes ที่พักอาศัยแห่งอนาคตจะต้องทำอะไรได้มากกว่าแค่เป็นพี่พักและที่นอน แต่ต้องรองรับกิจกรรมหลากหลายมากขึ้น เช่น ทำงาน ช็อปปิ้ง เล่นสนุก และออกกำลังกาย Proudly Local, Going Global ผู้บริโภคจะเริ่มให้ความสนใจน้อยลงกับกระแสโลกาภิวัตน์และลัทธิบริโภคนิยม แต่จะหันมาสนับสนุนชุมชนท้องถิ่น เห็นคุณค่าของวัฒนธรรมที่หลากหลายและแตกต่าง สิ่งนี้ถูกขับเคลื่อนโดยการโยกย้ายถิ่นฐานที่มากขึ้น
Reuse Revolutionaries ผู้คนจะสนใจผลิตและสนใจผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อยากให้มี “อนาคตที่ไร้ขยะ” (Waste-Free Future) เพื่อตัวเองและเพื่อโลก ธุรกิจจึงต้องหาวิธีนำเสนอสินค้าและบริการที่สร้างขยะน้อยที่สุด หรือมีการนำกลับมาใช้ซ้ำ และจริงจังเรื่องลดภาวะโลกร้อน รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่เน้นเรื่องความยั่งยืน (Sustainability)
3 เทรนด์ธุรกิจหลักที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจาก New Normal ได้แก่ ร้านอาหาร ธุรกิจงานอีเวนต์ และธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว เกือบจะเรียกได้ว่า set Zero กันเลยทีเดียว ล่าสุด องค์กรส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งชาติของกรีซ (Greek National Tourism Organization) ร่วมมือกับ Google จัดทำคลิป Greece From Home เพื่อแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ โดยมีไอเดียหลัก คือ ใช้การตลาดเชิงเนื้อหา (Content Marketing) เพื่อ “สานสัมพันธ์” กับกลุ่มคนที่อาจเป็นลูกค้าในอนาคต พาลูกทัวร์ไปชมแหล่งโบราณคดี พิพิธภัณฑ์ต่างๆ ชมธรรมชาติอันสวยงาม พาไปชมร้านอาหารชื่อดัง ทั้งหมดรับชมได้ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งถ้าทำเนื้อหาดี ก็มีโอกาสจะสร้างรายได้จากการขายโฆษณา หรือผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าสั่งซื้อได้ และทำให้ลูกค้าไม่ลืมเรา จนกว่าพวกเขาจะพร้อมออกเดินทางท่องเที่ยวอีกครั้ง.